xs
xsm
sm
md
lg

ฉายภาพโครงสร้างใหม่ตำรวจ ตอบโจทย์"พัชรวาท"รีบแต่งตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
น่าสนใจและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งกับ “การปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" หน่วยราชการที่มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเสาหลักในการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ

ด้วยขนาดองค์กรที่ใหญ่เทอะทะ มีกำลังพลในสังกัดกว่า 2 แสนนาย ทำให้การขับเคลื่อนผลักดันยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการพัฒนาหน่วยงานให้เจริญก้าวหน้า ทำได้อย่างเชื่องช้า นอกจากนี้การควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชายังทำได้ยาก เนื่องจากเพราะมีสายบังคับบัญชาที่สลับซับซ้อน ทำให้มักเกิดกรณี “งามไส้” ที่บรรดาสีกากีนอกแถว ออกมาทำอะไรนอกลู่นอกทางอยู่เสมอ

การใช้อำนาจบาตรใหญ่ กดขี่รีดไถ ทำร้ายประชาชน จึงมีปรากฏเป็นข่าวอยู่แทบทุกวัน

ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่คอยบั่นทอนภาพลักษณ์ขององค์กรแห่งนี้มาโดยตลอด

นอกจากนี้ด้วยอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายยังกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งทั้งในและนอกฤดูกาล บรรดาพลพรรคสีกากี ต่างก็ตั้งหน้าตั้งวิ่งเต้น โดยไม่เป็นอันทำงาน ส่งผลต่อการดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน มิหนำซ้ำปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการวิ่งเต้นนั่นคือ “เงิน” ซึ่งทุกครั้งมีเม็ดเงินสะพัดนับล้านบาท ซึ่งเงินที่ใช้ไม่บอกก็รู้ ว่าเอามาจากไหน ถ้าไม่ใช่การขูดรีดจากประชาชน นี่คือวงจรอุบาทว์ที่คอยเกาะกินองค์กรแห่งนี้มาช้านาน

จากเหตุผลข้างต้นทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการยกเครื่อง รื้อปรับโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียใหม่...

ทันทีที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ที่มี “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” รองผบ.ตร.ฝ่ายบริหาร เป็นแม่หลักในการ รื้อ ตบแต่ง “สำนักงานปทุมวัน” จนผ่านการเห็นชอบจากบรรดาบิ๊ก สีกากีระดับรองผบ.ตร. จนถึง ผู้ช่วยผบ.ตร.ก่อนถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี อย่างรวดเร็ว และคาดกันว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ส.ค.2552

โครงสร้างดังกล่าวเน้นการกระจายอำนาจ ซึ่งเดิมทีกระจุกตัวอยู่ที่ผบ.ตร. ไปยังกองบัญชาการต่างๆ ให้มีอำนาจในการบริหารงานบุคคล สามารถแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับรองผบก.-ชั้นประทวน รวมถึง การเงินและงบประมาณ โดยมีสมมติฐานที่ว่า หากมีการกระจายอำนาจ เชื่อว่าการกระจายอำนาจนี้ จะเป็นเสมือน “ภูมิคุ้มกัน” ในการควบคุมตำรวจนอกแถวให้ในร่องในรอยมากขึ้น

ไม่เพียงแต่ตัวโครงสร้างตร.ที่มีการปรับเปลี่ยน กฎหมายตำรวจ ก็เช่นเดียวกัน ที่มีความพยายามจะปรับปรุง ยกเครื่อง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 อยู่หลายครั้ง โดยมีหลักการและ เหตุผล ซึ่งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การเปลี่ยนโครงสร้าง รื้อกฎหมาย จะช่วยเป็นกรอบบังคับให้ตำรวจทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม บังคับใช้กฎหมายกับประชาชนบนหลักนิติธรรม ได้ดียิ่งขึ้น

ย้อนไปก่อนมีโครงสร้างตร.ฉบับนี้ ในสมัยของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผบ.ตร.คนก่อน ได้ ร่างพ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ...ขึ้นมาหนึ่งฉบับ และผ่านการเห็นชอบจากครม. เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 แล้ว

แต่มีเสียงท้วงติงจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. เรื่องการเพิ่มหน่วยและตำแหน่ง ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 อีกทั้งคำนวนแล้วต้องใช้งบประมาณด้านบุคคลากรเพิ่มอีกปีละมหาศาล

ต่อมาเมื่อพล.ต.อ.พัชรวาท ก้าวขึ้นมาเป็นแม่ทัพสีกากี จึงมีการออกหนังสือประสานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอถอนการพิจารณา พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าวมาทบทวนใหม่ ออกเป็นร่างโครงสร้างฉบับล่าสุด ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ประกอบด้วย หน่วยงานระดับกองบัญชาการ(บช.) หรือเทียบเท่าเรียก “สำนักงาน” มีนายตำรวจยศ “พล.ต.ท.”ตำแหน่งผู้บัญชาการ(ผบช.) เป็นหัวหน้าหน่วย รวม 30 หน่วย

โดยเป็นหน่วยงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงหน่วยงานที่เปลี่ยนชื่อใหม่ 26 หน่วย และหน่วยงาน ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ 4 หน่วย ซึ่งรวมงานระดับกองบังคับการด้านอำนวยการต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว มาจัดกลุ่มงานใหม่ เป็นสำนักงานเทียบเท่ากองบัญชาการ คือ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานกำลังพล และสำนักงานงบประมาณและการเงิน

