xs
xsm
sm
md
lg

ตัดสินลงโทษ “ซูจี”จากนั้นทหารพม่าตั้งรบ.นำโดยพลเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การพิจารณาคดี อองซานซูจี ผู้นำการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า เสร็จสิ้นกระบวนการสืบพยานและแถลงคดี โดยศาลจะอ่านคำตัดสินที่ผู้คนจำนวนมากเฝ้ารอคอยกันในวันศุกร์(31) นี้

คณะทหารพม่านั้นวางแผนการที่จะจัดการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในปีหน้า ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับแต่ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการหย่อนบัตรที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 1990 แล้วถูกฝ่ายทหารประกาศให้เป็นโมฆะ ทว่าได้เลื่อนแผนการดังกล่าวนี้ออกไปก่อนจนกว่าจะทราบผลการตัดสินคดีของเธอ

ผู้คนที่คุ้นเคยกับสถานการณ์บอกว่า ภายหลังการตัดสินคดีผ่านพ้นไป พล.อ.พิเศษ ตานฉ่วย ผู้นำคณะทหารก็จะประกาศจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวที่นำโดยพลเรือน ซึ่งจะกุมอำนาจการบริหารไปจนกระทั่งมีการเลือกตั้งในปีหน้า พวกนักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้กำหนดขึ้นมาด้วยความมุ่งหมายที่จะลดทอนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติที่กำลังดังอึงคะนึงขึ้นทุกที

เป็นที่คาดหมายเช่นกันว่าแรงกดดันจากนานาชาติจะต้องเพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้นอีก โดยข้อเรียกร้องที่ดังกึกก้องนั้น คือให้ปล่อยตัวซูจี และนักโทษการเมืองอื่นๆ ที่ประมาณกันว่ามีอยู่ราว 2,100 คน ออกจากการจองจำกักขังในทันที

ประเทศตะวันตกจำนวนมาก รวมทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ได้ข่มขู่ว่าจะเพิ่มการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินต่อระบอบปกครองทหารให้แรงยิ่งขึ้น ถ้าหากผู้นำหญิงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้นี้ถูกตัดสินลงโทษจำคุกอีกครั้ง ทั้งนี้ซูจีถูกจับกุมครั้งแรกเมื่อปี 1989 และต้องใช้ชีวิตถึง 14 ปีจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในสภาพที่ถูกกักกันอยู่ภายในบ้านพัก ตลอด 5 ปีหลังมานี้เธออยู่ในสภาพเสมือนถูกขังเดี่ยว โดยมีแต่แพทย์และทนายความของเธอได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมเธอได้เป็นครั้งคราว

ระหว่างการประชุมระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ยังได้ชูเรื่องที่สหรัฐฯอาจจะเข้าไปลงทุนในพม่าในเวลาต่อไป มาเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวซูจีและการก้าวเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเครื่องบ่งชี้ทั้งหลายที่ปรากฏออกมาในเวลานี้ต่างบ่งบอกว่า ถ้าหากไม่ถูกผลักดันจากพวกผู้อุปถัมภ์รายสำคัญที่สุดของพวกเขาในปักกิ่งแล้ว นายพลเหล่านี้ก็จะทำตัวเหมือนอดีตที่ผ่านมา นั่นคือไม่แยแสสนใจต่อเสียงเรียกร้องจากนานาชาติให้ปล่อยตัวซูจีและดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่แท้จริง “พวกเขาเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงไม่ว่านานาชาติจะแสดงความวิตกห่วงใยอย่างไร และยังคงดำเนินการกดขี่ปราบปรามอย่างมุ่งทำลายล้างให้ย่อยยับ ต่อพวกที่ไม่เห็นด้วยกับทางการทุกๆ ราย โดยตัดสินลงโทษอย่างหนักหน่วงสุดๆ ต่อการประท้วงแบบประชาธิปไตยที่ถูกถือว่าเป็นอาชญกรรม” เปาโล แซร์จิโอ ปินเฮียโร อดีตผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในพม่าของยูเอ็น กล่าวแจกแจง

เชื่อกันว่าตานฉ่วยกำลังรอให้มีการตัดสินคดีนี้ ซึ่งจะยิ่งลดสิทธิ์ลดเสียงของซูจีและพรรคเอ็นแอลดีของเธอให้น้อยลงไปอีก จากนั้นจึงจะประกาศแผนการส่งมอบอำนาจให้แก่คณะรัฐบาลพลเรือน ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้งในปีหน้า ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของนักวิเคราะห์ตลอดจนบุคคลวงในระบอบปกครองนี้บางราย มีรายงานว่าตานฉ่วยได้พูดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากต่างประเทศที่มาเยือนพม่าผู้หนึ่งว่า “ทั่วทั้งประเทศจะต้องประหลาดใจกันจริงๆ เมื่อได้เห็นว่ามีการส่งมอบอำนาจกันอย่างไร” แหล่งข่าวรายหนึ่งที่ทราบเรื่องการพบปะครั้งนี้กล่าว

แหล่งข่าวทหารพม่าหลายรายก็ยืนยันว่า ในโรดแมปสู่ “ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย” (discipline democracy) ของคณะทหารนั้น ในขั้นต่อไปจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความเคลื่อนไหวไปในทิศทางดังกล่าวนี้ก็คือ กระทรวงของรัฐบาลทุกกระทรวงได้รับคำสั่งให้ทำงานที่สำคัญๆ ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม รวมทั้งงานตระเตรียมข้อมูลทางสถิติด้วย อองทวง (Aung Thaung) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม 1 ซึ่งเป็นคนสนิมไว้วางใจของตานฉ่วย ได้กล่าวกับพวกผู้ช่วยของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อีกไม่นานก็จะมีรัฐบาลชุดใหม่ และเขาอาจจะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป

“ตามแผนการของตานฉ่วยนั้น รัฐมนตรีในปัจจุบันทั้งหมดจะต้องลาออก ถ้าหากพวกเขาจะไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองและรณรงค์แข่งขันในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง” วินมิน (Win Min) นักวิชาการอิสระด้านพม่าซึ่งประจำอยู่ในไทยกล่าว เขาพูดต่อไปว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบ่งบอกใดๆ ว่าใครจะอยู่ในคณะรัฐบาลชั่วคราวนี้บ้าง

อย่างไรก็ดี พวกนักการทูตที่ประจำอยู่ในพม่าต่างแสดงความระแวงสงสัยว่า เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเช่นนี้ไม่ว่าจะออกมาเช่นไร อย่างมากที่สุดก็เป็นแค่เพียงการผัดหน้าทาแป้งเท่านั้น โดยที่ฝ่ายทหารยังคงเป็นผู้กุมอำนาจอยู่ตามเดิม “มีสัญญาณมากมายเหลือเกินที่บ่งชี้ว่า โรดแมปนี้ไม่ได้เป็นกระบวนการที่มุ่งจะให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน และการลงประชามติ [ที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว] ก็ทำให้ความสงสัยใดๆ ที่มีอยู่หมดสิ้นไปเลย” ปินเฮียโรกล่าว “นี่เป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยจุดบกพร่องมากมายเหลือเกิน มันจะไม่พาเดินไปถึงไหนทั้งนั้น มันก็แค่เป็นวิธีกระชับอำนาจการควบคุมรัฐของฝ่ายทหารเท่านั้นเอง”

(เก็บความและตัดทอนจากเรื่อง There’s military logic to Suu Kyi’s trial ของ Larry Jagan ซึ่งเคยทำงานรายงานข่าวด้านการเมืองพม่าให้แก่บีบีซี และเวลานี้เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระที่ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น