xs
xsm
sm
md
lg

คลังมั่นใจปั๊ม ศก.ฟื้นจริง ลั่นทุ่มมาตรการเชิงรุก-เน้นแก้จุดบอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังมั่นใจ ศก.ไทยฟื้นจริง หลังพบสัญญาณหลายตัวบ่งชี้ แนะเอกชนเตรียมความพร้อม ลั่นทุ่มมาตรการเชิงรุกรูปแบบใหม่ ทั้งนโยบายเงินบาทแข็งกว่าคู่แข่ง การลงทุนในต่างประเทศ และลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ พร้อมแก้ไขจุดอ่อนเชิงโครงสร้าง ทั้งมาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรการภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจเพื่อขยายขอบเขตสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.บ.การจัดตั้งกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีสวัสดิการดูแลเมื่อเข้าสู่วัยชราภาพ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในสัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) เรื่อง “เศรษฐกิจไทย ใกล้จะฟื้นแล้วจริงหรือ” โดยว่า วิกฤตเศรษฐกิจไทยครั้งนี้เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวบ้างแล้ว ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ตอนนี้

ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนไทยยังอ่อนแอ ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านทาง 3 นโยบายหลัก คือ การดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล และเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาลให้มีเงินออกสู่ระบบ การเร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วยการจัดทำ Public Service Account (PSA) แยกบัญชีให้รัฐบาลชดเชยให้และการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่ง ผ่านการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และการลดอากรนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ

ทั้งนี้ สศค.ยังได้เตรียมเสนอนโยบายด้านการคลังเชิงรุก ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขจุดอ่อนของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะปานกลางและระยะยาว ได้แก่ มาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรการภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจเพื่อขยายขอบเขตสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.บ.การจัดตั้งกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีสวัสดิการดูแลเมื่อเข้าสู่วัยชราภาพ

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2552 จะหดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี และจะขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2 ต่อปี ในปี 2553 สำหรับเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.8 ต่อปีในไตรมาสที่ 4 ปี 52 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้หดตัวที่ร้อยละ -2.7 ต่อปี ดังนั้น หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไป การบริโภคของสหรัฐจะลดลง การแข่งขันทางการค้าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมาสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นและนำมาสู่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

อย่างไรตาม เศรษฐกิจจีน อินเดีย และ บราซิล มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไปประเทศดังกล่าวได้ในอนาคต ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านการผลิตและการบริการ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพของสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งการจะเพิ่มประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพของคน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนลดกฎระเบียบและขั้นตอนที่ยุ่งยากของภาครัฐ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมาจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าตามไปด้วย 2) การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น 3) ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกอย่างมาก 4) สภาพคล่องของระบบการเงินยังมีอยู่มาก แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อเท่าที่ควร โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งผลให้ธุรกิจ SMEs ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และ 5) ปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และลดการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจลง
กำลังโหลดความคิดเห็น