“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ติดลบ 3.3% จากราคาอาหาร และพลังงาน ส่วนเงินเฟ้อในช่วง 5 เดือนแรกของปี 52 ติดลบ 1.1% เป็นผลจากนโยบายลดค่าครองชีพ และมาตรการกระตุ้น ศก.ชุดแรก มั่นใจไม่เกิดภาวะเงินฝืด พร้อมคาด ครึ่งปีหลังเงินเฟ้อจะปรับตัวเป็นบวก
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ 104.3 ลดลง 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2551 และลดลง 0.3% จากเดือนเมษายน 2552 ส่วนตัวเลข CPI เฉลี่ยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2552) ลดลง 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงาน ในเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 102.3 ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2551 และลดลง 0.6% จากเดือนเมษายน 2552 แต่ Core CPI เฉลี่ยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2552) ยังเพิ่มขึ้น 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ 116.9 สูงขึ้น 0.1% จากเดือนเมษายน 2552 และสูงขึ้น 4.2% จากพฤษภาคม 2551 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 96.2 ลดลง 0.5% จากเดือนเมษายน 2552 และลดลง 8.6% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2551
รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ลดลงจากปีก่อน 3.3% หากเทียบกับฐานการคำนวณอัตราเงินเฟ้อใหม่จะถือว่าติดลบสูงสุดในรอบ 2 ปี แต่ถ้าเป็นฐานการคำนวณเดิมจะถือว่าติดลบสูงสุดในรอบ 10 ปี
สาเหตุสำคัญที่ CPI เดือนพฤษภาคม 2552 ปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงของดัชนีราคาในหมวดยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การศึกษา ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ที่เป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตลอดจนราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
รองปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า การที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยจะไม่ทำให้เกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดมาตรการลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน และราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
“ช่วงครึ่งปีหลังหากมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชนหมดไป คาดว่าราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น พร้อมเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดภาวะเงินฝืด คาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวเป็นบวกตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 0-0.5%”