xs
xsm
sm
md
lg

ขยายวงเงินลงทุนเมืองนอก ชะลอเงินบาทแข็งค่าแค่บางส่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามรายงานข่าวในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ระบุว่า  ในเร็วๆ นี้ ทางธปท.จะมีการออกมาตรการชุดหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เอกชนและนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาท...เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการที่จะถูกประกาศออกมานั้น จะเน้นไปที่มาตรการที่จะกระตุ้นให้มีความต้องการเงินดอลลาร์ฯ เพื่อสร้างสมดุลในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

ซึ่งนับได้ว่า มีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ มากกกว่าแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งก็เป็นไปตามสถานะการเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของไทย รวมถึงการที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทย

 อย่างไรก็ตาม หากมองภาพในระยะถัดไปจะพบว่า เงินบาทของไทย ตลอดจนสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียนั้น อาจต้องปรับตัวไปตามแนวโน้มใหญ่ของกระแสการไหลเวียนของเงินลงทุนทั่วโลก ซึ่งน่าที่จะต้องเผชิญกับความเป็นไปได้ที่เงินดอลลาร์ฯ จะปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลง

หากกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้
 สถานการณ์การลงทุนปัจจุบัน

 สำหรับวงเงินที่อนุญาตให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศในปัจจุบันนั้น เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 (ก่อนแถลงข่าวยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้น) ธปท. ได้จัดสรรวงเงินลงทุนต่างประเทศเพิ่มเติมจำนวน 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับกลต. ซึ่งเมื่อรวมวงเงินเพิ่มเติมใหม่นี้ กับวงเงินเดิมที่ได้รับจัดสรร และวงเงินลงทุนในต่างประเทศที่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้วคิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 30 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ซึ่งวงเงินนี้จะถูกนำไปจัดสรรให้กับกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์ (โดยนับรวมวงเงินลงทุนที่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และบุคคลทั่วไปที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคล หรือลงทุนตรงผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และสำหรับการโอนเงินออกต่างประเทศ กรณีบริษัทในต่างประเทศระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ และการออกตราสารทางการเงินสกุลเงินบาทที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น Transferable Custody Receipts (TCR)

 โดยรายละเอียดในส่วนของเพดานการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สำหรับนักลงทุนรายย่อยผ่านการจัดตั้งเป็นกองทุนส่วนบุคคล และผ่านบริษัทหลักทรัพย์นั้น ธปท.ยังคงมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ และกลต.จะทำการรวบรวมรายชื่อกองทุนส่วนบุคคลยื่นขอต่อธปท.เป็นรายกรณี

โดยหากเป็นนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป เพดานเงินลงทุนจะถูกจำกัดไว้ที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อราย โดยกลต.จะจัดสรรให้ครั้งละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาหรือผู้ลงทุนอื่นๆ จะถูกกำหนดวงเงินลงทุนไม่เกินรายละ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกลต.จะจัดสรรให้ครั้งละไม่เกิน 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ
ส่วนสถานการณ์การลงทุนของนักลงทุนสถาบัน จากข้อมูลล่าสุดจากรายงานสรุปสถานะวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศประจำเดือนมิถุนายน 2552 ของกลต. พบว่า สถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศที่ประเมินจากภาพรวมการจัดสรรวงเงิน ปรากฏว่า กองทุนรวม/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ได้รับการจัดสรรจากกลต.มากที่สุด คือ 18.83 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงเหลืออีก 7.17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยกองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ได้รับจัดสรรเป็นสัดส่วนมากที่สุด (มูลค่า 17.43 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งแผนการลงทุนส่วนใหญ่เน้นการลงทุนในกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีใต้ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ นักลงทุนไทย เป็นผู้ถือครองพันธบัตรเกาหลีใต้รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าการถือครองทั้งหมดประมาณ 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 ธปท.เล็งผ่อนคลายระเบียบการฝาก-โอนเงินตราต่างประเทศ

 นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดว่า ธปท.อาจพิจารณาผ่อนคลายระเบียบการฝาก และโอนเงินตราต่างประเทศของภาคธุรกิจไทยเพิ่มเติม  หลังจากที่ธปท.ได้มีการผ่อนคลายระเบียบการฝาก และโอนเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติมให้กับภาคธุรกิจไทยเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้นไปแล้วในช่วงปลายปี 2550 ประกอบด้วย

