xs
xsm
sm
md
lg

“ไข่แม้ว” ศรีธนญชัยอ้างค้านถวายฎีกา ขวางพระราชอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทนาย “ทักษิณ” งัดตำรา-ความเห็นนัก กม.ระดับชาติ ยันถวายฎีกาพระเจ้าแผ่นดิน ทำได้ อ้างคำพูด “บวรศักดิ์-วิษณุ” โต้แย้งรัฐบาล ขู่ขวางฎีกาประชาชนเข้าข่ายปฏิเสธและขัดขวางการใช้พระราชอำนาจ

วันนี้ (31 ก.ค.) นายพิชิต ชื่นบาน ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์โต้แย้งกรณีที่นายกรัฐมนตรี นักการเมือง นักวิชาการ นักกฎหมาย หลายฝ่าย ระบุว่า การลงชื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาของประชาชน เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถทำได้ จากเหตุผลหลายประเด็น โดยอ้างอิงจากความเห็นทางกฎหมายของบุคคลหลายฝ่ายที่ทรงคุณวุฒิ เช่น ความเห็นของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการ ครม.ในสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก หน้า 264 ว่า “รัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ โดยไม่ได้ระบุว่า เป็นโทษประเภทใด ขอบเขตพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ จึงมีความหมายกว้าง โดยรวมทั้งโทษอาญาและโทษทางวินัย หรือทัณฑ์ตามกฎหมายอื่นด้วย พระมหากษัตริย์จึงอาจใช้พระราชอำนาจ พระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ เปลี่ยนโทษ แก้ผู้ถูกลงโทษทางวินัยหรือทัณฑ์อื่นได้” นอกจากนี้ ยังนำความเห็นของ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ กรณีข้อสงสัยการขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นผู้ต้องโทษถูกนำตัวไปอยู่ในเรือนจำเสียก่อนแล้วจึงขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ซึ่ง นายวิษณุ ระบุว่า “แม้เป็นกรณีโทษจำคุกรอลงอาญาก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้”

นายพิชิต ยังหยิบยกมาตรา 259 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาโต้แย้งว่า ผู้ยื่นฎีกาจะยื่นผ่านกระทรวงยุติธรรมหรือไม่ก็ได้ กฎหมายไม่ได้บังคับ ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถยื่นทูลเกล้าฯถวายโดยตรงที่สำนักราชเลขาธิการได้ นอกจากนี้ ยังระบุถึงผู้ที่มีสิทธิยื่นถวายฎีกตามมาตราดังกล่าว ว่า “ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ” หรือ “ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง” มิได้ระบุว่าต้องเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน สามี หรือภรรยา ฉะนั้น ประชาชนน่าจะยื่นทูลเกล้าฯถวายฎีกาได้ ในแถลงการณ์ได้ยกตัวอย่างมาประกอบข้อโต้แย้งดังกล่าว จาก “กรณีวิกฤตตุลาการ” ช่วงปี 2534-2535 ที่ข้าราชการตุลาการถูกลงโทษทางวินัย 11 คน นำไปสู่การยื่นถวายฎีกาโดยผู้ถูกลงโทษทั้ง 11 คน รวมทั้งฎีกาของผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นอีกรวม 193 คน จนในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณลดหย่อนผ่อนโทษ

นายพิชิต ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่พรรคภูมิใจไทย และรัฐบาลออกมาต่อต้านการยื่นถวายฎีกา ว่า อาจจะกลายเป็นการขัดขวางการใช้พระราชอำนาจและปฏิเสธพระราชอำนาจของพระองค์ได้ อีกทั้งจะทำให้ประชาชนเกิดความแตกแยกกันมากขึ้น หากปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้วทุกฝ่ายต้องน้อมรับ การกระทำของรัฐบาลจึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และอาจลืมนึกไปว่าการพระราชทานอภัยโทษนั้น นอกจากจะมีในส่วนที่เป็นกฎหมายแล้ว ยังมีในส่วนของพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณีด้วย และการที่ฝ่ายการเมืองออกมาระบุว่าการขอพระราชทานอภัยโทษ ผู้นั้นต้องได้รับโทษและต้องสำนึกผิดก่อนนั้น เป็นการพูดความจริงไม่หมด เป็นการพูดถึงวัตถุประสงค์การลงโทษเพียงเรื่องเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น