xs
xsm
sm
md
lg

ตัดสินลงโทษ “ซูจี”จากนั้นทหารพม่าจะตั้งรบ.นำโดยพลเรือน

เผยแพร่:   โดย: ลาร์รี จาแกน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

There’s military logic to Suu Kyi’s trial
By Larry Jagan
29/07/2009

ภายหลังศาลตัดสินคดีความผิดของอองซานซูจี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยชื่อก้อง ในวันศุกร์นี้(31)แล้ว เป็นที่คาดหมายกันว่า พล.อ.พิเศษ ตานฉ่วย ผู้นำคณะทหารผู้ปกครองพม่า จะเดินหมากต่อไปด้วยการจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวที่มีพลเรือนเป็นผู้นำขึ้นมา รัฐบาลดังกล่าวนี้จะครองอำนาจไปจนกระทั่งเมื่อมีการเลือกตั้งในปีหน้า พวกนักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวคราวนี้วางแผนขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายที่จะลดทอนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และขับดันคณะทหารให้ขยับไปอีกก้าวบนเส้นทางสู่ “ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย”

กรุงเทพฯ – การพิจารณาคดี อองซานซูจี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า เสร็จสิ้นกระบวนการสืบพยานและแถลงคดี โดยที่การรักษาความปลอดภัยบริเวณใกล้ๆ ศาลเป็นไปอย่างเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม มีรถบรรทุกที่ทหารติดอาวุธนั่งกันเต็มจำนวนหลายร้อยคน ประจำอยู่รอบๆ คุกอินเส่ง (Insein) ซึ่งใช้เป็นสถานที่ไต่สวนคดี เป็นที่คาดหมายกันว่าศาลประจำคุกแห่งนี้จะอ่านคำตัดสินที่ผู้คนจำนวนมากเฝ้ารอคอยกันในวันศุกร์(31) ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของ เนียนวิน (Nyan Win) หนึ่งในคณะทนายความของผู้นำฝ่ายค้านผู้นี้

คณะทหารนั้นมีแผนการที่จะจัดการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในปีหน้า ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับแต่ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการหย่อนบัตรที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 1990 แล้วถูกฝ่ายทหารประกาศให้เป็นโมฆะ ทว่าได้เลื่อนแผนการดังกล่าวนี้ออกไปก่อนจนกว่าจะทราบผลการตัดสินคดีของเธอ

ผู้คนที่คุ้นเคยกับสถานการณ์กล่าวว่า ภายหลังการตัดสินคดีผ่านพ้นไป พล.อ.พิเศษ ตานฉ่วย ผู้นำคณะทหารจะประกาศจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวที่นำโดยพลเรือน ซึ่งจะกุมอำนาจการบริหารไปจนกระทั่งมีการเลือกตั้งในปีหน้า พวกนักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้กำหนดขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายที่จะลดทอนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติที่กำลังดังอึงคะนึงขึ้นทุกที

ในขณะเดียวกัน เป็นที่คาดหมายเช่นกันว่าแรงกดดันจากนานาชาติจะเพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้นอีก โดยข้อเรียกร้องที่ดังกึกก้องนั้น คือการให้ปล่อยตัวซูจี และนักโทษการเมืองอื่นๆ ที่ประมาณกันว่ามีอยู่ราว 2,100 คน ออกจากการถูกจองจำกักขังในทันที ประเทศตะวันตกจำนวนมาก รวมทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ได้ข่มขู่ว่าจะเพิ่มการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินต่อระบอบปกครองทหารให้แรงขึ้นอีก ถ้าหากผู้นำหญิงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้นี้ถูกตัดสินลงโทษจำคุกอีกครั้ง ทั้งนี้ซูจีถูกจับกุมครั้งแรกเมื่อปี 1989 และใช้ชีวิตถึง 14 ปีจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในสภาพที่ถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพัก และตลอด 5 ปีหลังมานี้เธออยู่ในสภาพเสมือนถูกขังเดี่ยว โดยมีแต่แพทย์และทนายความของเธอได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมเธอได้เป็นครั้งคราว

ระหว่างการประชุมระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ได้ชูเรื่องที่สหรัฐฯอาจจะเข้าไปลงทุนในพม่าในเวลาต่อไป มาเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวซูจีและการก้าวเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ก่อนหน้านี้ คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เคยแสดงท่าทีเป็นนัยว่า จะทบทวนนโยบายของสหรัฐฯที่มีต่อพม่า ทว่าตามคำพูดของคลินตัน การทบทวนดังกล่าวได้ถูกระงับไปสืบเนื่องจากการดำเนินคดีกับซูจี

ซูจีซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาแล้ว กำลังถูกไต่สวนดำเนินคดีในข้อหาละเมิดเงื่อนไขการถูกกักบริเวณ จากการให้ที่พักพิงแก่แขกผู้มิได้รับเชิญ ซึ่งคือ จอห์น วิลเลียม เยตทอว์ (John William Yetthaw) ทหารผ่านศึกชาวอเมริกันผู้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปที่บริเวณหลังบ้านพักของเธอและเข้าไปในสวนด้านหลัง เยตทอว์บอกว่าเขาทำเช่นนี้เพราะได้เห็นนิมิตรว่า ซูจีจะถูกลอบสังหาร เขาจึงต้องว่ายน้ำไปเตือนเธอ แต่สื่อพม่าที่อยู่ในความควบคุมของรัฐพากันกล่าวหาเขาว่าเป็นสายลับอเมริกัน

คณะทนายของซูจีแก้ต่างโต้แย้งว่า กฎหมายที่นำมาใช้ตั้งข้อหาเธอซึ่งมีระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปีนั้น เป็นกฎหมายที่อิงอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 1974 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปแล้ว พวกเขายังโต้แย้งอีกว่า พวกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ฝ่ายทหารส่งมาเฝ้ารอบๆ บ้านพักของเธอต่างหาก ควรเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อมีการบุกรุกเข้ามาในเขตที่อยู่ของเธอ

นอกจากนั้น ทนายเนียนวินบอกว่า เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำที่ทางรัฐบาลเองเป็นผู้ใช้ ก็แสดงว่าโดยทางการแล้วเธอไม่ได้ถูกกักกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถที่จะกล่าวหาเธอว่าละเมิดเงื่อนไขในการกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้านพักได้ ทั้งนี้สิ่งที่ทางการระบุตลอดมา นับแต่ที่กักกันเธอเอาไว้ในบ้านพักที่นครย่างกุ้งตั้งแต่ปี 2003 ก็คือ ที่ต้องทำเช่นนี้ ก็ด้วย “เหตุผลด้านความปลอดภัย”

“ถ้าอะไรๆ เป็นไปตามกฎหมายจริงๆ แล้ว เราก็มั่นใจว่าเราจะเป็นฝ่ายชนะคดี” เนียนวินบอกกับผู้สื่อข่าวที่ด้านนอกของศาลเมื่อวันอังคาร(28) แต่เขาก็พูดต่อไปว่า คณะผู้พิพากษาในคดีนี้อาจจะตัดสินคดีโดยใช้ข้อพิจารณาอื่นๆ ก็เป็นได้ ยิ่งถ้าดูตามหนังสือพิมพ์ “นิวไลต์ออฟเมียนมาร์” (New Light of Myanmar) ของทางการด้วยแล้ว เธอก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดไปเรียบร้อยแล้ว โดยในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ยกข้ออ้างต่างๆ มาบอกว่าเธอมีความผิดไม่มีทางบริสุทธิ์ไปได้ เนียนวินชี้ว่า “เรื่องนี้อาจจะมีอิทธิพลต่อคณะผู้พิพากษาก็ได้”

**ศาลเตี้ย**

นักวิจารณ์และผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก ต่างมองการพิจารณาคดีคราวนี้ว่าเป็นเพียงละครตบตา เพื่อส่งอิทธิพลทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะจัดขึ้นมีผลลัพธ์ไปในทางที่ฝ่ายทหารปรารถนา ขณะที่ฝ่ายอัยการได้รับอนุญาตให้เรียกพยานฝ่ายตนขึ้นให้การ 23 ปาก โดยที่มี 14 ปากขึ้นให้การจริงๆ ทางฝ่ายจำเลยซึ่งขอศาลเรียกพยานมาให้ปากคำ 4 คน กลับได้รับอนุญาตเพียง 2 คนเท่านั้น จึงเป็นการตอบย้ำการวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มสิทธิทั้งหลายว่า ระบบศาลของพม่านั้นไม่มีความเป็นอิสระ

