xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นSME5แสนรายเป็นเอ็นพีแอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ห่วงเอสเอ็มอี 5 แสนราย อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นเอ็นพีแอล โดยเฉพาะกลุ่มที่มีประวัติเครดิตไม่ดี ด้านเอสเอ็มอี แบงก์ขยายวงเงินปล่อยสินเชื่อปีนี้เพิ่มเป็น 4.8 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี เผย 7 เดือนแรกปีนี้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท เตรียมทบทวนหลักเกณฑ์ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น ชี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวคาดตัวเลขว่างงานปีนี้เหลือ 6 แสนคน หวั่นประชาธิปัตย์ถูกตัดสินยุบพรรคกรณีรับเงินบริจาคฉุดเศรษฐกิจลงอีก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวในฐานะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.)หรือเอสเอ็มอี แบงก์ กล่าวว่า ยังมีความเป็นห่วงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)รายเล็กๆที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และเอสเอ็มอีที่มีเครดิตบูโรไม่ดี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 20% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่มีอยู่ 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 5 แสนราย ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นเอ็นพีแอล โดยจะกระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และอัญมณี ที่เสียเครดิตในการชำระหนี้กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆไปแล้ว

“ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกถือว่าอยู่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และเศรษฐกิจไทยก็ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยดูได้จากยอดคำสั่งซื้อที่เริ่มกลับเข้ามา และเข้าใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารจะมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เพราะในช่วงครึ่งปีแรกมีการอั้นการปล่อยสินเชื่อไว้เป็นจำนวนมาก และตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นการลงทุน”นายธนิต กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี แบงก์)ปีนี้ได้ขยายวงเงินปล่อยสินเชื่อเพิ่มเป็น 4.8 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สามารถปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 2 หมื่นล้านบาท ส่วนสัดส่วนหนี้ที่ไม่กอให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของเอสเอ็มอี แบงก์ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 51%

นายธนิต กล่าวว่า วงเงินสินเชื่อที่เหลืออยู่ในช่วงครึ่งปีหลังอีก 2.8 หมื่นล้านบาท ทางแบงก์ก็จะมีการทบทวนขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่าจะสามารถผ่อนผันเงื่อนไขและหลักเกณฑ์อะไรได้บ้างเช่น ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการสามารถค้ำประกันไขว้กันเองได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขาดหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยที่ผ่านมาได้มีการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวไปแล้ว 3 พันกว่าล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 5 พันล้านบาท และปล่อยสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เอาไว้อีก 1,250 ล้านบาท

“บอร์ดเอสเอ็มอี แบงก์ ได้มีการหารือกันว่า ที่ผ่านมาแบงก์ถูกด่าว่าไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้นเพราะแบงก์ยังอ่อนด้านการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นในวันที่ 3 ก.ย.นี้ จะมีการจัดสัมมนาแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีครึ่งปีหลัง และการร่วมมือกับพันธมิตรอย่างบีโอไอออกโรดโชว์ทั้ง 4 ภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับทราบสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ”นายธนิต กล่าว

สำหรับสถานการณ์การจ้างงานขณะนี้ถือว่าดีขึ้นมาก เพราะได้ผ่านจุดที่ต่ำสุดมาแล้ว ประกอบกับปัจจุบันเริ่มมีการเรียกแรงงานกลับเข้าสู่ระบบมากขึ้นหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และมียอดคำสั่งซื้อสินค้ากลับเข้ามา ทำให้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60% โดยคาดว่าตัวเลขผู้ว่างงานจะเหลือเพียง 5-6 แสนรายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนก็ยังคงมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัจจัยทางการเมืองอยู่ อยากให้การเมืองนิ่งและมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท และการพิจารณาคดีกล้ายาง ซึ่งหากมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลถูกตัดสินยุบพรรคก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก รวมทั้งอย่าให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งกระโดดมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น