xs
xsm
sm
md
lg

รัฐอ่อนข้อรถไฟวิ่งแล้ว ครม.โยน"เสธ.หนั่น"แก้ปม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“เสธ.หนั่น”รับบทเป็นผู้แทนครม. เจรจาสหภาพฯร.ฟ.ท.จับทำข้อตกลงสั่งร.ฟ.ท.เจรจาสหภาพฯ รับฟังความเห็นแลกเปิดเดินรถบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ยันแผนปรับโครงสร้างจำเป็น แต่มีปัญหาเพราะไม่ทำความใจกับสหภาพฯก่อน "โสภณ" ย้ำแผนฟื้นฟูการรถไฟฯรัฐไม่ได้ประโยชน์ ปักใจมีเบื้องหลังหยุดเดินรถประท้วง "สาวิทย์" ยอมรับถูกประณาม แต่จำใจทำ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น คลังระบุร.ฟ.ท.ต้องปรับตัวรับงบประมาณลงทุนระบบราง 1.7 แสนล้านบาท ขณะที่แอร์พอร์ตลิงค์ ส่อแววเลื่อนเปิดหากบริษัทลูกตั้งไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับปัญหาการหยุดงานประท้วงของสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปทำความเข้าใจกับสหภาพฯ โดยมติครม.ในเรื่องของการฟื้นฟูกิจการนั้น เป็นหลักการเพียงแยกกิจการของการรถไฟเพื่อประสิทธิภาพในการบริหาร เป็น 3 ส่วน คือ การบำรุงรักษาในเรื่องของระบบราง ส่วนที่แยกออกมาคือ การวิ่งรถ กับการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟ ไม่ได้มีการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทั้ง 3 กิจการ ยังเป็นเรื่องที่การรถไฟดูแลอยู่ เพียงแต่แยกการบริหารจัดการออกจากกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
ส่วนประเด็นที่ว่า การดำเนินการนี้ ยังไม่ได้ผ่านการปรึกษาของทางสหภาพฯนั้น พบว่า ความจริงเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทั้งรัฐบาล และภายในสหภาพฯ จึงมีการทักท้วงมา ดังนั้นแนวทางจริงๆจึงไม่มีอะไร เพราะมติที่ออกไปเป็นเพียงหลักการที่ยังไม่ได้มีการปฏิบัติ และรัฐบาลยินดีให้ผู้แทนของสหภาพฯ เข้ามาร่วมพูดคุยก่อนที่จะมีแนวคิดอะไรต่อไปกับมติครม. หากมีข้อท้วงก็สามารถเสนอกลับมาที่ ครม.ได้ แต่อยากให้เร่งการให้บริการประชาชนโดยเร็ว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า แนวทางการแก้ปัญหา ไม่ใช่เรื่องของยอม หรือไม่ยอม แต่เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจให้ตรงกัน และอยากให้เร่งการให้บริการประชาชน ถือว่าเป็นข้อห่วงใยของทางสหภาพฯ ที่เกรงว่าจะเป็นเรื่องของเอกชนดำเนินการ
ต่อข้อถามว่า สิ่งที่ทางสหภาพฯ เสนอว่า หากจะมีการตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับการฟื้นฟู ทางสหภาพฯจะต้องรับรู้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การให้มีส่วนร่วมไม่มีปัญหา ซึ่งเรื่องก่อนเข้าสู่ ครม. นั้นผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไม่มีปัญหา ตัวมติ ครม.ยังไม่มีการปฏิบัติ ในชั้นนี้ ยังไม่คิดว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนมติ ครม.
ส่วนที่มีการเตรียมฟ้องศาลปกครองถึงมติ ครม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการทำประชาพิจารณ์นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการพูดคุย เป็นเรื่องการปรับระบบบริหารจัดการภายใน มั่นใจว่า มีการดำเนินการกันมา ต่อเนื่องรัฐบาลที่แล้ว ถ้าจะพูดคุยเพิ่มเติมไม่มีปัญหา และขอย้ำว่า สิ่งที่คัดค้าน ไม่ได้ตรงกับมติครม. ที่ออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเตรียมการบริษัทเอกชนเข้ามาบริหารจัดการแสวงหาผลประโยชน์ มติ ครม.ไม่ได้พูดถึงเรื่องภาคเอกชน บอกชัดว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้ดูแลรักษากิจการต่อไป ไม่น่าจะมีประเด็นมีปัญหาต่อไป
