xs
xsm
sm
md
lg

ส่องธุรกิจไตรมาส2หดตัว แบงก์เมินปล่อยกู้เว้นภาครัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเผยไตรมาส 2 แบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ลดลงจากไตรมาสแรก 1.07 แสนล้าน โดยลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลสินเชื่อหดตัวมากที่สุด 72% ในแง่ปริมาณเงิน ธุรกิจการผลิตติดโผยอดเงินลดลง 6.11 หมื่นล้าน ส่วนภาคธุรกิจอุปโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 3.25 หมื่นล้าน

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแยกตามประเภทธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบล่าสุดในไตรมาส 2 ของปี 2552 พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งสิ้น 7.48 ล้านล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 1.07 แสนล้านบาท หรือลดลง 1.41% แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนกลับเพิ่มขึ้น 5.26 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 7.56%

ในไตรมาสนี้ภาคธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ลดลง โดยในแง่ของสัดส่วนลดลงมากที่สุด คือ ลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลดลง 72% รองลงมาเป็นธุรกิจการทำเหมืองแร่และถ่านหิน 14.01% และธุรกิจเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ลดลง 9.10% ธุรกิจการให้บริการชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ 6.65% และภาคก่อสร้าง 6.22% ตามลำดับ

ขณะที่ในแง่ของปริมาณที่ลดลงมากเป็น 5 อันดับแรก คือ ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต 6.11 หมื่นล้านบาท ธุรกิจตัวกลางทางการเงิน 5.60 หมื่นล้านบาท ธุรกิจการขายส่ง การขายปลีก และซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน 4.80 หมื่นล้านบาท การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และคมนาคมลดลง 1.29 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีบางภาคธุรกิจที่ยังได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อยู่ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจการบริหารราชการ และการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับเพิ่มขึ้นเกือบ 5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 52.98% ภายในไตรมาสเดียว รองลงมาเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 3.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%ธุรกิจการไฟฟ้า แก๊ส และการประปา 5.71 พันล้านบาท ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร 5.26 พันล้านบาท บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการทางธุรกิจ 1.75 พันล้านบาท และธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา 835 ล้านบาท

และหากพิจารณาเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนจำนวนมากนั้น พบว่ายังคงได้รับสินเชื่ออย่างต่อเนื่องจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 3.25 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 1.66 ล้านล้านบาท โดยเป็นผลธุรกิจการจัดหาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 1.74 หมื่นล้านบาท การบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ เกือบ 9 พันล้านบาท และธุรกิจการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 7.16 พันล้านบาท

"ภาคธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในหมวดสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อการทำงานได้รับวงเงินปล่อยกู้น้อยสุดในไตรมาสนี้ คือ ลดลงถึงสัดส่วน 19.12% รองมาเป็นธุรกิจซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอื่นๆ 10.33% และการซื้อที่ดินเปล่ามีการได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ลดลง 5.30%" รายงานระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น