xs
xsm
sm
md
lg

เปรียบ “ฎีกา 2531” กับ “ฎีกา 2552” ใครพัฒนา ใครทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ฎีกา 2531 ในที่นี้ หมายถึงการยื่นถวายฎีการ้องทุกข์ของนักวิชาการปัญญาชนจำนวน 99 คน ในปี 2531 ช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ลงรายชื่อ เช่น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร, ชัยอนันค์ สมุทวณิช, ประเวศ วะสี, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ธงทอง จันทรางศุ, พันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นต้น

ส่วนฎีกา 2552 หมายถึงหนังสือที่แกนนำเสื้อแดงใช้นำไปเคลื่อนไหวปลุกระดม ล่ารายชื่อประชาชนอยู่ในขณะนี้ (พ.ศ.2552) โดยอ้างว่า จะนำหนังสือดังกล่าวไปยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม

การกระทำทั้ง 2 ประการในข้างต้นนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างเจตนา ต่างเหตุผล และรูปการแห่งพฤติกรรม ก็ยังแตกต่างกันอย่างมากอีกด้วย

เรียกว่า ต่างกันราวฟ้ากับเหว

1. การถวายฎีกา 2531 ผมเป็น 1 ใน 99 ที่ร่วมลงชื่อครั้งนั้น (ซึ่งมี ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นแกนนำในการยกร่างและดำเนินการ) ยืนยันได้ว่า นักวิชาการแต่ละคนที่ร่วมลงชื่อ ต่างมีจุดยืน มีเหตุผล และได้ใช้วิจารณญาณของตนเองอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยปราศจากผลประโยชน์แอบแฝงทางการเมือง ปราศจากอามิสสินจ้าง หรือการปลุกระดมบิดเบือนข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น

เจตนาของแต่ละคนที่ร่วมลงชื่อ อาจจะแตกต่างกันไปในรายละเอียด หากแต่ในมุมมองส่วนตัว ภายหลังพิจารณา “เนื้อหาสาระถ้อยคำในฎีกา” แล้ว ก็ร่วมลงชื่อ พูดกันตรงๆ ก็คือว่า ขณะนั้น ไม่ต้องการให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก หลังจากที่เป็นมาแล้ว 8 ปี โดยที่ท่านไม่ได้เป็น ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง แม้บรรดา ส.ส.หรือหัวหน้าพรรคการเมืองจะเป็นฝ่ายไปเชิญให้ท่านมาเป็นนายกฯ ด้วยเล็งเห็นในศักยภาพ บารมี และความสามารถของท่านก็ตาม

แม้จะยอมรับว่า ที่ผ่านมา การบริหารราชการแผ่นดินในยุคพลเอกเปรมทำให้ประเทศชาติสามารถผ่านอุปสรรคและปัญหาร้ายแรงมาได้อย่างเหมาะสมและน่ายกย่อง ตัวนายกรัฐมนตรีก็ไม่ปรากฏปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น แต่ในแง่ของการพัฒนาประชาธิปไตยแล้ว หากต้องการเห็นการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้า หรือดีกว่านี้ขึ้นไปอีก ก็เห็นว่าจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

โดยส่วนตัว ในฐานะผู้หนึ่งที่ลงชื่อในฎีกา 2531 จึงหวังว่า การถวายฎีกาต่อองค์พระประมุขของประเทศในครั้งนั้น น่าจะทำให้พลเอกเปรมได้ตระหนักรู้ถึงสภาวะแห่งปัญหาของส่วนรวม และพิจารณาตัวเองด้วยการแก้ปัญหาหรือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ในฎีกา ก็ไม่เคยไปกำหนดแนวทางแห่งพระราชวินิจฉัยเอาไว้เลย

ทั้งหมดของเนื้อหาในฎีกา 2531 มีถ้อยคำระบุว่า

“ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ ขอพระราชทานวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ถวายความเห็นเกี่ยวด้วยสภาพการณ์และสถานการณ์บ้านเมืองดังนี้

1.ความวุ่นวายสับสนในทางการเมือง ความเสื่อมในศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ การแตกแยกสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการและประชาชน เนื่องจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล มิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศ มาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล จนก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนเกินความจำเป็น