“การพิจารณาคดีนี้มีการเขียนบทเอาไว้ทั้งหมด และผลตอนสุดท้ายก็ถูกตัดสินกันเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว” มาร์ก แคนนิง (Mark Canning) เอกอัครราชทูตอังกฤษในย่างกุ้งบอกระหว่างให้สัมภาษณ์เอเชียไทมส์ออนไลน์ แคนนิงได้ข้อสรุปเช่นนี้จากการที่เมื่อเร็วๆ นี้เขาได้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีอยู่นัดหนึ่ง โดยที่การพิจารณาคดีนี้ห้ามไม่ให้สาธารณชนทั่วไปเข้าฟัง

บรรดานักวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองนี้ ต่างเห็นด้วยกับการประเมินของเอกอัครราชทูตอังกฤษ “คณะทหารกลัวอองซานซูจี เลยต้องการขังเธอไว้ตลอดกาล” เป็นคำกล่าวของ ซินลินน์ (Zin Linn) อดีตนักโทษการเมืองที่เวลานี้ทำหน้าที่เป็นโฆษกในต่างประเทศให้แก่ฝ่ายค้านของพม่าโดยประจำอยู่ในประเทศไทย “จากการวางแผนไว้ว่าจะจัดการเลือกตั้งในปี 2010 พวกเขาจึงไม่มีทางยินยอมให้เธอได้รับอิสรภาพเพื่อมารณรงค์หาเสียงคัดค้านพวกเขาแน่” เขาบอก

“การพิจารณาคดีนี้คือความพยายามที่จะสยบเสียงทุกเสียงของพวกไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งขี้โกงที่วางแผนจัดขึ้นในปีหน้า” อองดิน (Aung Din) นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าชั้นแนวหน้า ซึ่งประจำอยู่ในสหรัฐฯ ให้ความเห็น “ไม่มีใครที่ยังสงสัยไม่แน่ใจกันหรอกว่าการตัดสินจะออกมายังไง” โมโม (Moe Moe) คนขับรถแท๊กซี่ในย่างกุ้งบอก “พวกชุดเขียวในเนย์ปิดอว์ [เมืองหลวงใหม่ซึ่งอยู่ขึ้นไปทางเหนือของย่างกุ้งราว 400 กิโลเมตร] รู้ดีว่าเธอเป็นวีรสตรีของประชาชน และเป็นผู้นำที่แท้จริงของประเทศนี้” เขากล่าวต่อ

ถึงแม้ผู้คนในท้องถิ่นต่างกระวนกระวายเฝ้ารอคำตัดสินในคดีนี้ แต่แทบไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนเลยที่เชื่อว่า หากศาลตัดสินว่ามีความผิดแล้ว จะจุดชวนทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนครั้งใหญ่ ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2007 โดยในคราวนั้นเริ่มต้นขึ้นด้วยการร้องเรียนเรื่องที่ราคาอาหารและราคาเชื้อเพลิงพุ่งลิ่วอย่างรวดเร็ว แล้วต่อมาก็กลายเป็นการนำเอาผู้คนนับพันนับหมื่อนออกมาสู่ท้องถนนโดยเป็นการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลอย่างชัดเจนและมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ ความพยายามที่ล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองด้วยอำนาจประชาชนคราวนี้ ต่อมาได้เป็นที่รูจักกันทั่วโลกในนามของ “การปฏิวัติผ้าเหลือง” (Saffron Revolution)

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าประชาชนต่างโกรธแค้นระบอบปกครองทหาร และประชาชนจะยิ่งโกรธแค้นมากขึ้นอีกถ้าพวกเขาลงโทษดอว์ซู[จี] แต่ประชาชนก็รู้สึกด้วยว่าไร้อำนาจที่จะไปทำอะไรพวกเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ฝ่ายทหารได้ปราบปรามกวาดล้างการลุกฮือผ้าเหลืองไปเมื่อ 2 ปีก่อน” นักการทูตชาวตะวันตกซึ่งประจำอยู่ในย่างกุ้งผู้หนึ่งบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ พวกนักหนังสือพิมพ์ในพม่าก็เห็นด้วยว่า ชาวบ้านท้องถิ่นส่วนใหญ่ต่างต้องกังวลและต้องสาละวนกับการเอาชีวิตรอดไปวันๆ อยู่แล้ว จนกระทั่งไม่คิดที่จะออกมาต่อสู้ตามท้องถนน กระนั้นก็ตาม ในระดับนานาชาติแล้วได้เกิดเค้าพายุใหญ่แห่งการประท้วงขึ้นมาตั้งแต่ที่ซูจีถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีเมื่อกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา แม้กระทั่งเลขาธิการสหประชาชาติ บันคีมุน ก็ออกจากพม่าด้วยความโกรธขึ้งตอนต้นเดือนนี้ เมื่อตานฉ่วยปฏิเสธคำขอของเขาที่จะเข้าเยี่ยมผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกคุมขังอยู่

