เชียงราย – ตลาดอียู รับไม่อั้น “ส้มโอ Global GAP เวียงแก่น” ล่าสุดบริษัทเอกชนเข้าตั้งโต๊ะรับซื้อถึงที่ หลังมีสวนส้มที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 250 แห่ง ผู้ว่าฯเล็งหางบหนุนสหกรณ์ในพื้นที่ ตั้งโรงงานคัด-ล้าง-บรรจุภัณฑ์ถึงที่
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าเมื่อเร็วๆ นี้นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย wfhเดินทางไปเยี่ยมชมการปลูกส้มโอของเกษตรกรในพื้นที่ อ.เวียงแก่น และคัดผลผลิตเพื่อการส่งออกส้มโอของบริษัทโดลไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเข้าไปตั้งจุดรับซื้อถึงในพื้นที่รวมทั้งตรวจเยี่ยมกิจการของสหกรณ์ส้มโอเวียงแก่น โดยมีบุคคลที่เกี่ยวข้องจากสหกรณ์ส้มโอเวียงแก่นรวมทั้งภาคเอกชนให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ส้มโอเวียงแก่น ว่า การปลูกส้มโอเวียงแก่นมีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2532 โดยมีสายพันธุ์ที่ปลูกจำนวน 6 ชนิด ได้แก่ พันธุ์ทองดี ขาวใหญ่ เซลเลอร์ ขาวน้ำผึ้ง ขาวแตงกวาและขาวพวง แต่ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ทองดี ซึ่งชาวบ้านได้พัฒนาการปลูกและรักษาคุณภาพเรื่อยมาจนสามารถส่งออกไปจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป หรืออียู
นายสมศักดิ์ บุญยวง ประธานสหกรณ์ส้มโอเวียงแก่น เปิดเผยว่า การปลูกส้มโอเวียงแก่นมีมาตั้งแต่ปี 2532 โดยชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ไปศึกษาดูงานที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และนำต้นกล้าไปปลูกและพบว่าได้ผลดีจึงมีการขยายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กระนั้นตลอดระยะเวลาตั้งแต่ช่วงที่ปลูกใหม่ๆ จนถึงปัจจุบันราคากลับลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมผลละ 25-28 บาท และบางครั้งทะลุถึง 30-35 บาท กระทั่งปี 2541-2548 ราคาตกต่ำลงเหลือผลละ 9 บาทสวนกับกระแสเศรษฐกิจและต้นทุนที่สูงขึ้น รวมทั้งชาวสวนยังไม่ได้รับการพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างเต็มที่
ในปัจจุบันได้มีสำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เข้าไปพัฒนาผลผลิตให้กับชาวสวนอย่างต่อเนื่องทำให้ผลผลิตกลับมามีคุณภาพดีขึ้น โดยเฉพาะการทำให้สวนส้มโอของสมาชิกได้รับการรับรองว่าปลอดโรคแคงเคอร์และแบลคสปอต รวมทั้งเข้าร่วมโครงการคัดผลผลิตที่มีคุณภาพดีหรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโปรหรืออียู โดยเฉพาะประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมัน สหราชอาณาจักร ฯลฯ ซึ่งมีความต้องการส้มโอเวียงแก่น แต่ต้องผ่านเกณฑ์คุณภาพ จึงทำให้สถานการณ์ของตลาดดีขึ้นบ้างแต่ก็ต้องมีการพัฒนากันต่อไป