การผ่อนผันให้บุคคลในประเทศฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในประเทศ การผ่อนผันให้บุคคลในประเทศลงทุนโดยตรง หรือให้กู้ยืมแก่กิจการในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเพิ่มวงเงินและขยายขอบเขตการลงทุน หรือให้กู้ยืมให้ครอบคลุมถึงกิจการในต่างประเทศที่อยู่ในเครือเดียวกันแต่ไม่มีการถือหุ้นกันโดยตรง ตลอดจนการเพิ่มวงเงินต่อปีสำหรับในส่วนของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ หากมีการผ่อนผันมาตรการในส่วนนี้ ก็อาจนับได้ว่า เป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มอุปสงค์ต่อเงินตราต่างประเทศ เพื่อสร้างสมดุลให้กับตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
และจากภาพรวมของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศในปัจจุบัน ดูเหมือนว่า แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ที่มาจากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง (ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ไทยบันทึกยอดเกินดุลการค้ามูลค่า 11.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมูลค่า 11.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตลอดจนการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศของนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดการเงินไทย จะมีมากกว่าแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ จากฝั่งผู้นำเข้า

ขณะที่ ความต้องการเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทยนั้น ก็ได้เบาบางลงไปตามภาวะความผันผวนของสภาวะตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือ Great Depression
 อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าเงินบาทจะมีโน้มแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น แต่หากพิจารณาภาพรวมของการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย จะพบว่า เงินบาทนั้นยังคงแข็งค่าในลักษณะที่เกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้น 2.5% จากระดับสิ้นปี 2551 นับเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย

แต่หากพิจารณาในด้านของเสถียรภาพค่าเงิน จะพบว่า เงินบาทมีความผันผวนน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ โดยมีค่าความผันผวนประมาณ 4.2% เท่านั้น (นับจากต้นปี) ซึ่งก็เท่ากับว่า ภาคธุรกิจไทยในภาพรวมน่าที่จะได้รับอานิสงส์จากการดูแลเสถียรภาพเงินบาทของธปท.ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
 ขยายวงเงินต่างประเทศสู้ชะลอค่าบาทแข็ง 

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพในกรณีพื้นฐานว่า  ธปท.คงจะดำเนินการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยน่าจะเริ่มจากการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมการไหลออกของเงินทุนในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นในระยะถัดไป โดยอาจจะออกมาในรูปของการขยายวงเงินเพิ่มขึ้นให้กับก.ล.ต.เพื่อจัดสรรให้กับนักลงทุนประเภทต่างๆ ที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ อนุญาตเพิ่มเติมให้นักลงทุนประเภทอื่นๆ สามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และ/หรือมีการผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นๆ ให้กับระเบียบการฝาก และโอนเงินตราต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสมดุลให้กับตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาแรงกดดันในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นของเงินบาทลงบางส่ว
อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า  เงินบาทของไทยตลอดจนสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียนั้น อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับตัวไปตามแนวโน้มใหญ่ของกระแสการไหลเวียนของเงินลงทุนทั่วโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงเงินบาท

อาจต้องเผชิญกับแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น จากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้ รวมทั้งจากการลดน้ำหนักการถือครองเงินดอลลาร์ฯ ของบรรดาธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก 

  ทั้งนี้  แนวโน้มของเงินบาทที่ยังอาจได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป เมื่อประกอบเข้ากับเงื่อนไขในการแบกรับความเสี่ยงที่จำกัดของนักลงทุนไทยนั้น ก็อาจทำให้ความพยายามสร้างสมดุลให้กับตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศผ่านการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ อาจเพียงช่วยชะลอแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเท่านั้น

 และหากพิจารณาถึงตัวเลือกในการลงทุนของนักลงทุนไทยในระยะถัดไป ก็จะพบว่า  พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ที่จะทยอยออกมาในระยะถัดไปนั้น อาจเสนออัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจมากขึ้นตามแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ในประเทศก็จะปราศจากความเสี่ยง หรือไม่ต้องมีต้นทุนในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
กำลังโหลดความคิดเห็น