มีบางคนเชื่อว่าในเร็วๆ นี้ คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นน่าจะมีการพิจารณาญัตติที่มุ่งเล่นงานระบอบปกครองทหารของพม่า ภายหลังปรากฏรายงานข่าวหลายกระแสว่า เรือเกาหลีเหนือลำหนึ่งพยายามที่จะไปส่งชิ้นส่วนขีปนาวุธหรือไม่ก็เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ให้แก่พม่า อันเป็นการละเมิดมติที่คณะมนตรีผ่านออกมาคว่ำบาตรโสมแดง ถึงแม้ในระยะไม่นานมานี้ จีนและรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรของพม่า ได่ใช้อำนาจยับยั้งของพวกตนในการขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงสามารถผ่านญัตติที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำในการเสนอ เพื่อลงโทษการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมโหฬารของระบอบปกครองนี้ก็ตามที

สัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างการประชุมระดับสูงของสมาคมอาเซียนที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศจำนวนมากได้เรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวเธอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ให้สัญญาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในความสัมพันธ์กับระบอบปกครองทหาร หากซูจีได้เป็นอิสระ “ถ้าเธอได้รับการปล่อยตัว นั่นก็จะเป็นการเปิดประตูให้แก่โอกาส ... ที่จะขยายความสัมพันธ์ของเรา รวมทั้งการลงทุนด้วย” เธอบอกกับผู้สื่อข่าว

ทว่าระบอบปกครองนี้กลับมีปฏิกิริยาอย่างโกรธเกรี้ยว ต่อสิ่งที่พวกเขาถือว่าเป็นการที่ภายนอกเข้าแทรกแซงกิจการภายในของตน และบอกว่าการข่มเหงรังแกจากนานาชาติจะไม่สามารถมีอิทธิพลต่อกระบวนการยุติธรรมของพม่าได้ การเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและนักโทษคนอื่นๆ “เป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย” บทบรรณาธิการในช่วงสุดสัปดาห์ของนิวไลต์ออฟเมียนมาร์ กล่าวตอบโต้เสียงเรียกร้องของสหรัฐฯและอาเซียนให้ปล่อยตัวเธอ “เธอจะต้องเผชิญการลงโทษตามกฎหมาย ศาลจะเป็นผู้กำหนดโทษทัณฑ์อันสมเหตุสมผลแก่เธอถ้าหากพบว่าเธอมีความผิด และศาลก็จะปล่อยตัวเธอถ้าหากพบว่าเธอไม่มีความผิด” หนังสือพิมพ์ของทางการพม่าฉบับนี้บอก

อย่างไรก็ตาม เบนจามิน ซาวัคคี (Benjamin Zawacki) นักวิจัยด้านพม่าที่ประจำอยู่ในกรุงเทพฯขององค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) กล่าวตอบโต้ว่า “มันไม่ใช่คำถามที่ว่ากระบวนการพิจารณาคดีนี้มีความยุติธรรมหรือไม่ เพราะที่จริงแล้วเธอไม่ควรถูกนำตัวขึ้นศาลตั้งแต่ต้นแล้ว มันจึงเป็นแค่เพียงโรงละครทางการเมืองและโรงละครทางกฎหมายเท่านั้นเอง” เขาบอกต่อไปว่า “ในฐานะที่เธอต้องตกเป็นนักโทษทางมโนธรรมสำนึก (prisoner of conscience) เธอจึงควรได้รับการปล่อยตัวในทันที” ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์นี้ องค์การนิรโทษกรรมสากลก็เพิ่งมอบรางวัล “ทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” (Ambassador of Conscience) ให้แก่ซูจี โดยที่ผู้รับรางวัลในนามของเธอก็คือ โบโน นักดนตรีร็อกชาวไอริชผู้รณรงค์ต่อสู้ให้เธอได้รับการปลดปล่อยมานานแล้ว