ทั้งนี้ หน่วยงานระดับกองบัญชาการ(บช.) หรือเทียบเท่า ได้แก่ ส่วนบังคับบัญชา ประกอบด้วย 4 กองบัญชาการที่ตั้งขึ้นใหม่ (สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานกำลังพล และสำนักงานงบประมาณและการเงิน ),สำนักงานกฎหมายและคดี ซึ่งเปลี่ยนชื่อจากสำนักงานกฎหมายและสอบสวนเดิม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ สำนักงานจเรตำรวจ สำนักงานตรวจสอบภายใน ซึ่งอยู่ในส่วนบังคับบัญชาด้วยเช่นกัน

ในส่วนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ยังคงเป็นหน่วยที่มีในโครงสร้างเดิม คือกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 – 9 (บช.ภ.1-9) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ซึ่งนับเป็นบช.ใหม่ถอดด้าม ตั้งขึ้นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีการตัดเฉือน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ออกมาตั้งเป็นบช. เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบโดยเฉพาะ

ส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะด้าน ลักษณะเป็นขบวนการ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั่วราชอาณาจักร ยังคงประกอบด้วยหน่วยงานที่มีในโครงสร้างเดิม ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.) ที่เปลี่ยนจากชื่อเดิม สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.)

ส่วนการศึกษา เป็นหน่วยงานที่ให้การศึกษาอบรมแก่ผู้ที่เข้ารับราชการตำรวจ ตลอดจนพัฒนาข้าราชการตำรวจให้เป็นผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย กองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.)

นอกจากนี้ในส่วนบริการ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการแก่ข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไป ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)

ส่วนปฏิบัติการเฉพาะทาง เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติงานตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ คือ สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ (สง.นรป.) ที่ต้องขึ้นการควบคุมในภารกิจด้านการถวายความปลอดภัยต่อสมุหราชองครักษ์ และต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ

ขณะที่หน่วยงานระดับย่อยลงมา คือ กองบังคับการ(บก.) ซึ่งมี นายตำรวจยศ พล.ต.ต. ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการ(ผบก.) เป็นหัวหน้าหน่วย ซึ่งตามร่างโครงสร้างใหม่ มีหน่วยระดับบก.หรือเทียบเท่าทั้งสิ้นจำนวน 227 หน่วยงาน เพิ่มขึ้นจากโครงสร้างปัจจุบันที่มี 184 หน่วยงาน อีก 43 หน่วยงาน

โดยใน 43 บก.ที่เพิ่มขึ้นนั้นมีบก.ที่เพิ่มขึ้นใหม่จำนวน 7 บก. คือ กองบังคับการอำนวยการในสำนักงานส่งกำลังบำรุง และในกองบัญชาการศึกษา กองบัญชีในสังกัดสำนักงานงบประมาณและการเงิน กองตรวจสอบภายใน 2-3 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ในสังกัดบช.น. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในสังกัด บช.ก.

นอกจากนั้นเป็นการยกฐานะหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว 36 หน่วย ได้แก่ การยกระดับศูนย์สืบสวนสอบสวนของบช.น. และบช.ภ.1-9 ซึ่งเดิมทีมีรองผบก.เป็นหัวหน้า ยกฐานะกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 3-6 พร้อมยกฐานะศูนย์สืบสวนตม.จากที่มีรองผบก.เป็นหัวหน้า ให้เป็น บก.ใหม่ มีผบก.เป็นหัวหน้าหน่วย

ยกฐานะศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 1-8 ซึ่งมีผู้กำกับการเป็นหัวหน้า เช่นเดียวกับ กองโยธาธิการ กองสรรพาวุธ กองบังคับการอำนวยการสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ กองบังคับการข่าวกรองยาเสพติด บช.ปส. กองบังคับการตำรวจสันติบาล 4 สังกัดสันติบาลที่ยกฐานะมาจากศูนย์ดำเนินกรรมวิธีข่าวกรองเดิม

ยกฐานะศูนย์ฝึกอบรมกลาง บช.ศ. เช่นเดียวกับสถาบันฝึกอบรมและวิจัยการพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ในสพฐ.ตร. กองบังคับการอำนวยการสทส. และกองตรวจราชการ 6-10 ในสำนักงานจเรตำรวจ กลไกตรวจสอบหลักของตร.

ข้างต้นคือภาพรวมของหน่วยงานระดับบริหาร ที่เกิดขึ้นตามร่างโครงสร้างสีกากีฉบับล่าสุด ซึ่งรวมแล้วในโครงสร้างใหม่สำนักตำรวจแห่งชาติจะมี 30 บช. 227 บก. นอกจากนี้จะมี กองกำกับการ แผนก และฝ่าย ใหม่ เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากนับร้อยๆหน่วยงานย่อยๆ นำมาซึ่งตำแหน่งผู้กำกับการ รองผู้กำกับการและสารวัตร หัวหน้าหน่วยตามมาอีกจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามการจะแก้ปัญหาดังที่ว่าในข้างต้น โดยการปรับรื้อโครงสร้าง ตร. รวมถึงแก้ไขกฎหมายตำรวจ คงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะตราบใด ที่ตำรวจเองไม่มีจิตสำนึกของความเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” แล้วล่ะก็ การจะยกระดับการบังคับใช้ และการอำนวยความเป็นธรรม โดยปราศจากตำรวจนอกแถว มากดขี่ทำร้ายประชาชน คงเกิดขึ้นไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น