ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปีนี้ชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะผู้ปลูกทุเรียนมีสิทธิได้ลืมตาอ้าปาก หลังผลผลิตเป็นใจค่อยๆทยอยออกสู่ตลาดไม่ทะลักจนล้นเช่นปีก่อน ทำให้ราคาจำหน่ายทั้งมังคุด เงาะและทุเรียนสูงกว่าปีก่อน ด้านผู้ส่งออกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ระบุแนวโน้มการส่งออกปีนี้สูงตามความต้องการของตลาด ชี้เฉพาะเครือข่ายแผงผลไม้แหม่ม (จันทบุรี) มียอดส่งออกไปจีนและอินโดนีเซียแล้วกว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน คาดเมื่อสิ้นฤดูจะมียอดส่งออกหลายพันตู้ รวมมูลค่าขายหลายพันล้านบาท
นางรุ่งศรี เฑียรพาณิชย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก (จันทบุรี) เผยว่าแม้ราคาผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาดในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียนและมังคุดจะเริ่มตกลงจากราคาผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในล็อตแรก ซึ่งเป็นผลมาจากคุณภาพของผลผลิตที่ด้อยลงจากการที่มีฝนตกลงมาต่อเนื่องทำให้เกษตรกรต้องรีบเก็บผลไม้เพราะเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย แต่ก็เชื่อได้ว่าในปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้จะสามารถจำหน่ายผลไม้ได้มากกว่าปีก่อนๆ ปัจจัยหนึ่งเกิดจากการที่ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเป็นไปในลักษณะค่อยๆ ทยอยกันออกไม่ใช่การออกพร้อมกันดังเช่นหลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการกระจายผลผลิตของเกษตรกรออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ และได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ ซึ่งก็คาดได้ว่าในปีนี้ผลผลิตของเกษตรกรในภาคตะวันออกจะสามารถระบายออกสู่ตลาดได้อย่างทั่วถึง และจะไม่เกิดเหตุการณ์ผลผลิตล้นตลาดจนส่งผลต่อราคาดังที่ผ่านมา
“แนวโน้มการส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนในปีนี้คาดว่าน่าจะดีกว่าปกติ เพราะที่ผ่านมาความต้องการทุเรียนจากไทยมีมาก แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถหาทุเรียนที่มีคุณภาพเพื่อการส่งออกได้อย่างเพียงพอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการผลิตและคัดสรรผลไม้ที่มีคุณภาพเพื่อให้เพียงพอกับการจำหน่ายในต่างประเทศ” นางรุ่งศรี กล่าว
เช่นเดียวกับนายสุขประเสริฐ พัฒนะพล ผู้คัดเลือกทุเรียนเพื่อการส่งออก แผงผลไม้แหม่มจันทบุรี ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของจังหวัดจันทบุรี ที่กล่าวว่าแนวโน้มการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่าง จีนและอินโดนีเซียในปีนี้ถือว่าดีกว่าปีก่อนๆ โดยเฉพาะด้านราคา ซึ่งสาเหตุที่เชื่อได้ว่าแนวโน้มการส่งออกในปีนี้จะสูงขึ้นเป็นเพราะการค่อยๆ ทยอยออกสู่ตลาดของผลผลิตทำให้ผู้ส่งออกและเกษตรกรสามารถคัดสรรผลผลิตคุณภาพเพื่อป้อนสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาจำหน่ายทุเรียนหมอนทองไปยังต่างประเทศในวันนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 20-25 บาท ผิดจากปีก่อนที่มีราคาจำหน่ายเพียงกิโลกรัมละ 17 บาทเท่านั้น
“ในช่วงเริ่มต้นฤดูเฉพาะสาขาที่ผมดูแลเพียงสาขาเดียวมีออเดอร์ที่จะต้องส่งให้กับประเทศจีนและอินโดนีเซียแล้วประมาณ 11 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน ไม่นับรวมสาขาต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วจังหวัด ซึ่งในปีก่อนๆ ช่วงที่ทุเรียนปะดังกันออกมา ทั้งจังหวัดจันทบุรีจะมียอดส่งออกประมาณ 60-70 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน แต่ในวันนี้เฉพาะเราเจ้าเดียวที่มีหลายสาขาในจังหวัดมียอดส่งออกแล้วไม่น้อยกว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน ซึ่งก็คาดว่าในปีนี้เราจะสามารถทำกำไรจากการส่งออกได้มากกว่าทุกๆ ปี และน่าจะมียอดส่งออกในช่วง 3 เดือนนับหลายพันตู้ รวมมูลค่าขายนับหลายพันล้านบาท”
นายสุขประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้จะเป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ส่งออกผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก เพราะการที่ผลผลิตค่อยๆ ทยอยกันออกสู่ตลาดทำให้ราคาขายไม่ตกต่ำดังเช่นหลายปีกอ่นเห็นได้จากราคาเหมาหน้าสวนในส่วนทุเรียนพันธ์ชะนี และกระดุม จากปีก่อนราคาเหมาอยู่ที่ 4-5 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในวันนี้ราคาเหมาอยู่ที่ 9-10 บาทต่อกิโลกรัม โดยเชื่อว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้