สัญญาณเครื่องบ่งชี้ทั้งหลายที่ปรากฏออกมาในเวลานี้ต่างบ่งบอกว่า ถ้าหากไม่ถูกผลักดันจากพวกผู้อุปถัมภ์รายสำคัญที่สุดของพวกเขาในปักกิ่งแล้ว นายพลเหล่านี้ก็จะทำตัวเหมือนอดีตที่ผ่านมา นั่นคือไม่แยแสสนใจต่อเสียงเรียกร้องจากนานาชาติให้ปล่อยตัวซูจีและดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่แท้จริง “พวกเขาเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงไม่ว่านานาชาติจะแสดงความวิตกห่วงใยอย่างไร และยังคงดำเนินการกดขี่ปราบปรามอย่างมุ่งทำลายล้างให้ย่อยยับ ต่อพวกที่ไม่เห็นด้วยกับทางการทุกๆ ราย โดยตัดสินลงโทษอย่างหนักหน่วงสุดๆ ต่อการประท้วงแบบประชาธิปไตยที่ถูกถือว่าเป็นอาชญกรรม” เปาโล แซร์จิโอ ปินเฮียโร อดีตผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในพม่าของยูเอ็น กล่าวแจกแจง

เชื่อกันว่าตานฉ่วยกำลังรอให้มีการตัดสินคดีนี้ ซึ่งจะยิ่งลดสิทธิ์ลดเสียงของซูจีและพรรคเอ็นแอลดีของเธอให้น้อยลงไปอีก จากนั้นจึงจะประกาศแผนการส่งมอบอำนาจให้แก่คณะรัฐบาลพลเรือน ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้งในปีหน้า ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของนักวิเคราะห์ตลอดจนบุคคลวงในระบอบปกครองนี้บางราย มีรายงานว่าตานฉ่วยได้พูดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากต่างประเทศที่มาเยือนพม่าผู้หนึ่งว่า “ทั่วทั้งประเทศจะต้องประหลาดใจกันจริงๆ เมื่อได้เห็นว่ามีการส่งมอบอำนาจกันอย่างไร” ทั้งนี้ตามปากคำของแหล่งข่าวรายหนึ่งที่ทราบเรื่องการพบปะครั้งนี้

แหล่งข่าวทหารพม่าหลายรายก็ยืนยันว่า ในโรดแมปสู่ “ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย” (discipline democracy) ของคณะทหารนั้น ในขั้นต่อไปจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความเคลื่อนไหวไปในทิศทางดังกล่าวนี้ก็คือ กระทรวงของรัฐบาลทุกกระทรวงได้รับคำสั่งให้ทำงานที่สำคัญๆ ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม รวมทั้งงานตระเตรียมข้อมูลทางสถิติด้วย อ่องตอง (Aung Thaung) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม 1 ซึ่งเป็นคนสนิทไว้วางใจของตานฉ่วย ได้กล่าวกับพวกผู้ช่วยของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อีกไม่นานก็จะมีรัฐบาลชุดใหม่ และเขาอาจจะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป

“ตามแผนการของตานฉ่วยนั้น รัฐมนตรีในปัจจุบันทั้งหมดจะต้องลาออก ถ้าหากพวกเขาจะไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองและร่วมการรณรงค์เลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง” วินมิน (Win Min) นักวิชาการอิสระด้านพม่าซึ่งประจำอยู่ในไทยกล่าว เขาพูดต่อไปว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบ่งบอกใดๆ ว่าใครจะอยู่ในคณะรัฐบาลชั่วคราวนี้บ้าง

อย่างไรก็ดี พวกนักการทูตที่ประจำอยู่ในพม่าต่างแสดงความระแวงสงสัยว่า เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเช่นนี้ไม่ว่าจะออกมาเช่นไร อย่างมากที่สุดก็เป็นแค่เพียงการผัดหน้าทาแป้งเท่านั้น โดยที่ฝ่ายทหารยังคงเป็นผู้กุมอำนาจอยู่ตามเดิม “มีสัญญาณมากมายเหลือเกินที่บ่งชี้ว่า โรดแมปนี้ไม่ได้เป็นกระบวนการที่มุ่งจะให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน และการลงประชามติ [ที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว] ก็ทำให้ความสงสัยใดๆ ที่ยังมีกันอยู่เป็นอันหมดสิ้นไปเลย” ปินเฮียโรกล่าว “นี่เป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยจุดบกพร่องมากมายเหลือเกิน มันจะไม่พาเดินไปถึงไหนทั้งนั้น มันก็แค่เป็นวิธีรวมศูนย์กระชับอำนาจการควบคุมรัฐของฝ่ายทหารเท่านั้นเอง”

ลาร์รี จาแกน เคยทำหน้าที่รายงานข่าวด้านการเมืองพม่าให้แก่บีบีซี เวลานี้เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระโดยประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น