xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกาการเมือง หน้าที่ของสำนักราชเลขาธิการ ที่จะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ณ นาทีนี้จะไปขอร้องแกนนำคนเสื้อแดงให้ยุติกระบวนการล่ารายชื่อถวายฎีกาคงจะสายเกินไปและไร้ความหมาย ส่วนการให้ข้อมูลต่อประชาชนทุกหมู่เหล่าให้เข้าใจกระบวนการทั้งหมด นอกจากจะยังไม่สายแล้ว ยังต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นระบบ และอย่างมียุทธศาสตร์

เพราะฎีกาของพวกเขาไม่น่าจะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวค่อนข้างแน่

แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะตกไปในชั้นการพิจารณาของสำนักราชเลขาธิการ!


เป็นที่ทราบกันดีว่าแกนนำคนเสื้อแดงเขาจะไม่ยื่นฎีกาต่อกรมราชทัณฑ์ ต่อกระทรวงยุติธรรม หรือพูดง่ายๆ ว่าต่อรัฐบาล เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่ปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐบาลชุดนี้มาแต่ต้น จึงจะยื่นตรงไปยังราชเลขาธิการ ซึ่งก็เป็นยุทธศาสตร์อีกเช่นกันที่ประกาศว่าหวังพึ่งพระบารมี โดยทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องมีพระบรมราชวินิจฉัยฎีกาทุกฉบับ เห็นไหมครับว่าระยะหลังพวกเขาพูดถึงหลัก “ราชประชาสมาสัย” มากขึ้นเหมือนคนเสื้อเหลืองในช่วงปี 2549

ผมกับ ส.ว.อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์เคยแถลงขอความกรุณาให้สำนักราชเลขาธิการแถลงถึงกฎเกณฑ์และขั้นตอนในการพิจาณาฎีกา ก็เพราะเล็งเห็นเป็นประเด็นว่าหากฎีกาตกไปในชั้นของสำนักราชเลขาธิการ พี่น้องประชาชนทั่วประเทศก็ควรมีความรู้ร่วมกันว่าเป็นไปอย่างโปร่งใส่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของท่านมีกฎหมายรองรับ

เข้าใจว่าทางท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็เคยประสานเป็นการภายในหารือว่าสำนักราชเลขาธิการควรจะแถลงหรือไม่

แม้จะเห็นต่าง แต่ก็เคารพครับที่สำนักราชเลขาธิการตัดสินใจไม่แถลง

หน้าที่นี้จึงตกเป็นของพวกเราทุกคน ไม่ใช่แต่รัฐบาลหรือกองทัพเท่านั้น!

การทำความเข้าใจกับประชาชนว่าฎีกาของคนเสื้อแดงไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ค่อนข้างได้ผลพอสมควรแล้ว ประชาชนเริ่มเข้าใจว่าในเมื่อคุณทักษิณ ชินวัตรยังไม่ได้รับโทษ ไม่สำนึกในความผิด และไม่ได้ขอพระราชทานอภัยโทษเอง แม้แต่ลูกเมียญาติพี่น้องก็ไม่ได้ขอหรือไม่ได้ร่วมลงชื่อ ฎีกานี้จึงไม่ถูกหลักเกณฑ์ ไม่ถูกกฎหมาย มิหนำซ้ำเนื้อหาของฎีกาบางตอนยังล่อแหลมต่อการผิดกฎหมายด้วยซ้ำที่ไปวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ทั้งๆ ที่คดีจำคุก 2 ปีคดีนี้ถึงที่สุดแล้วโดยคำพิพากษาศาลฎีกา และในข้อ 4 ของฎีกานี้จดหมายเปิดผนึกของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็น “การกล่าวตู่พระบรมราชวินิจฉัย” และส.ว.บางท่านเห็นว่าหมิ่นเหม่ต่อการผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

แกนนำคนเสื้อแดงก็เข้าใจดีครับ จึงได้บอกตั้งแต่ช่วงต้นๆ แล้วว่าฎีกาของพวกเขาฉบับนี้ไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เป็น...

