xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าเกษตรอินทรีย์ตัวแปรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -เผยมูลค่าการค้าเกษตรอินทรีย์ปีนี้กว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ มั่นใจขยายตัวทั่วโลกพุ่งสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553 ชี้พฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันคำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ย้ำเป็นโอกาสทางการตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผู้ประกอบการทั่วโลกต่างให้ความสนใจ

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากความตื่นตัวในเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ส่งผลให้สินค้าเกษตรอินทรีย์กลายเป็นกลุ่มสินค้ากระแสหลักที่มีความสำคัญและมีศักยภาพอย่างมาก ตัวเลขความต้องการสินค้าดังกล่าวในตลาดสำคัญ เช่น ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในยุโรป ปี 2550 มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17 โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 16,000 ล้านยูโร ประเทศสหรัฐอเมริกา ขยายร้อยละ 18 มีมูลค่าตลาดประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทางด้านตลาดในประเทศญี่ปุ่นก็มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ 632,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 12 ส่วนประเทศออสเตรเลีย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามอง เพราะมีอัตราการเติบโตของผู้ต้องการบริโภคอาหารปลอดภัยสูงขึ้นอย่างเด่นชัด ด้วยมูลค่าการตลาด 230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 14

ขณะที่มูลค่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่บริโภคภายในประเทศและส่งออกของไทยปี 2551 มีประมาณ 3,300 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2552 จะมีมูลค่าของตลาดประมาณ 3,600 ล้านบาท แม้จะเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับตลาดโลก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงช่องว่างทางการตลาดขนาดใหญ่สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย

ในส่วนของ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเล็งเห็นถึงโอกาสอันดีในการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่วงจรการค้าเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มกำลัง จึงได้มีการกำหนดแผนพัฒนาตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยทั้งภายในและต่างประเทศ ด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การพัฒนาความสามารถผู้ประกอบการ ขยายตลาดในประเทศและเชื่อมโยงตลาดสู่การส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าแบบครบจงจร โดยที่ผ่านมาได้จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาด อาทิ การฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเจรจาการค้ากับคณะผู้แทนการค้าจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษาโมเดลต้นแบบของชุมชนเกษตรอินทรีย์ หรือ ออร์แกนิค คอมมูนิตี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และล่าสุดคือประเทศออสเตรเลีย เพื่อนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้สำหรับผลักดันให้เกิดชุมชนเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงการรวบรวมร้านค้าจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบต่างๆ เช่น สปาที่ให้บริการนวดแบบใช้น้ำมันหอมจากสมุนไพร ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ และร้านหนังสือมาไว้ในแหล่งเดียวกัน

สำหรับโครงสร้างของออร์แกนิค คอมมูนิตี้ ที่เหมาะกับประเทศไทยนั้น แบ่งออกเป็น รูปแบบที่หนึ่ง ได้แก่ การจัดแหล่งจำหน่ายใกล้ผู้บริโภค เหมาะสำหรับการผลักดันให้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ซึ่งมีความต้องการและกำลังในการซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ รูปแบบที่สอง คือ การเปิดแหล่งจำหน่ายใกล้กับแหล่งผลิต ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาศักยภาพและความเป็นไปได้ของพื้นจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ประชากรกลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อ และอยู่ใกล้กับแหล่งผลิต ถือเป็นแนวทางในการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ และเปิดโอกาสให้สินค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคภายในประเทศได้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ ไทยประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและเวทีการค้าสากล
กำลังโหลดความคิดเห็น