ศูนย์ข่าวศรีราชา - ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สรุปข้อมูลการส่งออกทุเรียนไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะแถบเอเชียของพื้นที่ผลิตหลัก 3 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ประกอบด้วยจันทบุรี ระยอง และจังหวัดตราด ช่วงฤดูกาลผลิตปี 2551 มีสูงเกือบ 9 หมื่นตัน และถือเป็นตัวเลขส่งออกที่สูงกว่าปีก่อน เหตุเพราะตลาดหลักอย่างจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ยังนิยมบริโภคทุเรียนจากไทย แม้จะพบปัญหาผลผลิตที่มีคุณภาพไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก (จันทบุรี) เปิดเผยข้อมูลการจัดเก็บตัวเลขส่งออกทุเรียนในพื้นที่ผลิตหลักของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ประกอบด้วย จังหวัดระยอง จันทบุรีและตราดของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ที่ได้รับแจ้งจากผู้ส่งออกทุเรียนไปยังต่างประเทศพบว่า ระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2551 ภาคตะวันออกมีการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดหลักทั้งจีน ฮ่องกง และไต้หวัน สูงถึง 8.87 หมื่นตัน ถือเป็นตัวเลขส่งออกที่สูงกว่าปีก่อนที่มีประมาณ 6.4 หมื่นตัน
แม้ตลอดปี 2551 ผู้ส่งออกจะต้องพบปัญหาผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ก็ยังมียอด ส่งออกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2551น่าจะสูงกว่า 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ จังหวัดจันทบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีการส่งออกทุเรียนไปยังต่างประเทศทั้งการขนส่งทางเรือ ทางอากาศและทางรถยนต์มากที่สุด กล่าวคือ มีตัวเลขการส่งออกมากถึง 4,985 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือคิดเป็น 85,654.39 ตัน รองลงมาคือจังหวัดตราด มีตัวเลข ส่งออกจำนวน 170 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือคิดเป็น 3,029.74 ตัน และจังหวัดระยอง ตัวเลขการส่งออกจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือคิดเป็น 18.24 ตัน
นางรุ่งศรี เฑียรพาณิชย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก (จันทบุรี) เผยถึงการกระจายผลผลิตผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกในปี 2551 ไว้ก่อนหน้านี้ว่าในส่วนของการส่งออกทุเรียนไม่มีปัญหาเนื่องจากตลาดหลักอย่างจีน ฮ่องกง และไต้หวันยังนิยมบริโภคทุเรียนจากไทย แต่ปัญหาที่พบคือผลผลิตที่มีคุณภาพกลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ขณะที่การกระจายสินค้าภายในประเทศกลับต้องประสบปัญหาจากราคาน้ำมัน ทำให้พ่อค้าจากภาคอีสานและเหนือไม่กล้าวิ่งรถเปล่าเพื่อขนผลไม้ไปจำหน่ายเพราะเกรงว่าจะไม่คุ้มทุน
“ในปีนี้ภาคตะวันออกประสบปัญหาเรื่องผลผลิตผลไม้ที่ประดังออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะเงาะที่มีกว่า 2 แสนตัน ขณะที่การระบายสู่ตลาดในประเทศก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากพ่อค้าจากภาคอีสานและเหนือไม่กล้าตีรถเปล่ามารับเพราะสู้ค่าน้ำมันไม่ไหว หลายหน่วยงานต้องช่วยกันเข้ามาพยุงราคา เช่น อบจ.ก็เข้ามารับซื้อแต่เงาะมีมากเมื่อเอาไปฝากไว้ในห้องเย็นก็ไม่พอ จึงเกิดการเน่าเสีย ดังนั้นในปี 2552 จึงวางเป้าหมายที่จะแปรรูปเงาะเพื่อการส่งออก ซึ่งขณะนี้ได้หารือร่วมกับหอการ ค้าจังหวัดจันทบุรี ที่เป็นเจ้าของโครงการผลิตเครื่องคว้านเงาะเพื่อการแปรรูปแล้ว” นางรุ่งศรี กล่าว
ด้าน นายเกียรติศักดิ์ ตั้งเจริญสุทธิชัย ผู้บริหาร บริษัท ไต๋ฟู้ด จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนจังหวัดระยอง เผยว่าตลาดส่งออกทุเรียนของภาคตะวันออกในปี 2551ถือว่าค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่ก็ยังติดปัญหาด้านราคา เหตุเพราะในปีนี้ประเทศจีนประสบปัญหาพายุไต้ฝุ่นค่อนข้างมาก ทำให้เรือสินค้าซึ่งบรรทุกทุเรียนจากภาคตะวัน ออกต้องติดอยู่นอกน่านน้ำหลายลำและเมื่อพายุสงบการเข้าท่าพร้อมกันของเรือจึงทำให้ทุเรียนจากไทยที่ส่งไปจำหน่ายแต่ละงวดตกค้าง ผลที่ตามมาคือราคาจำหน่ายที่ตกต่ำ ซึ่งหากไม่ประสบปัญหาดังกล่าวก็คาดว่ามูลค่าการส่งออกของภาคตะวันออกน่าจะสูงกว่าตัวเลขที่มี