xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปล่อยผีบาท ดัน500บริษัทยักษ์ลงทุนนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คลอดแล้ว เกณฑ์ใหม่ดันทุนไทยไปนอกสกัดค่าบาทแข็ง แบงก์ชาติขยายขอบเขตลงทุน เพิ่มประเภทให้นักลงทุนสถาบันที่เป็นนิติบุคคลสินทรัพย์มากกว่า 5 พันล้านบาท กว่า 500 บริษัท ไปลงทุนหลักทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านเหรียญ หากต้องการเกินให้เพิ่มได้ พร้อมขยายเพดานทำประกันความเสี่ยงส่งออกนำเข้า

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงวานนี้ (5 ส.ค.) ว่า ธปท.ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของคนไทยมากขึ้น รวมถึงการทำธุรกรรมอนุพันธ์ภายในประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสระยะยาวให้แก่นักลงทุนไทย โดยพยายามตักตวงการลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการอื่นในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีและเป็นจุดที่มีเสถียรภาพอยู่แล้ว พร้อมทั้งช่วยบริหารความเสี่ยงและบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งอย่างน้อยช่วยให้ประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ข้อมูลเบื้องต้นในปี 51 พบว่า สินทรัพย์ในประเทศมีทั้งสิ้น 1.59 แสนล้านเหรียญ ขณะที่หนี้สิน 1.85 แสนล้านเหรียญ ส่งผลให้หนี้สุทธิของไทยยังมีอยู่ แต่ลดลงจำนวนมากแล้วเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และเมื่อเข้าไปดูรายกลุ่ม พบว่า สินทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ที่ธปท. ที่มีอยู่ 1.1 แสนล้านเหรียญ ขณะที่ภาคหนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากภาคเอกชนไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ 1.4 แสนล้านเหรียญ ซึ่งส่วนนี้โดยรวมแล้วหนี้สุทธิ 1.17 แสนล้านเหรียญ จึงเกิดความไม่สมดุลขึ้นระหว่างทางการกับภาคเอกชน ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่จำกัด จึงได้ผ่อนผันให้ภาคเอกชนหันไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอย่างน้อยเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ

สำหรับหลักเกณฑ์ที่ ธปท.ผ่อนผันให้มากขึ้น คือ กำหนดให้เพิ่มประเภทนักลงทุนสถาบันที่เป็นนิติบุคคลมีสินทรัพย์ตามงบดุลตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีธุรกิจหลักเป็นผู้ผลิต ผู้ค้าหรือผู้บริการสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ด้วยตัวเองในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อรายได้ทันที แต่หากเกินวงเงินดังกล่าวสามารถขอมายัง ธปท.เพิ่มเติมได้ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะผ่อนผันการลงทุนให้แก่นักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติมด้วย

ทำให้นักลงทุนสถาบันเพิ่มมาเป็นประเภทที่ 8 จากเดิมอนุญาตให้นักลงทุน 7 ประเภท ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และสถาบันการเงิน

“มาตรการที่เราเปิดมากขึ้นนี้จะไม่มีการปิดในอนาคต ซึ่งแบงก์ชาติได้มองอย่างรอบคอบแล้ว โดยมองว่านิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปที่มีอยู่ในระบบ 503 บริษัท บริษัทเหล่านี้มีการวิเคราะห์การลงทุนต่างๆ การเงิน และฐานะที่ดี จึงเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรหากมีการตัดสินใจไปลงทุนต่างประเทศด้วยตัวเอง แต่ยอมรับว่าในช่วงแรกอาจใช้เวลาบ้างเพราะการลงทุนในต่างประเทศต้องขอบอร์ดอนุมัติ จึงเป็นการทยอยออกไป และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเงินทุนไหลเข้า-ออกไทยจะสมดุลมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้ขยายขอบเขตการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ลงทุนสถาบันสามารถซื้ออนุพันธ์กับคู่สัญญาได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากเดิมกำหนดเฉพาะคู่สัญญาในประเทศเท่านั้น และซื้ออนุพันธ์ในลักษณะเพื่อหาผลตอบแทนในลักษณะเก็งกำไรส่วนต่างได้ นอกเหนือจากการป้องกันความเสี่ยงรวมทั้งผ่อนผันให้นำเอาหลักทรัพย์หรืออนุพันธ์ที่ทำไว้มาซื้อขายในตลาดรอง และทำธุรกรรมยืม และให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนมากขึ้น

