xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:ไทยกับทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

เศรษฐกิจสร้างสรรค์นับเป็นรูปแบบเศรษฐกิจระบบใหม่โดยนำเอาทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งนับว่าสำคัญมากในการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ และปัจจุบันมีการตื่นตัวกันทั่วโลกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต

สำหรับหัวใจของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries -CI) ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ประเภท คือ

ประเภทแรก กลุ่มมรดกทางวัฒนธรรม (Heritage or Cultural Heritage) เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และสภาพสังคม เป็นต้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

- กลุ่มการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (Traditional Cultural Expression) เช่น งานศิลปะ งานฝีมือ งานเทศกาล งานฉลอง เป็นต้น

- กลุ่มที่ตั้งทางวัฒนธรรม (Cultural Site) เช่น โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และการแสดงนิทรรศการ เป็นต้น

ประเภทที่สอง กลุ่มศิลปะ (Arts) เป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์บนพื้นฐานของศิลปะ และวัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

- งานศิลปะ (Visual Arts) เช่น ภาพวาด รูปปั้น ภาพถ่าย และวัตถุโบราณ เป็นต้น

- ศิลปะการแสดง (Performing Arts) เช่น การแสดงดนตรี การแสดงละคร การเต้นรำ ละครโอเปร่า ละครสัตว์ และการเชิดหุ่นกระบอก เป็นต้น

ประเภทที่สาม กลุ่มสื่อ (Media) เป็นสื่อผลิตงานสร้างสรรค์ที่สื่อสารกับคนกลุ่มใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

- งานสื่อสิ่งพิมพ์ (Publishing and Printed Media) เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ และสิ่งตีพิมพ์อื่นๆ เป็นต้น

- งานโสตทัศน์ (Audiovisual) เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ และการออกอากาศอื่นๆ เป็นต้น

ประเภทที่สี่ กลุ่มงานสร้างสรรค์ตามลักษณะงาน (Function Creation) เป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน จำแนกย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

*กลุ่มการออกแบบ (Design) เช่น การออกแบบภายใน กราฟิก แฟชั่น อัญมณี และของเด็กเล่น เป็นต้น

* กลุ่มสื่อประยุกต์ (New Media) ได้แก่ ซอฟต์แวร์ วิดีโอเกม และผลิตภัณฑ์ดิจิตอล เป็นต้น

* กลุ่มบริการทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Services) ได้แก่ สถาปนิก โฆษณา วัฒนธรรม นันทนาการ งานวิจัยและพัฒนา

ความจริงแล้วเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ได้มีความสนใจในเรื่องนี้มานานนับสิบปีแล้ว เป็นต้นว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาตั้งแต่ปี 2440 โดยนายโทนี่ แบลร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries Taskforce) ขึ้น เพื่อศึกษาบทบาทของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ในปีถัดมา คือ ปี 2541 คณะทำงานเฉพาะกิจดังกล่าวได้จัดทำรายงาน Creative Industries Mapping Document เสนอแนะต่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาทักษะ การสนับสนุนด้านการเงิน การคุ้มครองสินทรัพย์ทางปัญญา การส่งเสริมการส่งออก ฯลฯ

ส่วนสิงคโปร์ซึ่งเดิมมีภาพลักษณ์ทางลบว่าเป็นทะเลทรายทางด้านวัฒนธรรม เป็นเมืองน่าเบื่อ ปราศจากวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ปราศจากสีสัน หรือแม้กระทั่งปราศจากจิตวิญญาณ ก็ได้พยายามสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมานานแล้วเช่นเดียวกัน โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปี 2544 ซึ่งได้จัดทำยุทธศาสตร์ 3 ประการ การเป็นเมืองแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการยุคที่ 2.0 (Renaissance City 2.0) ประกอบด้วยมาตรการส่งเสริมกิจกรรมในด้านศิลปะและวัฒนธรรมในด้านต่างๆ เช่น สนับสนุนการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ สนับสนุนการพัฒนาประชาคมให้มีลักษณะเมืองแห่งการสร้างสรรค์ (Creative Town) พัฒนาผู้ประกอบการใหม่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

