xs
xsm
sm
md
lg

"ทนายแม้ว"โต้"บวรศักดิ์"เฉไฉขุดฏีกาปี 31 แก้ต่าง ยังแถถวายฎีกาได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิชิต ชื่นบาน ทนายความนักโทษหนีคดีทักษิณ ชินวัตร
“ทนายถุงขนม”ทาสแม้ว ออกแถลงการณ์โต้บทความ “บวรศักดิ์” แถมขุดฎีกา 99 นักวิชาการสมัยปี 2531 ที่ค้าน“ป๋าเปรม” นั่งตำแหน่งนายกฯ ย้อนถามเป็นฎีกาการเมืองหรือฏีกาโกลาหลหรือไม่ อ้างทั้ง“บวรศักดิ์-ธงทอง-เจิมศักดิ์” ก็ลงชื่อ แถฏีกาขออภัยโทษ “นช.ทักษิณ” หวังขอพระราชอำนาจให้บ้านเมืองสงบสุขเช่นกัน

วันนี้(8 ส.ค.) นายพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยถูกจำคุก 6 เดือนจากคดีนำเงินใส่ถุงขนม 2 ล้านบาทติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาล ออกแถลงการณ์ฉบับที่สองแสดงความเห็นที่แตกต่างเรื่อง “การใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาตามกฎหมายและประเพณีของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต” ความยาว 20 หน้ากระดาษ เนื้อหาใจความสำคัญว่า สืบเนื่องจากมีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักการเมืองจากซีกรัฐบาล ได้ทำการโต้แย้งคัดค้านต่อการใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ในลักษณะที่เป็นพฤติกรรมข่มขู่เพื่อหวังผลให้ผู้ดำเนินการยุติในเรื่องลงชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา โดยวิธีการลดความน่าเชื่อถือของฎีกา ด้วยความพยายามขยายความบางประเด็นของสาระที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและประเพณีของไทย และชี้นำให้เห็นว่ามีจุดผิดพลาดในการเสนอเหตุผลและแสดงความเห็นผ่านข้อมูลจากวรรณกรรมต่างๆ ที่นำมาใช้อ้างอิง แต่แอบแฝงด้วยวาทกรรมในด้านต่างๆ ดังนั้นได้ตรวจสอบบทความเรื่องการใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาตามกฎหมายและประเพณีของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ แล้วพบว่า การอ้างข้อกฎหมายมีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในหลายประการ

นายพิชิต กล่าวอีกว่า ตัวอย่างประเพณีในการยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ประชาชนผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องระดับนักวิชาการของประเทศจำนวน 99 คนได้ทำเป็นแบบอย่างประเพณีไว้ คือ เหตุการณ์ยื่นฎีกาในเดือน มิ.ย.2531 ขณะนั้นพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อตรวจสอบรายชื่อในจำนวนนักวิชาการแล้วพบว่า ศ.ดร.บวรศักดิ์ เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เป็นผู้ร่วมลงลายมือชื่อ นอกจากนี้ยังปรากฏรายชื่อของ ศ.ธงทอง จันทรางสุ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โดยเนื้อหาฎีกากล่าวถึงความวุ่นวายสับสนทางการเมือง การแตกแยกความสามัคคีในหมู่ทหาร ข้าราชการและประชาชน ก็เนื่องมาจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาลมิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง แต่กระทำการแอบอิงสถาบันหลักของบ้านเมือง ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติ ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศมาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคลจนทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก

"จากเนื้อหาของฎีกา ผมจึงอยากถาม ศ.ดร.บวรศักดิ์ว่าฎีกาของพวกท่านเป็นฎีกาประเภทใด จะเป็นฎีกา “การเมือง” หรือ “ฎีกาโกลาหล” อย่างที่ท่านเรียกฎีกาของประชาชนที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้หรือไม่ การที่ประชาชนร่วมกันยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา กล่าวถึงความทุกข์แสนสาหัสจากปัญหาเศรษฐกิจ มีการยึดอำนาจโดยเผด็จการ จัดตั้งรัฐบาลไม่ชอบธรรมและได้กล่าวถึงความมุ่งหวังให้เกิดความสามัคคีในชาติ นอกเหนือจากขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ ตนจึงเห็นต่างกับ ศ.ดร.บวรศักดิ์ ว่าฎีกานี้มิใช่ฎีกาการเมือง หรือฎีกาโกลาหลตามที่กล่าวหา แต่เป็นการทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ขอพระบรมราชานุเคราะห์และฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในฉบับเดียวกัน จึงน่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้ตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่เรียกว่าโบราณราชประเพณี"

