xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.เน้นมาตรการเชิงรุก ปรับเว็บไซต์ให้ติดตามคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่าในเดือนก.ย.นี้ สำนักงานป.ป.ช.จะปรับปรุงเว็บไซต์ของป.ป.ช.ใหม่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบความคืบหน้าการทำงานของ ป.ป.ช.ได้ง่ายขึ้น โดยใครก็ตามที่มาร้องเรียน จะได้รับรหัส สำหรับเข้าเว็บไซต์ของป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าในคดีที่ตนเป็นผู้ร้องได้ตลอดเวลา เช่น คดีนี้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว เหลือสอบพยานอีกกี่ปาก ฯลฯ แต่จะไม่ลงรายละเอียดลึกไปถึงขนาดว่าใคร ให้การว่าอย่างไร หรือไม่ลงรายละเอียดในตัวสำนวน เพื่อไม่ให้กระทบกับรูปคดี ส่วนคดีเก่าๆ ที่ร้องมาก่อนเดือนก.ย. ก็จะพยายามไล่นำข้อมูลไปใส่ในเว็บไซต์ ให้ครบทุกคดี
"การเปิดเผยข้อมูลเข่นนี้ของป.ป.ช. เป็นการแสดงความรับผิดชอบของเราด้วย ว่าคดีคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ไม่ใช่หายต๋อมไปเลย ที่สำคัญยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของป.ป.ช.ด้วย เพราะมีผู้ใหญ่บางท่านมาบอกกับเราว่า การทำงานของป.ป.ช. จะต้องเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศ" นายวิชา กล่าว และว่า ป.ป.ช.หลายประเทศ ก็ยอมเปิดเผยข้อมูลในคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือคดีใหญ่ๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่บอกเพียงผลของการประชุมว่า ชี้มูลอะไรบ้างเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มมาตรการป้องกันการทุจริตด้วย ไม่ใช่มัวแต่ไปไล่ปราบเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ป.ป.ช. ยังได้ตั้งคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ขึ้นมา โดยมีเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ไว้สำหรับแถลงข่าววาระการประชุมของป.ป.ช.ว่า ในสัปดาห์นั้นๆ จะมีคดีอะไรที่เข้าสู่การพิจารณาบ้าง
อย่างไรก็ตาม จะขอเวลาปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่า รูปแบบการแถลงข่าวจะเป็นเช่นใด ลงรายละเอียดได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ข้อมูลที่สื่อไปกับสาธารณะชนมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น
**เตรียมโอนคดีขรก.ให้ป.ป.ท.สางต่อ
นายวิชา ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการโอนคดีบางส่วน ให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่า คงต้องรอหลังจากกฎหมายฉบับใหม่ของ ป.ป.ช. ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้ก่อน จากนั้นป.ป.ช.จะมาสำรวจว่า มีคดีใดบ้างที่ต้องส่งให้กับป.ป.ท.ไปดำเนินการต่อ เนื่องจากกฎหมายใหม่ให้อำนาจป.ป.ช.ไต่สวนข้าราชการระดับผู้อำนวยการการ หรือตั้งแต่ซีแปดขึ้นไปเท่านั้น เท่าที่ประมาณเบื้องต้นน่าจะประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 2,400 คดี จากคดีที่ค้างอยู่ทั้งหมด 6,000 กว่าคดี ที่จะต้องโอนให้กับป.ป.ท.ไปดำเนินการต่อ
อย่างไรก็ตาม บางคดีแม้กล่าวหาข้าราชการระดับผู้อำนวยการกองลงมา แต่ถ้ามีข้าราชการระดับสูงกว่านั้นไปพัวพันด้วย ป.ป.ช. ก็อาจจะขอไว้ดูแลเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น