xs
xsm
sm
md
lg

สินเชื่อQ1ฝืดตามศก.-แบงก์ปล่อยกู้กันเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเผยแบงก์พาณิชย์ให้สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นเแค่ 0.55% หรือเพิ่มขึ้น 4.15 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากธุรกิจตัวกลางทางการเงินที่แบงก์และ ธปท.กู้ระหว่างกันเอง และธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล แต่ในภาพรวมภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงได้รับสินเชื่อลดลงถ้วนหน้าจากการที่แบงก์เข้มงวดปล่อยกู้ในยุคเศรษฐกิจฝืด โดยธุรกิจเกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศได้รับสินเชื่อหดตัวมากที่สุดถึง 18.97% ขณะที่ในแง่มูลค่าธุรกิจด้านผลิตหดตัวถึง 6.65 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแยกตามประเภทธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบล่าสุด ณ เดือน มี.ค.หรือไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า สถาบันการเงินในระบบมียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจทั้งสิ้น 7.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย 0.55% คิดเป็นวงเงิน 4.15 หมื่นล้านบาท
ซึ่งมีบางธุรกิจเท่านั้นที่ดันให้ยอดสินเชื่อโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจยังคงได้รับสินเชื่อน้อยลงจากสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจตัวกลางทางการเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วยกันเองระหว่างสถาบันการเงินในระบบ รวมถึงธปท.ด้วย เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 12.7% เพิ่มขึ้นในวงเงิน 1.74 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 1.62 ล้านล้านบาท รองลงมาธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น 1.08% เพิ่มขึ้นจำนวน 2.66
พันล้านบาท ยอดคงค้างเงินที่ได้รับสินเชื่อ 2.48 แสนล้านบาท

ตามมาด้วยธุรกิจเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.93% คิดเป็นเงิน 1.50 หมื่นล้านบาท ยอดคงค้าง 1.63 ล้านล้านบาท ธุรกิจด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นสัดส่วน 0.85% คิดเป็นเงิน 165 ล้านบาท ยอดคงค้างที่มีอยู่ 1.96 หมื่นล้านบาท และธุรกิจการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคมเพิ่มขึ้น 0.53% เป็นเงิน 1.21 พันล้านบาท จากยอดคงค้างที่มี 2.28 แสนล้านบาท

โดยในส่วนของธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีแค่ 2 ธุรกิจเท่านั้นที่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น คือ การจัดหาที่อยู่อาศัยและการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 1.55 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 1.86% และ 5.02 พันล้านบาท คิดเป็น 1.4% ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อการทำงานหดตัวมากสุดในธุรกิจนี้ถึง 14.05%

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายธุรกิจอื่นๆ พบว่า ส่วนใหญ่แล้วยังคงได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินลดลงตามความเข้มงวดของสถาบันการเงินที่กังวลเรื่องความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยธุรกิจเกี่ยวข้องกับองค์การระหว่างประเทศ และองค์การต่างประเทศอื่นๆ และสมาชิกได้รับสินเชื่อลดลง 18.97% ลดลงจำนวน 11 ล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลหรือการให้กู้แก่อุตสาหกรรมในครัวเรือน 10.71% ลดลง 3 ล้านบาท และธุรกิจการให้บริการชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ 7.52% หรือลดลง 4.80 พันล้านบาท

ธุรกิจการขายส่ง การขายปลีก และซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนได้รับสินเชื่อลดลงในสัดส่วน 4.8% คิดเป็นวงเงิน 5.10 หมื่นล้านบาท ธุรกิจการทำเหมือนแร่และถ่านหินลดลง 4.35% ในวงเงิน 1.71 พันล้านบาท ธุรกิจการบริหารราชการ และการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับ 4.03% ลดลง 3.96 พันล้านบาท ธุรกิจการผลิต 3.8% ลดลง 6.65 หมื่นล้านบาท ซึ่งในแง่มูลค่าได้รับสินเชื่อลดลงมากที่สุดในระบบ

นอกจากนี้ ธุรกิจเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ลดลง 3.59% ลดลง 2.89 พันล้านบาท ธุรกิจก่อสร้าง 3.44% คิดเป็นเงิน 4.96 พันล้านบาท ธุรกิจการบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการทางธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจกู้เงินเพื่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ 2.57% ลดลงจำนวน 1.44 หมื่นล้านบาท ธุรกิจประมง 1.32% ลดลง 180 ล้านบาท ธุรกิจการไฟฟ้า แก๊ส และการประปา 0.7% คิดเป็น 1.09 พันล้านบาท และธุรกิจการบริการด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ลดลง 0.24% ลดลงในวงเงิน 82 ล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น