รายงาน โดย เซียวเล่งนึ่ง
ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งจะสงบลงไปได้ไม่นาน ก็ต้องปะทุขึ้นมารอบใหม่
หลังจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เกิดความเห็นต่างกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการเสนอรายชื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่
เหตุการณ์หน้าแตกยับเยินของ “อภิสิทธิ์” หลังพ่ายโหวตในที่ประชุม ก.ต.ช. เมื่อเสียง 5 ต่อ 4 ไม่เอา พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจ แต่สุเทพกลับไปดันก้น พล.ต.อ.จุมพล มุ่งหมาย
ยังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ถึงขั้นที่ว่างานนี้ สุเทพ หักหลักคนกันเอง!
แม้ว่าจะมีการจัดฉากดึงนายกฯ และแกนนำพรรคระดับผู้ใหญ่หลายคน ไปเคลียร์ใจกันที่บ้านเกิด จ.สุราษฏร์ธานี เมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีวาระหลักคือ ปราศรัยหาเสียงช่วยน้องชายสุเทพ คือ ธานี เทือกสุบรรณ กับภารกิจเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 1 สุราษฏร์ธานี
ในยามนั้นทั้ง สุเทพ และอภิสิทธิ์ ต่างพยายามปราศรัยแก้ต่างกระแสข่าวเรื่อง “รอยร้าวความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้น บนเวทีปราศรัย
โดยทั้งสองยังย้ำว่า เป็นแค่ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการทำงาน แต่ไม่ใช่ความแตกแยก ยังคงจะจับมือร่วมกันเป็นรัฐบาลเดินหน้าสานโครงการต่างๆ และดันงบประมาณให้ลงไปให้พื้นที่ให้ถึงมือประชาชนทุกจุดอย่างแน่นอน
แต่ ส.ส.หลายคนในพรรคเองก็ยังไม่หายคลางแคลงใจกับท่าที บทบาทการทำงานของ “สุเทพ” ที่มีการเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย อย่างออกหน้าออกตา
ถึงกับกล้าหักหน้า หัวหน้าพรรคตนเองได้
หลายครั้งหลายหนที่สร้างความอึดอัดใจให้เกิดขึ้น เมื่อ “สุเทพ” เข้าไปชี้นำ เจ้ากี้เจ้าการเองทุกอย่าง แทนที่จะปล่อยให้ นายกฯได้ใช้ศักยภาพที่มีทำงานด้วยตัวเอง ซึ่งแต่ละเรื่องก็ล้วนมีข้อกังขาในเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงของบางกลุ่ม บางก๊วน ที่ต้องคอยตอบคำถามกับสังคมอยู่เสมอ
ขณะที่บางเรื่องจำต้องใช้ความสามารถของรองนายกรัฐมนตรี ในการประสานกับพรรคร่วมหรือ หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของนายกฯ อย่างเช่น ก.ต.ช.ก็กลับโดดเดี่ยวนายกฯ และหันไปดันฝ่ายตรงข้ามแทน
ส่งผลกระทบต่อศักยภาพและภาวะผู้นำของนายกฯ เป็นอย่างยิ่ง
แทนที่จะคอยทำหน้าที่แบ่งเบาภาระ เป็นมือเป็นไม้ หรือเป็นมันสมองให้กับนายกฯ แต่กลับมาเพิ่มภาระหนักอึ้ง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องชื่อ ผบ.ตร.
เพราะถ้ายอมเสนอชื่อที่สุเทพสนับสนุน นายกฯ ก็ต้องโดนสังคมวิจารณ์ที่ยอมสยบต่อพรรคร่วม ไม่มีภาวะผู้นำที่แท้จริง แต่ถ้ายังดันรายชื่อคนเดิม แล้วเกิดแพ้อีก ก็เกิดวิกฤตผู้นำอีกรอบ ไม่มีอำนาจเหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง หรือจำต้องหาคนอื่นขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะต้องเอาคนที่คิดว่าทำงานสนองนโยบายรัฐบาลได้อย่างแท้จริง แต่ก็ต้องยอมรับแรงกระเพื่อมภายในพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย
ส.ส.บางคนถึงขั้นเสนอว่า หากที่สุดแล้วนายกฯไม่สามารถตั้งคนของตัวเองเป็น ผบ.ตร.ได้ ก็ควรจะมีการปรับ ครม.ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็จะดี!