ส่วนที่สหภาพฯ เกรงว่าเอกชนจะเข้ามาฮุบสัมปทาน นายอภิสิทธิ์ กล่าวชี้แจงว่าในชั้นนี้ ครม.มีมติชัดเจน ถ้าจะกลัวเป็นเพียงก่อนมีมติเท่านั้น ถ้ารัฐบาลคิดจะเอาเรื่องเอกชน ก็จะเสนอเรื่องการแปรรูป แต่รัฐบาลไม่ได้เสนออย่างนั้น ขณะนี้การฟื้นฟูจะลดการขาดทุน นั่นคือเป้าหมาย
**สั่งคณะกรรมการร.ฟ.ท.เจรจาสหภาพฯ
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะทำงานตัวแทน ครม.พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอาทิ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย เจรจากับสหภาพฯ ร.ฟ.ท. โดยพล.ต.สนั่น เปิดเผยภายหลังการเจรจาซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ว่า ประเด็นสำคัญคือร.ฟ.ท.ไม่ได้ปฎิบัติตามข้อตกลงเดิมที่ระบุว่า การพัฒนาร.ฟ.ท.ในทุกระบบจะต้องเจรจากับสหภาพฯ เพื่อหาข้อยุติก่อนถึงจะขอมติครม. ที่ผ่านมาฝ่ายบริหาร ร.ฟ.ท.ไม่ได้ทำความเข้าใจกับสหภาพฯ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เข้าใจ และหยุดเดินรถ
ดังนั้น จึงต้องให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ไปเจรจากับสหภาพฯร.ฟ.ท.ในรายละเอียดที่ไม่ตรงกัน และให้เสนอกลับมาที่คณะทำงาน เพื่อนำเสนอครม.ต่อไป โดยในระหว่างนี้ จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในส่วนของแผนปรับโครงสร้างจนกว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติ และสหภาพฯ ยินยอมที่จะเริ่มเปิดเดินรถอย่างช้า ภายในเวลา18.00 น. (23มิ.ย.) ทันที
ทั้งนี้ พล.ต.สนั่น และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯร.ฟ.ท.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับสหภาพฯร.ฟ.ท.4 ข้อ คือ
1. ครม.จะหยุดการดำเนินการตาม มติครม. เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.52 ที่ให้ความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ เพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของ ร.ฟ.ท.เพื่อให้ร.ฟ.ท.และสหภาพฯ ทำความตกลงร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปตามข้อตกลงสภาพการจ้าง และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วให้นำผลข้อตกลงร่วมระหว่างทั้งสองฝ่าย รายงานพล.ต.สนั่น เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป
2. กรณีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจตาม มาตรา 61 ของพ.ร.บ.ที่ดิน เพิกถอนสิทธิ์การครอบครองที่ดินร.ฟ.ท. บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จากนายชัย ชิดชอบ และนางกรุณา ชิดชอบ ให้กลับมาเป็นของร.ฟ.ท.ทันทีนั้น สหภาพฯได้รับทราบจาก รมว.คมนาคม ว่าในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช. ดังนั้นจึงขอให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาดังกล่าวก่อน
3. ครม.ไม่ขัดข้องที่จะให้สหภาพฯ ร.ฟ.ท.มีส่วนร่วมทุกขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร.ฟ.ท.
4. เรื่องกรอบและอัตรากำลังที่คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.และผู้บริหารจะพิจารณา ขอให้สหภาพฯ มีส่วนในการร่วมรับทราบในการพิจารณาด้วยทุกครั้ง
"ในระหว่างการเจรจาการดำเนินการตั้งบริษัทลูก ตามแผนปรับโครงสร้างต้องหยุดไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติ เรื่องนี้เป็นความขัดแย้งเพียงนิดเดียว แต่ผู้บริหารไม่ได้พูดคุยกับพนักงานส่วนการเอาผิดกับพนักงานที่ลาหยุดนั้น เมื่อมีข้อตกลงและจะมีการเจรจากันก็ไม่อยากให้เอาผิดกัน เรื่องนี้เป็นปัญหาภายใน แต่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย" พล.ต.สนั่นกล่าว

