xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์กระจายสินค้า Rotterdam ฤาประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย?

เผยแพร่:   โดย: สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์

ทราบว่ากระทรวงพาณิชย์กำลังจับมือกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าเมือง Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรป และได้มีการเดินทางไปดูสถานที่เพื่อศึกษาลู่ทางความเป็นไปได้

ความคิดในการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าใน Rotterdam เป็น “ความคิดที่ดี” ในเชิงหลักการและวิชาการ

แต่หากมองลึกในภาคปฏิบัติหรือพิจารณาในเชิงการค้าโลกและการตลาดเพื่อการส่งออกแล้ว ผมบอกตรงๆ ว่า “ไม่แน่ใจ”

ยกเว้นเสียว่า กระทรวงพาณิชย์และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งฯ มีนโยบาย เป้าหมาย แผนปฏิบัติการ และมี KPI ที่ชัดเจนในการวัด ตรวจสอบ และประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หากผู้บริหาร DC ดำเนินการตามที่จัดทำเป็นข้อเสนอ (Proposal) ไม่ได้


ท่านผู้บริหารในกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ส่งออกอาจจะลืมไปแล้วว่า การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าหรือ DC (Distribution Center) ในกรุง Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น ได้เคยมีและเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน

ศูนย์กระจายสินค้าที่จัดตั้งขึ้นในสมัยนั้น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้สิทธิประโยชน์ในการเช่ายาวนานถึง 99 ปี บริหารดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์และบริษัทเอกชนหลายบริษัท แต่ DC ดังกล่าวล้มเหลวแบบกู่ไม่กลับและไม่มีใครอยากพูดถึงอีก

จำไม่ได้ว่ากระทรวงพาณิชย์และเอกชนในสมัยนั้น หมดเงินไปเท่าไร??

แนวคิดในสมัยนั้นเกิดจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหรือ EU กำลังจะรวมตัวกันเป็นตลาดเดียว (One Single Market) โดยยกเว้นการเก็บภาษีอากรระหว่างประเทศในกลุ่ม EU

หลักการกว้างๆ ของ EU ก็คือ ถ้าสินค้านอก EU นำเข้าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งใน EU ประเทศนั้นมีสิทธิจะเก็บค่าภาษีอากรนำเข้า เช่น ไทยส่งสินค้าเข้าที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็จะเก็บภาษีอากรจากสินค้านำเข้าจากผู้นำเข้าของเนเธอร์แลนด์ ผู้นำเข้าเนเธอร์แลนด์สามารถนำสินค้าไทยดังกล่าว ส่งผ่านพรมแดนไปยังประเทศอื่นๆ ใน EU โดยประเทศอื่นๆ จะเก็บภาษีอากรขาเข้าในสินค้าดังกล่าวไม่ได้เพราะมีการเก็บไปแล้วที่เนเธอร์แลนด์

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ฉลาดหรือมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เลยเชิญชวนประเทศผู้ส่งออกหลายประเทศ ให้ไปตั้ง DC ที่ Rotterdam และให้สัญญาเช่า 99 ปีแก่ทุกประเทศ

จำได้ว่ากระทรวงพาณิชย์ตีปี๊บกับโครงการจัดตั้ง DC มาก ผมเองก็มีคนมาคะยั้นคะยอเชิญชวนให้นำสินค้าไปตั้งแสดงและขายใน DC ไทยที่ Rotterdam

และ...ช่วงนั้นศูนย์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้สินค้าหลายๆ อย่างไปร่วมแสดงใน DC ได้ เป็นคล้ายๆ กับเป็นศูนย์แสดงสินค้าบวกศูนย์กระจายสินค้า (ซึ่งผมเคยตั้งชื่อเล่นๆ ว่า Extribution Center = EC คือ Exhibition + Distribution แต่ผมไม่ไปร่วมรายการด้วย)

เพราะเอกชนที่นำสินค้าไปจัดแสดงหรือวางโชว์เพื่อการขายในช่วงนั้น ต้องไปทำการตลาดเองหรือคือต้องไปขายเอง บริหารเอง เก็บเงินเอง

ความคิดในการจัดตั้ง DC ใน Rotterdam มีหลักการดี เพราะเกิดจากแนวคิดด้าน Logistics ที่ว่า นำสินค้าสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างทันเวลา

เป็นการสร้างความสามารถในเชิงการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง

แล้วทำไม DC ที่ Rotterdam ที่มองดูว่าน่าจะมีอนาคตดี (ภาษานักวิชาการเรียกกันว่ามี High Potentiality หรือมี Prospect สูง) จึง “เจ๊ง”

สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการประเมินพฤติกรรมผู้บริโภคและการตลาด รวมถึงระบบ Logistics ที่ผิดพลาด


ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะกรุง Rotterdam มีพลเมืองไม่กี่ล้านคน เป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่ผู้บริโภคไม่ชอบซื้อของตุนไว้มากๆ พฤติกรรมการซื้อสินค้าจึงซื้อเท่าที่จำเป็นต้องกิน ต้องใช้เท่านั้น ในขณะเดียวกัน DC ซึ่งตั้งอยู่นอกเมือง ต้องใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ

และที่สำคัญผู้นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้กับกรุง Rotterdam จะต้องขับรถข้ามเมืองมาดูสินค้าไทยที่โชว์ใน DC

หากต้องการสั่งซื้อสินค้า ก็ต้องรอสินค้าส่งจากประเทศไทยไปที่ Rotterdam หากสั่งซื้อสินค้าเต็มตู้หรือ FCL (Full Container Load) ผู้ซื้อต้องลากตู้จาก Rotterdam ข้ามพรมแดนไปยังประเทศของตน (จากเนเธอร์แลนด์สามารถเดินทางไปประเทศใกล้เคียงใน EU ได้หลายประเทศ)

ค่าลากตู้คอนเทนเนอร์ หรือคือค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการตัดสินใจสั่งซื้อ

แต่ถ้าหากผู้นำเข้าใน EU จะสั่งซื้อสินค้าไทยจาก DC ที่ Rotterdam ไปเข้าประเทศของผู้ซื้อโดยตรงใน EU ผู้นำเข้าจะต้องชำระภาษีอากรขาเข้า ซึ่งช่วงนั้นอัตราภาษีอากรขาเข้าของบางประเทศใน EU ยังไม่ต่ำเหมือนสมัยนี้

หากความคิดในการจัดตั้ง DC ที่ Rotterdam ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งฯ กำลังดำริจะให้มีขึ้นนั้นเป็นความจริง

ผมก็อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไตร่ตรองพิจารณากันอย่างรอบคอบ จริงจัง

แม้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์อาจจะมีงบประมาณสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้ง DC ก็ตาม (แต่เป็นงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน)

แต่ใครจะเป็นผู้บริหาร DC ในระยะยาว

จะจ้างนักการตลาดมือดีของไทยไปเป็นผู้อำนวยการ?

หรือจะจ้าง Professional Marketing Director ที่เป็นฝรั่งหรือสิงคโปร์ไปบริหาร?

หรือจะจ้าง Logistics Consultant จากประเทศไทยไปเป็นที่ปรึกษาด้วยเงินเดือนแพงๆ

ใครจะรับประกันว่ากลยุทธ์และการวางแผนเชิงการตลาดและลอจิสติกส์จะได้ผล และใครจะรับประกันว่ายอดขายและผลประกอบการในระยะยาวเป็นอย่างไร?

จำไม่ได้หรือว่า เราเคยตั้ง DC มาแล้ว จำไม่ได้หรือว่าเมื่อหลายปีก่อนหลังปี 2540 กระทรวงพาณิชย์เคยตั้งศูนย์ข้อมูลด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท มาแล้วเช่นกัน (ไม่อยากเอ่ยชื่อรัฐมนตรีที่จัดตั้งศูนย์ข้อมูลคนดังกล่าว ซึ่งชื่นชมตัวเองว่าเก่งกาจด้านการตลาดเหลือหลาย)

ถามว่าขณะนี้ DC ที่ตั้งไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และศูนย์ข้อมูลเป็นอย่างไร เรียบร้อยโรงเรียนรัฐบาลหรือนิ่งสนิทแบบแช่แข็งใช่หรือไม่?

ผมยืนยันว่า การจัดตั้ง DC ใน Rotterdam เป็น “ความคิดที่ดี” ในด้านหลักการ ทั้งด้านการตลาดเพื่อการส่งออกและการบริหารงาน Logistics

แต่ในเชิงปฏิบัตินั้นต้องมีนโยบาย เป้าหมาย แผนงานการตลาด และ KPI พร้อมกับมีผลการประกอบการในระยะยาวที่ชัดเจน โปร่งใสและตรวจสอบได้ ไม่ใช่คิดปุ๊บ ทำปั๊บ

คิดดูให้ดีนะครับ “จ้าวนาย”

กำลังโหลดความคิดเห็น