2.หากประเทศชาติต้องการดำเนินตามครรลองประชาธิปไตย แบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริงแล้ว การวางตนเป็นกลางของผู้นำทางการเมือง การยึดมั่นในความเป็นธรรม หลักการสันติวิธีในการปรับความเข้าใจและแก้ไขความขัดแย้ง การละเว้นวิธีการปลุกปั่นยุยงหมู่ชน จึงจะเป็นหนทางที่เหมาะสม ในการป้องกันสภาพการณ์ และสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา อีกทั้งจะเป็นบรรยากาศทางการเมือง ที่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและลักษณะของสังคมไทยด้วย

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชกทานพระบรมราชวโรกาส ยืนยันความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันหลักของชาติ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนอกกติกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรัฐประหาร หากพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อให้บ้านเมืองเป็นธรรม มีขื่อมีแป ร่มเย็นเป็นสุข มีส่วนมีเสียง

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมขอเดชะ”

จะเห็นว่า ไม่มีถ้อยคำที่จะระบุให้มีพระราชทานอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ตัวพลเอกเปรมเลยแม้แต่น้อย แต่ทั้งหมด เป็นการถวายความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองทั่วไป เพื่อมุ่งให้ทรงทราบ และพิจารณาวินิจฉัยไปตามแต่จะทรงโปรดฯ เพื่อประโยชน์แห่งส่วนรวมเป็นสำคัญ

ไม่มีการถวายความเห็นหรือคำแนะนำในลักษณะว่า จะต้องปลดพลเอกเปรม หรืออภัยโทษแก่พลเอกเปรม หรือช่วยเหลือพลเอกเปรม

ประการสำคัญ ฎีกา 2531 ไม่มีการกดดันพระราชวินิจฉัย หรือแม้แต่ขบวนการปลุกระดมล่ารายชื่อประชาชนนับล้าน เพื่อแสดงความต้องการตามคำร้องขอตามฎีกา เหมือนอย่างที่ขบวนการเสื้อแดงของทักษิณกำลังกระทำอยู่ในขณะนี้

2. ฎีกา 2531 ไม่ได้เป็นการขับไล่นายกรัฐมนตรีที่ชั่วช้า เพราะนายกฯ ในขณะนั้นไม่ใช่คนชั่วช้า ไม่ใช่ผู้ต้องคำพิพากษาของศาล ไม่ใช่ผู้ร้ายหลบหนีคดี ฯลฯ ตรงกันข้าม พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมากมาย แต่เหตุที่ต้องยื่นฎีกาดังกล่าว ก็เพราะต้องการเห็นระบบการเมืองส่วนรวมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นไปอีก

แตกต่างจากการปลุกระดมถวายฎีกาของขบวนการเสื้อแดงทักษิณอย่างหน้ามือเป็นหลังเท้า

ขบวนการทักษิณกำลังจะยื่นถวายฎีกา เพื่อช่วยเหลือตัวบุคคล คือ อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ หรือคอรัปชั่น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองอย่างเลวร้ายที่สุด ดังปรากฏทั้งคำพิพากษาของศาลฎีกา และคดีทุจริตอย่างมโหฬารที่อยู่ในขั้นตอนและกระบวนการยุติธรรม (หลายคดีอยู่ในชั้นศาล)

ถึงกระนั้น ขบวนการเสื้อแดงก็จะขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษหลบหนีคำพิพากษาของศาล ซึ่งยังไม่ได้รับโทษตามคำพิพากษาเลย ไม่ได้สำนึกในการกระทำผิดของตนเลย และไม่ได้มาลงชื่อขอพระราชทานอภัยโทษด้วยตนเอง หรือแม้แต่ลูกเมียญาติพี่น้องก็ไม่ได้ให้มาลงชื่อ โดยเจตนาไม่ต้องการกระทำให้ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายบ้านเมือง

3. ฎีการ้องทุกข์ 2531 มีเจตนาต้องการจะเห็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงดำเนินการขั้นตอนกระบวนการตามกฎหมายทุกประการ