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพื้นที่ อ.เวียงแก่น มีการปลูกรวมกันทั้งหมด 5,585 ไร่ แต่มีพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ GAP แล้วจำนวน1,340 ไร่ ซึ่งจะให้ผลผลิตจำนวน 2,403,110 ผล โดยปลูกมากในพื้นที่ อ.ปอ อ.หล่ายงาว และ อ.ม่วงยาย หรือเฉลี่ยให้ผลผลิต 65 ผลต่อต้น และปลูกกันไร่ละ 25 ต้น ส่วนพื้นที่ปลูกที่อยู่นอกโครงการ GAP มีอยู่กว่า 4,245 ไร่ จะให้ผลผลิตราว 7,130,500 ผล
สำหรับเรื่องราคานั้นผลผลิตที่ส่งออกไปยังตลาดอียู ที่เอกชนเริ่มเข้าไปรับซื้อในพื้นที่มีตั้งแต่กลางปี 2552 ที่ผ่านมาพบว่า ถ้าเป็นผลผลิตที่ผ่านมาตรฐาน Global GAP ได้ราคาเบอร์ 1 ขนาด 18-22 นิ้ว ผลละ 20 บาท และเบอร์ 2 ขนาด 17-17.9 นิ้ว ผลละ 15 บาท ส่วนผลผลิตที่ผ่านมาตรฐาน Thai GAP เบอร์ 1 ผลละ 18 บาท และเบอร์ 2 ผลละ 13 บาท นอกจากนี้ยังมีผลผลิตที่ส่งออกไปยังตลาดประเทศจีนซึ่งนับจากเส้นรอบวงขนาด 18 นิ้วขึ้นไป ราคาผลละ 13 บาทและหากน้อยกว่า 18 นิ้วผลละ 8 บาท
“ปีนี้มีสมาชิกที่สามารถขายผลผลิตส่งออกไปยุโรปได้จำนวน 257 ราย ซึ่งคาดว่าจะทำให้สามารถส่งออกผลผลิตที่ได้มาตรฐานไปยังตลาดอียูได้ประมาณ 10% ของผลผลิตทั้งหมด และไปยังตลาดประเทศจีน 25% ตลาดอื่นๆ อีกประมาณ 65%”
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าในปีนี้ผลผลิตจะยังส่งออกไปได้มาก แม้สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกจะไม่ค่อยดี เพราะปี 2551 ที่ผ่านมาก็เคยส่งออกไปเป็นจำนวนมากกว่า 349,524 ผล เป็นตลาดอียูกว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือจำนวน 5% ของผลผลิตทั้งหมด ตลาดจีน 20% และตลาดอื่นๆ อีก 75%
ด้านนายพรชัย ประเวศทองโสภณ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโดล ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทไปตั้งจุดรับซื้อส้มโอเวียงแก่นถึงในพื้นที่เพราะมีเป้าหมายจะส่งออกไปยังตลาดอียู เนื่องจากผลผลิตส้มโอเวียงแก่นได้คุณภาพดีสามารถผ่านการตรวจโรคสำคัญๆ เช่น โรคแคงเคอร์ ฯลฯ ซึ่งทางตลาดอียูควบคุมไม่ให้นำเข้าอย่างเด็ดขาด
เบื้องต้นบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถคัดเลือกผลผลิตส่งไปตลาดอียูได้ประมาณ 5 ตู้คอนเทนเนอร์เป็นอย่างต่ำ แต่คาดว่าตลอดทั้งฤดูกาลจะสามารถคัดผลผลิตเพื่อส่งออกไปได้มากกว่านี้ เนื่องจากตลาดอียูยังคงมีความต้องการผลผลิตส้มโอเวียงแก่นอย่างต่อเนื่อง และสังเกตจากการส่งออกในปีผ่านๆ มาก็ยังไม่เคยถูกท้วงติงเรื่องคุณภาพของส้มโอเวียงแก่นมาก่อน
ขณะที่นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า ถ้าดูตามแนวโน้มตลาดต่างประเทศแล้ว น่าจะไปได้ดีมาก เบื้องต้นจังหวัดฯจะส่งเสริมเพิ่มเติมโดยจะสนับสนุนให้จัดตั้งโรงงานเพื่อทำการคัด ล้าง บรรจุหีบห่อ ฯลฯ ตามกระบวนการเพื่อการส่งออกในพื้นที่ โดยจะจัดหางบประมาณไปก่อสร้างให้ จากนั้นส่งมอบให้กับสหกรณ์ส้มโอเวียงแก่นเป็นผู้บริหารจัดการต่อไป