xs
xsm
sm
md
lg

พี่น้องหมื่นล้านเหรียญตระกูล“อัมบานี” เปิดศึกพิพาทกันเรื่องก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มุเคช อัมบานี และ อะนิล อัมบานี สองอภิมหาเศรษฐีหมื่นล้านดอลลาร์ชาวอินเดีย กำลังเพิ่มความเสื่อมเสียให้แก่ความเป็นพี่น้องถือกำเนิดจากครรภ์มารดาเดียวกันอีกแล้ว คราวนี้ด้วยข้อพิพาทเกี่ยวกับราคาขายก๊าซ อะนิลผู้น้องชาย (วัย 50 ปี) ระบุว่า เรื่องที่กำลังวิวาทกันนี้เป็น “เรื่องอื้อฉาวซึ่งใหญ่โตมโหฬารมาก” เพราะเกี่ยวข้องกับผลกำไรจำนวนถึง 10,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมุเคช (วัย 52 ปี) พี่ชายของเขาจะได้รับ จากการ “เบี้ยว” สัญญาที่ทำกับเขาเมื่อ 4 ปีที่แล้วฉบับหนึ่ง

สัญญาฉบับนี้เป็นการตกลงกันว่า บริษัท รีไลแอนซ์ อินดัสตรีส์ ลิมิเต็ด ของมุเคช (อาร์ไอแอล) จะส่งก๊าซเป็นจำนวนวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้แก่บริษัทพลังงานของอะนิลที่ชื่อว่า รีไลแอนซ์ เนเจอรัล รีซอร์สเซส ลิมิเต็ด ณ ระดับราคา 2.34 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู

แต่มาถึงตอนนี้มุเคชต้องการขายในราคา 4.20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยบอกว่าเป็นราคาที่รัฐบาลกำหนดขึ้นใหม่ ภายหลังจากที่มีการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับก๊าซ ที่บริษัทของเขาขุดเจาะขึ้นมาได้จากแปลง ดี6 ของแอ่งกฤษณะ-โกทาวารี ในอ่าวเบงกอล ทั้งนี้รัฐบาลคือเจ้าของก๊าซเหล่านี้ตัวจริง

ทางด้านอะนิลโอดครวญว่า การขึ้นราคามากมายเช่นนี้เป็นเรื่องไม่ยุติธรรม, ผิดกฎหมาย, และจะทำให้บริษัทอาร์ไอแอลได้กำไรอย่างมหาศาล โดยผู้ที่สูญเสียประโยชน์ไม่ใช่มีเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทของเขาที่มีเป็นจำนวนล้านๆ ราย ตลอดจนบรรดาผู้บริโภคเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงรัฐบาลด้วย

ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันพฤหัสบดี(30ก.ค.) ซึ่งได้อ้างข้อความจากอีเมลตอบโต้กันระหว่างพี่น้องคู่นี้ ทางอะนิลยังโต้แย้งว่า ราคาขายก๊าซตามที่ “รัฐบาลกำหนด” ซึ่งมุเคชอ้างนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริง

สองศรีพี่น้องคลานตามกันมาแห่งตระกูลอัมบานีคู่นี้ แม้จะอาฆาตพยาบาทกันมายาวนานแล้ว แต่ในคราวนี้พวกเขาอาจจะไปไกลเกินไป เพราะการทะเลาะเบาะแว้งกันล่าสุดนี้ พวกเขาได้ดึงลากเอาทั้งกระทรวงน้ำมันปิโตรเลียม, ศาลสูงสุด, ศาลสูงแห่งนครมุมไบ, พวกผู้นำทางการเมืองที่เป็นฝ่ายค้าน, รวมทั้งรัฐสภา เข้ามาในการวิวาทด้วย จนทำให้บรรดานักลงทุนรู้สึกวิตกว่า มันจะลุกลามใหญ่โตโดยไม่รู้จะลงเอยกันอย่างไร

อะนิลอ้างว่า กรณีพิพาทคราวนี้กระทบกระเทือน “ผู้ถือหุ้น 15 ล้านคน (ในบริษัทของเขา) และก็มีผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานระดับโลกอีกด้วย”

แต่ผู้จัดการอาวุโสด้านการตลาดในมุมไบผู้หนึ่งบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า พี่น้องอัมบานีกำลังทำตัวเองให้เป็นที่หัวเราะเยาะของคนอื่นเท่านั้น “ผู้คน [ในตลาด] ต่างพูดกันว่า พี่น้องคู่นี้กำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดเหมือนกับกำลังแย่งชิงทรัพย์สมบัติของคุณพ่อของพวกเขายังงั้นแหละ ทั้งที่ความจริงแล้วมันเป็นทรัพย์สมบัติของรัฐบาล” เขากล่าว