**"สาวิทย์"ยอมรับประชาชนเดือดร้อน
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯร.ฟ.ท.กล่าวยอมรับว่า การดำเนินการของสหภาพฯทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ที่ต้องดำเนินการเพราะการปรับโครงสร้าง และตั้งบริษัทลูกจะเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การให้เอกชนเข้ามา และเป็นการแปรรูป และจะทำให้รัฐบาลขาดกลไกในการดูแลประชาชน จึงเป็นหลักการที่สหภาพฯ ต้องต่อต้านและต้องพูดคุยกันถึงวิธีการที่จะดำเนินการ เพราะหลักการสหภาพฯ เห็นด้วยกับการปรับปรุงร.ฟ.ท.ให้ดีขึ้น แต่ต้องบนพื้นฐานของความจริงในทุกเรื่อง และต้องโปร่งใส และประชาชนต้องได้รับประโยชน์
"เรื่องนี้ เป็นการต่อสู้กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องใช้วิธีนี้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีพื้นที่ ไม่มีช่องทางให้สหภาพฯ ดำเนินการ และได้พยายามดำเนินการมาเป็นขั้นตอน ซึ่งก็ต้องร่วมกันพยายามหาข้อสรุปให้ได้เร็วที่สุด ส่วนพนักงานที่หยุดไปก็สามารถเรียกกลับมาทำงานได้ตามปกติในเวลา 18.00 น." นายสาวิทย์กล่าว

**ย้ำต้องทำความเข้าใจพนง.การรถไฟ

ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ครม.ยืนยันมติการปรับโครงสร้างร.ฟ.ท.เพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงิน เพราะจะช้วยรับภาระหนี้ในอดีต และรับภาระการลงทุนในอนาคต แต่ต้องทำความเข้าใจกับพนักงาน ร.ฟ.ท. และหากสหภาพฯ มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ก็เสนอเข้ามาได้ เช่น ข้อกังวลเรื่องบริษัทลูกเดินรถ จะให้เอกชนเข้ามาก็อาจจะเสนอให้แยกการเดินรถสินค้าและโดยสารไว้อยู่ที่ร.ฟ.ท.เหมือนเดิม ก็ถือมีเหตุผลที่นำมาพิจารณาได้ โดยเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะใช้เวลาในการเจรจาทำความเข้าใจกันภายใน 2 สัปดาห์
"จะให้ทบทวน หรือยกเลิกแผนฟื้นฟู คงทำไม่ได้ ถ้าร.ฟ.ท.ไม่มีแผนฟื้นฟูก็คงไปไม่รอด ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายแปรรูป แต่ต้องการให้องค์กรบริหารงานคล่องตัว จึงต้องมีบริษัทลูก และพนักงานจะได้รับสวัสดิการและสิทธิเหมือนเดิม ผมยอมรับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นมีเบื้องหลังแต่จะไปโทษใครไม่ได้ เรามีหน้าที่แก้ไข อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะเชิญสหภาพฯร.ฟ.ท.มาหารืออีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจถึงการทำงานร่วมกันต่อไป" นายโสภณกล่าว

**”ยื้อตั้งบริษัทลูกกระทบแอร์พอร์ตลิงค์
นายโสภณ กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบกับโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตเรลลิงค์) ทำให้โครงการมีความล่าช้ากว่าที่กำหนดแน่ ดังนั้นต้องมีการปรับแผน และหาแนวทางเพื่อให้โครงการเดินหน้าให้ทันตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถไฟนั้น จำเป็นต้องมี
"กำหนดเปิดให้บริการโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ในวันที่ 5 ธ.ค.52 ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะทันหรือไม่ เพราะกระบวนการตั้งบริษัทลูกเดินรถต้องหยุดรอการเจรจากับสหภาพฯก่อน ซึ่งได้กำชับไปแล้วว่า หากยิ่งล่าช้าเท่าไร ร.ฟ.ท.ยิ่งบอบช้ำมากเท่านั้น และนายกรัฐมนตรี ได้ไปโฆษณาในต่างประเทศไว้แล้วว่า มีโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ ถ้าถึงเวลาแล้วไม่มี ก็เสียหายกันทั้งประเทศ ก็คงต้องผลักดันให้เป็นไปตามแผนให้ได้” นายโสภณกล่าว

