xs
xsm
sm
md
lg

AEM ครั้งที่ 41 : ความสำเร็จของกระทรวงพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

ในที่สุด “การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 41 (AEM : Asean Economic Ministers Meeting and Related Meetings 41st )” ได้ปิดฉากเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา

“กระทรวงพาณิชย์” เป็นกระทรวงที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจ การค้าการขาย และภาคการลงทุนกับภาคบริการ จึงเป็น “เจ้าภาพ” ในการจัดการประชุม AEM ครั้งที่ 41 นี้ ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะ “ประธานอาเซียน” รัฐบาลไทย นำโดย นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องทำหน้าที่เป็นประธาน “การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (Asean Summit) เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2551-2552” และจะได้จัดให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งสุดท้ายในเดือนตุลาคมนี้ ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แต่มักเรียกกันว่า “หัวหิน”

จากการที่ได้มีโอกาส “เฝ้า-เกาะติด” ตลอดจนร่วมสังเกตการณ์กับการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน” ที่จังหวัดภูเก็ต

เหตุผลสำคัญของ “วิกฤตเศรษฐกิจโลก” ที่ทำให้ “การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 41” นี้มีความสำคัญมาก ที่เหล่าบรรดาสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ จำต้องระดม “ความคิด-ทิศทาง” ในการผนึกกำลังเพื่อกอบกู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าสู่สภาวการณ์เศรษฐกิจ ที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าสุดก้นบึ้งแล้ว และจะค่อยๆ ผงกหัวขึ้น ด้านเศรษฐกิจในเชิงบวกประมาณช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2

นอกเหนือจากการประชุมของกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ยังมี “ประเทศคู่เจรจาบวก 6” กล่าวคือ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชนจากสหรัฐอเมริกา ที่ร่วมประชุมกับอาเซียนเช่นเดียวกัน ที่เรียกว่า “US. – Asean Business Council : USABC” โดยมีประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ – อาเซียน ได้นำนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ จำนวน 8 บริษัท เข้าร่วมด้วย ได้แก่ Apco Worldwide, Caterpilar, Fedex, Ford, Intel, Philip Morris, Ups และ White and Case

ประเด็นหลักที่มีการประชุมหารือนั้น เป็นกรณีของปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยภาคเอกชนของสหรัฐฯ สนใจในกรณีกฎหมายภาษีศุลกากรที่เก่าแก่ตั้งแต่ปี 2469 และกฎหมายศุลกากรที่เกี่ยวข้องของไทย รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายสรรพาสามิต ตลอดจนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับด้านโทรคมนาคม ด้านบรอดแบรนด์ (Broadband) อินเทอร์เน็ต และธุรกิจจัดส่งด่วน (EDS : Express Delivery Express)

เท่าที่ประมวลจากการประชุมระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ นั้น มักจะถูกเรียกร้องจากสหรัฐฯ มากกว่า พูดง่ายๆ คือ สหรัฐฯ เรียกร้องข้อเสนอต่างๆ จากอาเซียนเป็นรายประเทศ มากกว่าที่จะเสนอให้กับกลุ่มประเทศอาเซียน เรียกว่า “เอามากกว่าให้! (Take More Than Give)”

ที่สำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือ “การลงนามเขตการค้าเสรีด้านสินค้า (Trade in Goods)” ระหว่าง “อินเดีย-อาเซียน” ซึ่งได้มีการประชุมยืดเยื้อมายาวนานถึง 6 ปี เปลี่ยนรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจไปแล้วไม่ทราบว่าจำนวนเท่าใด และในที่สุด ก็สามารถ “ลงเอย-จบ” บนผืนแผ่นดินไทย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หมายความว่า “ประเทศไทยได้หน้าเต็มที่” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กระทรวงพาณิชย์” และรัฐมนตรีพรทิวา นาคาศัย ที่สามารถรวบหัวรวบหางให้จบจนได้ บน “เวทีเจ้าภาพของไทย”

เราอย่าลืมว่ากลุ่มสมาชิกอาเซียนมีจำนวนประชากร 570 ล้านคน อินเดียมีประชากรจำนวน 1,100 ล้านคน สิริรวมตัวเลขแล้วเกือบ 1,700 ล้านคน ดังนั้น กระบวนการค้าขายระหว่างอาเซียน-อินเดีย ที่จะเริ่มค่อยๆ ทยอยลดภาษีตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป มูลค่าการค้าขายสินค้าจะมีมูลค่าประมาณนับหลายหมื่นล้านเหรียญฯ หรือแสนล้านเหรียญสหรัฐ ก็ว่าได้