- สื่อในศตวรรษที่ 21 (Media21) กำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนาส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมสื่อในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจากร้อยละ 1.6 ในปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2555 และเพิ่มมูลค่าส่งออกจากระยะเวลาเดียวกันจาก 908 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เป็น 4,500 ล้านเหรียญสิงคโปร์

- การออกแบบของสิงคโปร์ (Singapore Design) สนับสนุนให้ภาคเอกชนสร้างนวัตกรรมในการออกแบบให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันภาคราชการจะต้องทำเป็นตัวอย่าง เป็นต้นว่า พยายามออกแบบรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมในส่วนอาคารที่ทำการของรัฐบาลหรืออาคารที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มีลักษณะสร้างสรรค์

กรณีของประเทศไทย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center - TCDC) ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 โดยมีสถานที่ตั้ง ณ ชั้น 6 อาคารดิเอ็มโพเรียม ถนนสุขุมวิท 24 เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย โดยผ่านกระบวนการให้ความรู้ความเข้าใจแบบสากล

ต่อมามีการก่อตั้งมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งได้ปรับปรุงอาคารเก่าของกระทรวงพาณิชย์เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย แต่ยังคงความสง่างามของสถาปัตยกรรมและโครงสร้างเดิมเอาไว้ ซึ่งก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อเดือนเมษายน 2551

สำหรับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ก็ได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน โดยนโยบายข้อ 4.2.3.1 ระบุว่าจะส่งเสริมบริการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

นอกจากนี้คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีมติเมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) เป็นประธาน กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

- จัดทำยุทธศาสตร์และแผนที่นำทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยตลอดห่วงโซ่มูลค่า

- จัดทำแผนที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย และให้ความเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

- กำกับ ดูแล และบูรณาการโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2555 และการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

- เสนอแนะและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำโครงการที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 เห็นชอบกับยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ดังนี้

- กำหนดเปลี่ยนชื่อจาก “คณะกรรมการด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” มาเป็น “คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

- พัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยอาศัยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกเท่าตัว กล่าวคือ จากปัจจุบัน 900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 1,800,000 ล้านบาท ภายในปี 2555

ขณะเดียวกันแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (Stimulus Package 2 - SP2) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2553 – 2555” มีวงเงินรวม 1,431,330 ล้านบาท ได้กำหนดจัดสรรเงินรวม 17,585 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ครอบคลุมการส่งเสริมและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา การส่งเสริมเอกลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมช่างฝีมือไทย การส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและซอฟต์แวร์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมรวมออกแบบและสินค้าเชิงสร้างสรรค์ และการขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ล่าสุดในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งกำหนดใช้ระหว่างปี 2555 – 2559 ได้กำหนดแนวคิดว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากปัจจุบันที่พึ่งพาปัจจัยการผลิตที่มีราคาถูกและใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ไปสู่ระดับที่เพิ่มสูงขึ้น คือ เศรษฐกิจที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างนวัตกรรม โดยทางเลือกหนึ่ง คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจัง บนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกเข้ากับการใช้องค์ความรู้และนวัตกรรม

เนื่องจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ การมีบุคคลที่มีความรู้ลึกซึ้งอย่างแท้จริงมากำหนดนโยบายในด้านนี้ มิฉะนั้น จะเป็นการกำหนดนโยบายแบบ NATO หรือ No Action, Talk Only คือไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งเพียงพอ

ตัวอย่างหนึ่ง คือ กรณีของสหราชอาณาจักร คณะทำงานเฉพาะกิจด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ร่วมกันจัดทำรายงานเสนอแนะต่อรัฐบาลเมื่อปี 2541 ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นมืออาชีพและมีชื่อเสียงในระดับโลก เป็นต้นว่า ท่านลอร์ด David Puttnam ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งเคยเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Killing Field ในประเทศไทย ท่านเซอร์ Richard Brandson เจ้าของบริษัทดนตรี Virgin Records, นาง Gail Rebuck ผู้บริหารของสำนักพิมพ์ Random House ซึ่งนับเป็นสำนักพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น