นอกจากนี้การที่ ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวอ้างพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาซึ่งตราขึ้นโดยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2457 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2477 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2478 เป็นต้นไปตาม ม.3 และม.4 ซึ่งไม่เชื่อว่าผู้รู้ระดับ ศ.ดร.บวรศักดิ์ จะไม่รู้ว่ามีการยกเลิกและไม่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน จึงอยากให้บุคคลทุกฝ่ายที่เข้าใจสภาพปัญหานี้ช่วยกันตรวจสอบว่าเพราะเหตุใดเมื่อกฎหมายถูกยกเลิกไปแล้ว ศ.ดร.บวรศักดิ์ จึงยืนยันว่า ยังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน เพื่อพิสูจน์ว่าข้อยืนยันในเรื่อง“สัจจะ”ของหลักวิชาการทางกฎหมายของศ.ดร.บวรศักดิ์ ยังมีอยู่หรือไม่

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.259 บัญญัติว่าเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษจะยื่นต่อ รมว.ยุติธรรมก็ได้ ถ้อยคำว่า “ก็ได้” แสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่บังคับให้ยื่นผ่าน รมว.ยุติธรรมเท่านั้น เมื่อกฎหมายไม่ได้บังคับรูปแบบ หลักเกณฑ์และวิธีการ จึงต้องถือตามราชประเพณีโบราณที่มีมาแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากนี้คำขอถวายฎีกาของประชาชนยังไม่มีถ้อยคำใดคัดค้านคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด นอกจากนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.259 ผู้มีสิทธิยื่นเรื่องราวนอกจากผู้ต้องโทษเองแล้วกฎหมายใช้คำในลักษณะรวมๆ กันว่า “ผู้ที่มีประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง” เมื่อพิจารณาประกอบกับกรณีวิกฤตตุลาการที่มีผู้พิพากษา 193 คนร่วมทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแล้วเห็นว่า ประชาชนที่ร่วมลงชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในคราวนี้มีความชอบด้วยกฎหมาย

"ผมเห็นว่าเนื้อหาของการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ได้ยืนยันเนื้อหาเพื่อมุ่งหวังให้เกิดความสามัคคี สมานฉันท์ในชาติ และวรรคสุดท้ายของคำขอถวายฎีกายอมรับว่าสุดแต่พระบรมราชวินิจฉัย ดังนั้นเห็นว่านายกรัฐมนตรี รมว.ยุติธรรม รมว.มหาดไทยและบุคคลในรัฐบาลตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากเห็นแตกต่างในประการใดก็ควรจัดทำบันทึกถวายความเห็น ไม่ควรที่จะใช้วิธีการใดๆ ระงับการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา หรือกระทำการใดๆให้สถานการณ์เลวร้าย ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและขยายขอบเขตปัญหาออกไปไม่สิ้นสุด" พิชิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แถลงการณ์ของนายพิชิตดังกล่าว เป็นการแก้ต่างต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อการล่าชื่อถวายฎีกาของคนเสื้อแดงเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีลักษณะที่ผิดจารีตประเพณีและขั้นตอนปฏิบัติ เนื่องจากมีการนำเอาฎีการ้องทุกข์ไปปนกับฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และแทนที่จะให้ตัวนักโทษหรือญาติพี่น้องดำเนินการให้ กลับมีการล่ารายชื่อประชาชนจำนวนมากมาร่วมถวายฎีกาซึ่งถือเป็นการกดดันพระบรมราชวินิจฉัย นอกจากนี้ในเนื้อหาของฎีกายังมีข้อความที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดเบื้องสูง และมีลักษณะการคัดค้านคำพิพากษา เช่น บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกตัดสินในคดีที่ดินรัชดาฯ โดยไม่เป็นธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น