สองศรีพี่น้องคู่นี้อยู่ในภาวะสงครามกันมาตั้งแต่ปี 2005 แล้ว เมื่ออะนิลนำเอาบรรดากิจการที่ตัวเองดูแลอยู่ แยกออกมาจากบริษัทแม่ คือ รีไลแอนซ์ อินดัสตรีส์ ซึ่งบิดาของเขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น

กล่าวได้ว่าอินเดียอยู่ในอาการเบื่อหน่ายการทะเลาะเบาะแว้งของพี่น้องคู่นี้เต็มที ทั้งในหมู่นักลงทุนและแวดวงการเมืองต่างมีเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ให้หามาตรการระยะยาวที่จะทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะไม่ถูกครอบงำโดยธุรกิจครอบครัวแบบของพวกอัมบานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินของประเทศชาติอย่างบ่อน้ำมัน

แต่ความเป็นจริงยังคงมีอยู่ว่า กิจการที่สองพี่น้องครอบครองเวลานี้อยู่ในขั้นอักโขมโหฬารจริงๆ กลุ่มบริษัทต่างๆ ของพวกเขาเมื่อนำมารวมกันแล้วจะมีรายรับเกินกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และติดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างสบาย แล้วก็เลยเกิดความหวั่นเกรงกันมากขึ้นทุกทีว่า เรื่องราวของครอบครัวนี้ซึ่งพิสดารโลดโผนยิ่งกว่านิยายเสียอีก จะสร้างความอกสั่นขวัญผวาให้แก่พวกนักลงทุนที่กำลังเที่ยวมองหาผลตอบแทนงามๆ ไม่ได้อยากดูละตรน้ำเน่า

ความวิตกกังวลเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย กลุ่มรีไลแอนซ์-อะนิล ธีรุไภย อัมบานี กรุ๊ป ของอะนิล บอกว่าตนเองมีฐานผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนถึง 12 ล้านราย ถือว่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกทีเดียว ส่วนกลุ่ม รีไลแอนซ์ อินดัสตรีส์ ลิมิเต็ด กรุ๊ป ของมุเคช ก็เป็นบริษัทภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย โดยมีรายรับกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

จากตัวอย่างของการพิพาทระหว่างสองศรีพี่น้องคราวนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อเอ่ยชื่อ “อัมบานี” ขึ้นมา ย่อมชวนให้เรานึกไปถึงเรื่องราวตื่นเต้นเร้าอารมณ์, ความรู้สึกนึกรังเกียจ, การก่อเรื่องชวนทะเลาะขัดแย้ง, การต่อสู้แย่งชิงอำนาจ, การทำข้อตกลงแบบคลุมเครือไม่โปร่งใส เปรียบเทียบกับกลุ่มบริษัทอินเดียระดับยักษ์ใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง คือ “ทาทา” แล้ว ชื่อของกลุ่มหลังนี้จะทำให้คิดถึง “ความไว้วางใจได้” ขึ้นมาแทบเป็นอัตโนมัติทีเดียว

กลุ่มทาทาอาจจะมีจุดอ่อนข้อบกพร่องและทำความผิดพลาดเหมือนคนอื่นๆ ทว่าในฐานะที่เป็นนักหนังสือพิมพ์อาชีพมา 17 ปี ผมไม่เคยได้ยินใครสักคนกล่าวหากลุ่มทาทาว่าทุจริตฉ้อโกง, ติดสินบนนักการเมืองและนักข่าว, และหลอกลวงผู้บริโภคโดยจงใจเรียกเก็บเงินแพงเกินจริง นอกจากนั้น กลุ่มนี้ยังไม่เคยถูกครหาว่าไปตั้งบริษัทบังหน้าขึ้นตามศูนย์การเงินออฟชอร์ อย่างเช่น ไอล์ออฟแมน เพื่อการลงทุนและหลบเลี่ยงการเสียภาษี, ใช้วิธีออกใบหุ้นซ้ำซ้อนตลอดจนใช้ข้อมูลภายในเพื่อปั่นราคาในตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์, หรือจัดทำบัญชีปลอมเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่อง Gas clash fuels Ambani divide ของ Raja Murthy)
กำลังโหลดความคิดเห็น