ฎีการ้องทุกข์

หรือ...

ฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม

แต่ฎีกาทั้ง 2 ประเภทนี้ ไม่ว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายโดยวิธีใด สำนักราชเลขาธิการก็จะส่งเรื่องมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสอบถามไปยังหน่วยงานที่ถูกร้องฎีกานั้นชี้แจง รวมทั้งสอบถามไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลมาทำสรุปข้อเท็จจริงเสนอสำนักราชเลขาธิการ และถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ก็ต้องสอบถามความเห็นให้ครบถ้วน แล้วสรุปเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีสั่งการ หากนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เสนอสำนักราชเลขาธิการ ก็อาจจะมีความเห็นของนายกรัฐมนตรีส่งไปด้วยเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย

ประเด็นสำคัญคือในฎีกาทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว สำนักราชเลขาธิการมีหน้าที่ทั้งตามประเพณี และตามกฎหมาย – ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 808/2528 – ที่จะต้อง “กลั่นกรองให้รอบคอบ” และ “ไม่ต้องรีบนำความกราบบังคมทูล” ขอคัดข้อความบางตอนในคำพิพากษาฎีกาที่ 808/2528 มาดังนี้...

“ราชเลขาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย่อมมีหน้าที่ต้องคอยกลั่นกรองเรื่องราวต่างๆ ที่นำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบตามที่เห็นสมควรให้เหมาะสมกับกาลเทศะและราชประเพณี ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ มิใช่ว่าเมื่อมีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในเรื่องใดก็จะต้องรีบนำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบทันทีโดยไม่ต้องสอบสวนเรื่องราวให้ได้ความถ่องแท้เสียก่อน....”

แม้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระราชอำนาจในการพิจารณาไม่มีขีดจำกัด เพราะทรงเป็นองค์อธิปัตย์ จะกลับคำพิพากษาศาลฎีกาก็ได้ แต่กระนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นมาในปี 2457 ว่าด้วยระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา มีความอยู่ข้อหนึ่งระบุว่า...

ห้ามโต้แย้งคำพิพากษาของศาล!

และอีกข้อหนึ่งระบุว่า...

จะต้องกระทำด้วยตนเอง!

ไม่มีกฎเกณฑ์ข้อไหนระบุให้ผู้อื่นเข้าชื่อมาขอพระราชทานพระกรุณาให้ วันนี้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้ทุพพลภาพ แม้จะอยู่ต่างประเทศหากประสงค์จะถวายฎีกาก็สามารถกระทำได้หลายทาง แม้ด้วยทางไปรษณีย์

มาในยุคสมัยระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจใดก็ต้องอยู่ในกรอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แม้แต่พระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 191 ก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์

ฎีกาของคนเสื้อแดงขัดต่อกฎเกณฑ์ของการขอพระราชทานอภัยโทษหลายประการด้วยกัน จึงไม่น่าจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ได้

หรือถ้าจะพิจารณาว่าเป็นฎีการ้องทุกข์ หรือฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม ก็ขัดกฎเกณฑ์ในข้อสำคัญ

และเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของฎีกาที่เผยแพร่ – โดยเฉพาะในข้อ 4 - แล้ว ผมเห็นด้วยกับคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ที่ว่านี่เป็น “ฎีกาการเมือง” ที่มีวาระซ่อนเร้นอย่างน้อย 4 ประการใหญ่ๆ ด้วยกัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นฎีกาประเภทใด ในเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต้องมีเส้นทางของกระบวนการที่เป็นความเห็นของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วไปจบลงที่การวินิจฉัยขั้นสุดท้ายของสำนักราชเลขาธิการ

ซึ่งถ้าสำนักราชเลขาธิการ โดยราชเลขาธิการ เห็นว่าเป็น “ฎีกาการเมือง” ที่มีวาระซ่อนเร้นเป็นผลร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านก็มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องไม่นำขึ้นกราบบังคมทูล

นี่คือสารัตถะที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ!
กำลังโหลดความคิดเห็น