แต่การกระทำของขบวนการเสื้อแดงของทักษิณในขณะนี้ ส่อเจตนาตรงกันข้าม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาการกระทำของทักษิณ และขบวนการเสื้อแดงโดยตลอดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนอยู่ในคำพิพากษาของศาลอาญา ที่ให้ยกฟ้องในคดีที่ทักษิณฟ้องหมิ่นประมาทนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรณีถูกกล่าวหาว่าอยากกลับมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งในคำพิพากษาระบุในทำนองว่า สิ่งที่นายสุเทพพูดนั้น ก็ไม่ได้ปราศจากมูลเหตุและข้อเท็จจริง

ประกอบกับขบวนการปลุกระดมถวายฎีกาในครั้งนี้ กระทำไปโดยผิดขั้นตอน ผิดกฎหมาย โดยมีเจตนาเล็งเห็นอยู่แล้วว่า ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาในทางหนึ่งทางใด หรือแม้แต่ไม่สามารถจะพระราชทานลงมาได้เพราะความที่เป็นฎีกาผิดกฎหมาย ก็จะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งรู้สึกผิดหวังหรือเสียใจต่อบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ประชาชนเหล่านั้นอาจสำคัญผิดไปในระหว่างการให้ข้อมูลปลุกระดมของแกนนำเสื้อแดง เพราะในความเป็นจริงแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การกระทำของขบวนการเสื้อแดงทักษิณในครั้งนี้ จึงส่อเจตนาว่า ต้องการให้เกิดการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท กระทบกระเทือนต่อพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ กดดัน สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมือง สอดรับกับพฤติการณ์การเคลื่อนไหวจาบจ้วงล่วงละเมิดของขบวนการเสื้อแดงที่ผ่านมา

4. ในการถวายฎีกา เมื่อปี 2531 นั้น เมื่อนักวิชาการลงชื่อครบ 99 คน เป็นการเซ็นชื่อด้วยลายมือ และไม่มีการเขียนกำกับด้วยตัวบรรจงว่าเป็นลายมือชื่อของใคร แต่ผู้ช่วยวิจัยของนักวิชาการผู้ดำเนินการคนหนึ่ง มีเจตนาดี ต้องการให้เกิดความชัดเจน สวยงาม และเป็นทางการ จึงได้ไปพิมพ์ชื่อตัวบรรจงกำกับไว้ที่ลายเซ็นของแต่ละคน ปรากฏว่า เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่ลายเซ็นหนึ่ง เพราะอ่านไม่ชัดว่าชื่ออะไร จึงใช้วิธีคาดเอาจากลายเซ็นที่เห็น แล้วพิมพ์ว่าเป็นชื่อ “ตฤน” (อธิการบดี จุฬา ในขณะนั้น) ซึ่งตอนหลัง ปรากฏว่า อาจารย์ตฤนได้ออกมาปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้ร่วมลงชื่อ เป็นเหตุให้ น.ต.ประสงค์ สุนศิริ เลขานายกฯ (ในขณะนั้น) ประกาศจะดำเนินการตรวจสอบเอาผิดอย่างเด็ดขาดกับกระบวนการที่บังอาจแอบอ้างเอาลายเซ็นคนอื่นมาอ้างถวายฎีกา

ขณะนั้น ผมไปตรวจสอบดูข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ลายเซ็นเจ้าปัญหาเป็นลายมือชื่อของ “เสริน ปุณณะหิตานนท์” จึงได้ติดต่ออาจารย์เสริน สอบถามว่าท่านยินดีจะแถลงข่าวหรือให้ข้อเท็จจริงหรือไม่ เมื่อทราบว่าท่านยินดี ก็ได้นัดสื่อมวลชนไปที่บ้านของอาจารย์เสริน อาจารย์เสรินจึงได้แถลงยืนยันว่าตนเองเป็นผู้เซ็นดังกล่าวจริง พร้อมกับเซ็นให้ดูอีกครั้ง เรื่องจึงยุติ