ส่วนภาคการบริการและการลงทุนนั้น น่าจะพิจารณาและสรุปความก้าวหน้าได้ภายในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (Asean Summit) ที่จะจัดให้มีขึ้นที่อำเภอชะอำหรือหัวหิน ในเดือนตุลาคม ปี 2552 นี้

นอกเหนือจากนั้น “การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 41 (AEM)” ยังมีการจัด “พิธีลงนามระหว่างอาเซียน-จีน ด้านการลงทุน” ด้วยอีกต่างหาก ซึ่งจะช่วยขยายด้านการค้าและการลงทุนให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

เราลองพินิจพิจารณาดูจำนวนปริมาณตัวเลขของมูลค่าการค้าขาย การลงทุน และการค้า สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีจำนวนประชากร 1,300 คน ทั้งนี้เราอย่าลืมว่า อัตราความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของจีน (GDP) นั้นสูงสุดในโลกตลอดระยะเวลา 5-7 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 11-8 ส่วนอินเดียนั้น จีดีพี (GDP) เจริญเติบโตในระดับร้อยละ 7-9 เช่นเดียวกัน เรียกว่า “มั่นคงมาก!”

เพราะฉะนั้น “อาเซียน-จีน-อินเดีย” ผนึกกำลังกันเช่นนี้ จากจำนวนประชากรเมื่อรวมกันเกือบ 3,000 ล้านคน ของจำนวนประชากรโลก 6,000 ล้านคน เท่ากับว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลก เราลองตรึกตรองดูก็แล้วกันว่า “มั่นคง-แข็งแกร่ง” เพียงใด บน “เวทีประชาคมเศรษฐกิจโลก” รับรองได้เลยว่า ทั้ง “สหภาพยุโรป-สหรัฐอเมริกา” คงจะต้องหันหลังเพ่งมองตาร้อนผ่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เด็ดขาด

ดังนั้น “สภาวะเศรษฐกิจเอเชีย” ในอนาคตนั้น รับรองได้เลยว่าจะเป็น “อภิซูเปอร์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและความมั่นคง” อย่างแน่นอนภายใน 3-5 ปีนับจากนี้เป็นต้นไป พูดง่ายๆ ก็หมายความว่า “มหาอำนาจโลกจะเอียงมาทางตะวันออก” อย่างแน่นอน!

จีนได้ตกลงที่จะให้อาเซียนกู้ยืมเงินจำนวนสูงถึง 15,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน และโครงข่ายคมนาคม ซึ่งเป็นข้อเสนอจากจีนในการประชุมครั้งนี้เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งได้ตั้ง “กองทุนอาเซียน-จีน เพื่อการลงทุน” อีกจำนวน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น “โครงการรถไฟเชื่อมระหว่างสิงคโปร์-คุนหมิง” ซึ่งจะผ่านประเทศมาเลเซีย ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และมุ่งหน้าสู่คุนหมิง ประเทศจีน โดยคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในอีกประมาณไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า!

สำหรับผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 41 นี้ พร้อมทั้งการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

“การพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืน” 1. ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขว้าง ที่ประชุมเห็นว่า การดำเนินงานด้าน การส่งเสริมการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันอาเซียนได้มีการดำเนินการไปมาก 2. ที่ประชุมจึงเห็น ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน (Competitive Economic Region) เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนนี้ไทยได้เสนอแผนงานสำคัญใน 2 เรื่อง ให้ที่ประชุมพิจารณา คือ

2.1 Asean grows green เป็นเรื่องการส่งเสริมการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขณะนี้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจในด้านนี้เป็นหลัก และเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับนโยบายการค้า ไทยจึงเสนอให้อาเซียนมี Common Policy ในด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคส่วนสำคัญทั้ง 3 ด้าน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

2.2 Creative Asean หรือการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เนื่องจากอาเซียนมีความหลากหลาย มีความสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง การส่งเสริมเรื่อง Creative Economy จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตต่างๆ (Value Creation) และสร้างอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ท้ายที่สุดนี้ ความสำเร็จของ “การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 41” ที่ “กระทรวงพาณิชย์” เป็นเจ้าภาพ ต้องยอมรับว่าเป็น “ก้าวกระโดด” สำคัญสำหรับการค้า การลงทุน ที่จะช่วยให้กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง

ทั้งนี้ “รัฐมนตรีฯ พาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย” ได้แสดงบทบาทของ “ประธาน” ในการประชุมครั้งนี้ได้อย่างระดับนานาชาติ จนเป็นที่ชื่นชมและยกย่องจากบรรดารัฐมนตรีเศรษฐกิจ-พาณิชย์อาเซียนทุกคนที่เดินมาจับมือแสดงความยินดีกับความสำเร็จ!
กำลังโหลดความคิดเห็น