งานนี้ ถือว่า “สุเทพ” โดนไปเต็มๆ
แม้ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะมอบหมายให้ สุเทพ เป็นผู้จัดทำรัฐบาล และเข้าไปกุมบังเหียนการบริหารงานต่างๆ แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังคงจับตามองอยู่ห่างๆ ด้วยความเป็นห่วง อย่างนายหัวชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ที่เป็นผู้ปลุกปั้น อภิสิทธิ์ มากับมือ ถึงกับออกปากกับ ส.ส.คนสนิท หลังเวทีปราศรัยหาเสียงที่สุราษฎร์ฯว่า
เป็นห่วงต่อสถานการณ์วิกฤตผู้นำของอภิสิทธิ์ในครั้งนี้ แต่เชื่อว่าที่สุดแล้วคนอย่างอภิสิทธิ์ จะเอาตัวรอดได้..
แม้แต่ “ขงเบ้ง” ประจำพรรค ที่มีความเฉียบคมในการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองให้กับสมาชิกพรรคทุกสัปดาห์ ยังออกปากห่วงใยต่อการบริหารงานภายใต้การให้น้ำหนักกับพรรคร่วมรัฐบาลมากเกินไป ซึ่งจะยากต่อการบริหารควบคุมให้อยู่ในร่องในรอยได้
ปรากฏการณ์กลุ่ม 30 ส.ส.นำโดย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รองหัวหน้าพรรคภาคกลางตอนล่าง ตบเท้าให้กำลังใจ “อภิสิทธิ์” ที่ห้องรับรองสภา ก่อนที่จะไปร่วมประชุม ก.ต.ช.ในวันนั้น จึงเหมือนเป็นการจะบอกความนัยไปยังสุเทพด้วยว่า ทุกคนพร้อมที่จะยืนข้างอภิสิทธิ์ หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
“กลุ่มก๊วนนายหัวชวน” อย่าง อาคม เอ่งฉ้วน ถึงกับงัดเรื่องยุบสภามาทวงถามกลางงานเลี้ยงอาหารมื้อเที่ยงที่บ้านพักของสุเทพ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า หากมีปัญหามากนักก็ล้มโต๊ะยุบสภา
วันนั้น แม้ “สุเทพ” จะไม่ได้เป็นคนตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง แต่ก็ได้ปรารภผ่านสื่อมวลชนที่ร่วมคณะว่า ที่ผ่านมามักจะมี ส.ส.บางกลุ่มยุให้นายกฯ ยุบสภา ถ้ามีการยุบสภาในตอนนี้ตนก็จะขอลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค และจะไม่ขอเป็นอีก
นับว่าต่างฝ่ายต่างทันเกมกัน เพราะ “สุเทพ” รู้แก่ใจดีว่า ถ้ายื่นไม้ตายนี้ไปจะสามารถสยบลูกพรรคได้ เพราะไม่มีใครอยากอาสามาเป็น “แม่บ้านพรรค” ในตอนนี้อย่างแน่นอน
เพราะงานความรับผิดชอบมันหนักหนากว่ายุคใดๆ โดยเฉพาะภาระการโกยเงินเข้าพรรค เพื่อเตรียมใช้เป็นกระสุนดินดำในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร
“ผมเห็นใจท่านสุเทพที่ต้องทำงานหนัก ทั้งเป็นรองนายกฯ ดูแลความมั่นคงของชาติ และดูแลความมั่นคงภายในพรรค สิ่งที่ท่านทำคือการรักษามารยาท ประคับประคองการเป็นรัฐบาลผสม แต่เราต้องไม่ลืมผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งภาวะแบบนี้ทำให้ทำงานลำบาก ....” นัยยะคำพูดของอภิสิทธิ์ กลางโต๊ะกินข้าวที่บ้านพักสุเทพ เหมือนเป็นการย้ำเตือนว่า ไม่ว่าจะผลประโยชน์ที่ได้จากการบริหารงานจากโครงการ หรืองบประมาณต่างๆ ก็ยืดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
แม้ความขัดแย้งในความคิด จะถือเป็นเรื่องธรรมชาติของพรรคการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง อย่างพรรคประชาธิปัตย์
แต่อย่าลืมว่า ในยามนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแค่พรรคฝ่ายค้านเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นพรรคการเมืองที่มีดีกรีเป็นถึงพรรคแกนนำในรัฐบาล ที่มี อำนาจ และผลประโยชน์มหาศาล เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเลี่ยงไม่ได้จะถูกจับจ้องจากสังคมรอบข้าง
ดังนั้น อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ในยามนี้ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ายังอยู่ในมือผู้ใด ระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ กันแน่
ข้อกล่าวหาที่ว่า “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จะเป็นผู้ล้มรัฐบาลชุดนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ต้องลุ้นกันต่อ!