สะท้อนว่า ความถูกต้องของผู้ลงชื่อเป็นเรื่องสำคัญมาก

กรณีการปลุกระดมชื่อคนจำนวนมากมาลงชื่อถวายฎีกาของขบวนการเสื้อแดงทักษิณในขณะนี้ คงจะต้องถูกตรวจสอบในกระเป็นเหล่านี้เช่นกัน


5. วันที่ 1 ก.พ. 2549 กลุ่มนักวิชาการ นำโดยอาจารย์ปราโมทย์ นาครทรรพ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ฯลฯ ได้มีการประชุมระดมความเห็นที่โรงเรียนวชิราวุธ มีการยกร่างฎีกา ตั้งใจจะถวายฎีกาโดยคิดจะทำเหมือนฎีกาเมื่อปี 2531 แต่ครั้งนี้ จะร้องทุกข์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีพฤติการณ์ทุจริตประพฤติมิชอบเลวร้ายอย่างไร หากอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติอย่างไร และเกิดความแตกแยกวุ่นวายในบ้านเมืองเพียงใด

แต่สุดท้าย อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ บอกในที่ประชุมว่า ไม่สมควรจะถวายฎีกา เอาแค่ทำหนังสือถึงทักษิณโดยตรงก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะ อ.จอนยังหวังว่าทักษิณจะมีสำนึก หิริโอโอตตัปปะ หรือเห็นแก่ประเทศชาติส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เมื่อได้รับหนังสือที่มีนักวิชาการจำนวนมากลงชื่อ ก็คงจะลาออก หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใด

หนังสือดังกล่าว ตอนแรก ตั้งใจจะเซ็นชื่อแค่ 99 คน แต่ปรากฏว่า นักวิชาการไม่ยอมหยุดอยู่แค่ 99 คน แต่มีการเสนอตัวเข้ามาขอเซ็นชื่อด้วย ทะลุไปร้อยกว่าคน แต่สุดท้ายก็ไม่มีผล เพราะไม่ทำให้คนชื่อทักษิณหยุดพฤติการณ์ของตนเองลงได้

แตกต่างจากพลเอกเปรม ซึ่งหลังจากที่มีการถวายฎีกาที่มีนักวิชาการลงชื่อ 99 คนไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ จะด้วยความที่พลเอกเปรมท่านตั้งใจเอาไว้แล้ว หรือฎีกาดังกล่าวนั้นจะมีผลเพียงใดก็ตาม ปรากฏว่า ในค่ำวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 เมื่อแกนนำพรรคการเมือง 5 พรรค เข้าพบที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อขอให้ พล.อ.เปรมกลับไปเป็นนายกฯ อีกครั้ง แต่ พล.อ.เปรมก็ออกมากล่าวด้วยตนเองว่า

“ขอบคุณ แต่ผมพอแล้ว ขอให้พวกคุณทำกันต่อไป และผมอยากเห็นประชาธิปไตยเดินหน้า...”

กล่าวโดยสรุป ฎีกาเมื่อปี 2531 ลงชื่อโดยนักวิชาการ 99 คน แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เรียกว่าฎีกาของขบวนการเสื้อแดงทักษิณในวันนี้

ฎีกา 2531 เป็นฎีการ้องทุกข์ เพื่อมุ่งพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินการตามขั้นตอนวิธีการตามกฎหมายทุกประการ แต่ฎีกาของเสื้อแดง ไม่ดำเนินการตามช่องทางและขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ เนื้อหาของฎีกาเสื้อแดงทักษิณ ยังเป็นการขอให้พระมหากษัตริย์ลบล้างคำพิพากษาของศาลฎีกา เพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อไม่ให้ต้องรับโทษตามคำพิพากษา ซึ่งมิใช่การอภัยโทษตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการทำลายระบบนิติรัฐ และจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างร้ายแรง

ยิ่งกว่านั้น การปลุกระดมถวายฎีกาดังกล่าว ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ทำให้พสกนิกรรู้สึกต่อบทบาทของสถาบันพระกษัตริย์ไปในทางที่มีบังควร กระทบกระเทือนต่อพระบารมี และความยางยืนของสถาบันเบื้องสูงสืบไป
กำลังโหลดความคิดเห็น