*ร.ฟ.ท.ต้องปรับตัวรับการลงทุนระบบราง
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง กล่าวว่า เรื่องการปรับโครงสร้างร.ฟ.ท.ได้มีการอนุมัติกันมาตั้งแต่ปี 41 แต่หลังจากไม่ได้มีการดำเนินการต่อ และมีการเริ่มดันอีกครั้งในสมัยนี้ ซึ่งโครงสร้างปัจจุบันไม่ได้ต่างจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเพราะไม่เข้าใจกัน เช่น ส่วนการเดินรถสินค้า และรถโดยสารปรับแล้วจะเป็นอย่างไร และมีการเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์เพิ่มเข้ามาอีก ก็ต้องทำความเข้าใจกัน
อย่างไรก็ตามในปีนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะลงทุนระบบรางประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งการให้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ถือว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องราง ดังนั้น หากไม่มีการปรับการบริหารงาน ปรับโครงสร้าง ก็คงไม่สามารถรองรับการขยายงานที่เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อไม่ได้มีการสื่อสารกัน ก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องคัยกันใหม่ และทั้งสองฝ่ายน่าจะตกลงกันได้ภายในเวลาไม่นาน
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ภายหลังที่สหภาพฯหยุดเดินรถ ส่งผลให้ร.ฟ.ท. ต้องสูญเสียรายได้รวมกว่า 15 ล้านบาท แบ่งเป็น การเดินรถขนส่งสินค้ากว่า 6 ล้านบาท และการการเดินรถโดยสาร 9 ล้านบาท

**สมาพันธ์โลจิสติกส์ค้านหยุดเดินรถ
ด้านนายทองอยู่ คงขันธ์ รองประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ สหภาพฯ ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาคการขนส่ง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จากกรณีการหยุดเดินรถ ส่งผลให้ขบวนรถขนส่งสินค้าไปแหลมฉบัง-ท่าเรือกรุงเทพ ขนส่งสายใต้ ซึ่งแต่ละวันจะมีประมาณ 1.6 พันตู้คอนเทนเนอร์ ไม่สามารถส่งสินค้าได้หมด คิดเป็นความเสียหาย 3 - 5 ล้านบาท ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบหนัก ผู้นำเข้า และส่งออก จะต้องขนส่งสินค้าผ่านรถบรรทุก ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นถึง 100 % จากที่ตู้คอนเทนเนอร์ วันละ 3 พันบาท จะต้องไปจ่ายค่ารถขนส่ง 5 - 6 พันบาท ซึ่งยังไม่รู้ว่า จะต้องเรียกร้องเอาคืนกับใคร ขณะที่ผู้ประกอบการรถบรรทุก มีงานเพิ่มขึ้น แต่ผลขาดทุนก็ขึ้นอยู่กับการรถไฟ ส่วนผลกระทบของการหยุดเดินรถ 1 วัน ขณะนี้ พบผู้โดยสารตกค้างกว่า 1 แสนคน
รายงานข่าวแจ้วว่า ในส่วนของการเดินรถไฟ ในช่วงระหว่างเวลา18.00-23.40 น. นั้น มีขบวนที่จะเดินทางออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง 22 ขบวน ในเส้นทางหลักๆ เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ , กรุงเทพฯ-อยุธยา , กรุงเทพฯ-กันตัง , กรุงเทพฯ- อุบล , กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ - ยะลา ส่วนขบวนรถที่จะเข้ามายังหัวลำโพงนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 16 ขบวน โดยมีเส้นทางหลักๆ เช่น ศิลาอาสถ์-กรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น