สำหรับบุคคลธรรมดาที่ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์นั้น ธปท.ได้ผ่อนคลายให้ทำธุรกรรมอนุพันธ์ที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น เพิ่มประเภทการลงทุนในตราสารหนี้ หรือ คำจำกัดความของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (FDI) เพิ่มเติมในการลงทุนหุ้นต่างประเทศไม่ถึง 10% ถือเป็นการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้จากเดิมที่ให้ลงทุนเฉพาะหลักทรัพย์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดเท่านั้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการลงทุนมากขึ้น รวมถึงยกระดับขอบเขตการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคลให้เทียบเท่ากับนักลงทุนสถาบันด้วย

เปิดเพดานส่งออกนำเข้าทำประกันเสี่ยง

นอกจากนี้ ธปท.ยังผ่อนผันการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของผู้ส่งออก-นำเข้าเพิ่มขึ้น จากเดิมการอนุญาตให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อทำป้องกันความเสี่ยงนั้นกำหนดให้ทำเท่ากับคำสั่งซื้อหรือขายที่มีเท่านั้น แต่ในขณะนี้เพิ่มให้ทำได้ไม่เกินมูลค่าสินค้าเข้าหรือส่งออก 12 เดือนและให้ทำป้องกันความเสี่ยงข้ามสกุลเงินได้เพื่อความคล่องตัวในการค้าขาย และเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลางที่ยังไม่มีความสามารถในการบริหาจัดการอัตราแลกเปลี่ยนฯ หากทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงไปแล้ว แต่ค่าเงินเกิดกลับทิศ สามารถมาขอยกเลิกสัญญาได้ก่อนครบสัญญาจริง ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ส่งออก ธนาคารพาณิชย์ และนักลงทุนต่างชาติมีการนำเงินมาลงทุน ซื้อหุ้น หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทำให้เงินบาทแข็ง ดังนั้น ในขณะนี้ผู้นำเข้าควรหันมาซื้อดอลลาร์ เพราะหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว วัตถุดิบ น้ำมันและสินค้าต่างๆ จะแพงขึ้น แม้ตอนนี้โครงการภาครัฐคืบหน้าช้า แต่เข้าใจว่ารัฐบาลพยายามกระตุ้นอยู่ นอกจากนี้ การทำธุรกรรมอนุพันธ์ นอกเหนือจากการป้องกันความเสี่ยงแล้วยังได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างผลจิตวิทยาในระยะสั้นต่อค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทไม่แข็งมาก”

ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนไทยในประเทศ ธปท.ผ่อนผันให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อ กู้ยืม หรือฝากเงินกับสถาบันการเงินในประเทศ ที่อิงกับอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่างประเทศ ผลตอบแทนทองคำ น้ำมัน หรืออื่นๆ ได้ด้วย

“ที่ผ่านมา ด้วยความไม่เข้าใจเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนฯ ทำให้รายย่อยไม่ค่อยป้องกันความเสี่ยง เมื่อค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงจะมีความเสียหายได้ ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ยกเลิกสัญญาได้ อาจจะทำให้รายกลางรายย่อย ทำป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่เป็นห่วงว่า การให้ผู้ส่งออกทำสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้าเกินคำสั่งซื้อขายที่มีจะทำให้เกิดแรงเก็งกำไรนั้น ต้องมองทั้ง 2 ด้านคือ ภาคการนำเข้า และส่งออก ที่จะช่วยให้แรงซื้อและขายเงินสมดุลกันได้”

ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทไทยไม่ได้แตกต่างกับประเทศอื่น แต่กลับนิ่งกว่าด้วยซ้ำ โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่า 2.4% เช่นเดียวกับอินเดีย เทียบกับประเทศเกาหลี 3.5% อินโดนีเซีย 9.8% ขณะที่เฉพาะค่าเงินดอลลาร์อ่อนประมาณ 4%

สำหรับภายในประเทศมองว่าปัจจุบันสภาพคล่องในระบบมีจำนวนมาก โดยล่าสุดมีสภาพคล่องส่วนเกิน 1.75 ล้านล้านบาท หรือสูงถึง 5 เท่าที่ต้องกันดำรงไว้ จึงเชื่อว่าจะสามารถรองรับการลงทุนและการขยายตัวในอนาคตได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น