ASTVผู้จัดการออนไลน์/เอเอฟพี -- โฆษกกระทรวงการต่างประเทศลาว นายแคนทอง นวนทะสิง กล่าวเมื่อวันจันทร์ (4 พ.ค.) ว่า ได้ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับนักโทษชาวอังกฤษถูกจับคดียาเสพติดในลาว แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันในรายละเอียดอะไรได้ ในขณะที่นักการทูตอังกฤษในไทยวิ่งวุ่นช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลอะไรในมือแม้แต่น้อย
ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี รองกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้เดินทางเข้าเวียงจันทน์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการให้ซามันธา โอโรบาเทอร์ (Samantha Orobator) ได้รับการปรึกษาด้านกฎหมายที่เพียงพอ ก่อนถูกนำขึ้นไต่สวนในศาลลาว ซึ่งยังไม่ทราบกำหนดเวลาที่แน่นอน
กลุ่มรณรงค์ช่วยเหลือนักโทษสาววัย 20 ปีผู้นี้ได้ออกโรงสัปดาห์ที่แล้ว โจมตีรัฐบาลว่าละเลยและช่วยเหลือเธออย่างล่าช้าในขณะที่ ผู้ต้องหาชาวอังกฤษกำลังจะถูกนำตัวขึ้นไต่สวนในสัปดาห์นี้ ซึ่งเธออาจจะถูกศาลลาวตัดสินประหารชีวิตได้ แต่กลุ่มรณรงค์ดังกล่าวไม่ได้อ้างที่มาของข้อมูล
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศลาวกล่าวว่า เท่าที่ทราบนั้นที่ผ่านมายังไม่เคยมีชาวต่างชาติคนใดถูกประหารชีวิตในลาว
ขณะเดียวกัน เอเอฟพีได้อ้างรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ว่า แม้ว่ากฎหมายลาวจะมีกำหนดโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตสำหรับการกระทำความผิดต่างๆ ก็ตาม แต่ประเทศนี้มีระบบการละเว้นโทษประหารชีวิต
เอไอออกเดือน ก.ค.ปีที่แล้วระบุว่า ในลาวยังไม่เคยมีการประหารชีวิตนักโทษใดๆ มาตั้งแต่ปี 2532 องค์การสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอนแห่งนี้ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ดำเนินการขั้นต่อไป เพื่อยกเลิกโทษประหารอย่างเป็นทางการ
หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ในอังกฤษรายงานก่อนหน้านี้ ว่า ซามันธาถูกจับในเดือน ส.ค.2551 ที่สนามบินวัดไตหลังเดินทางจากประเทศไทย เธอถูกกล่าวหาว่ามีเฮโรอีน 680 กรัมในครอบครอง
แต่รายงานของเอเอฟพีเมื่อวันจันทร์ ระบุว่า เธอถูกจับขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินจากลาวเข้าประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มรณรงค์กล่าวว่า เฮโรอีนที่ถูกกล่าวหาว่า เธอมีอยู่ในครอบครองนั้น ปริมาณไม่มากแต่ก็เกินปริมาณที่กำหนดไว้สำหรับโทษประหารชีวิต ตามกฎหมายของลาว
กลุ่มรณรงค์ “รีพรีฟว์” (Reprieve) ออกแถลงในกรุงลอนดอนวันเสาร์ (2 พ.ค.) ที่ผ่านมาระบุว่า นักโทษสาวผู้นี้ตั้งครรภ์ในเดือน ธ.ค.ปีเดียวกัน ในเรือนจำโพนต้อง ชานนครเวียงจันทน์ ทั้งๆ ที่ถูกคุมขังในแดนหญิงมาตลอด ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นการตั้งครรภ์อย่างตั้งใจ โดยหวังจะได้รับการลดหย่อนโทษ หรือถูกข่มขืน กลุ่มดังกล่าวได้เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษตรวจสอบเรื่องนี้ รวมทั้งให้การช่วยเหลือเธอด้านกฎหมายอย่างเร่งด่วน
นายบิล รามเมล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในกรุงลอนดอนว่า รัฐบาลได้เอาใจใส่และเฝ้าติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด และกำลังดำเนินการทุกทางเพิ่อ ให้แน่ใจว่า เธอจะได้พบกับทนายความและได้รับการปรึกษาด้านกฎหมายอย่างเพียงพอ
โฆษกสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยกล่าวทำนองเดียวกันว่า ที่นั่น “กำลังให้การช่วยเหลือทางกงสุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้แน่ในว่าซามันธาจะมีผู้แทนทางกฎหมาย (เพื่อต่อสู้คดี)..”
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีฝ่ายใดทราบว่า จะมีการไต่สวนกรณีนี้ในวันใด และมีกำหนดการอย่างไร นักการทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ ผู้หนึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้กับเอเอฟพี ว่า “เท่าที่เราทราบทั้งหมดก็คือ ไม่ใช่วันนี้” ขณะที่โฆษกฝ่ายลาวกล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันอะไรได้
กลุ่ม “รีพรีฟว์” โดยนายสตาฟฟอร์ด สมิธ (Stafford Smith) กล่าวว่า ซามันธายังไม่เคยได้พบกับทนายความหรือนักกฎหมายเลย และ แอนนา โมริส (Anna Moris) ทนายความของกลุ่ม เดินทางถึงเวียงจันทน์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยัง ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์สกายนิวส์ (Sky News) ว่า มีกำหนดจะเข้าพบซามันธาในวันอังคาร (5 พ.ค.) นี้
กลุ่มนี้กล่าวหาว่าฝ่ายลาวกำลังดำเนินการที่จะไม่ให้ผู้ต้องหารายนี้มีโอกาสได้พบทนายความ และได้เลื่อนกำหนดการไต่สวนจากกำหนดเดิมในปีหน้ามาเป็นสัปดาห์นี้ รัฐบาลอังกฤษควรจะใช้อำนาจที่มีอยู่ทำให้รัฐบาลลาวชะลอการไต่สวนออกไปเป็นปีหน้าเช่นเดิม เพื่อให้มีโอกาสต่อสู้ในแง่กฎหมาย
ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ กล่าวในกรุงลอนดอนเมื่อวันเสาร์ ว่า รองนายกรัฐนมตรีลาวผู้หนึ่งจะไปเยือนอังกฤษในสัปดาห์นี้ และจะมีการหารือเรื่องนี้ในวันพฤหัสบดี แต่ นายสตาฟฟอร์ด กล่าวว่า ถึงเวลานั้นก็อาจจะสายเกินไป ศาลลาวอาจจะไต่สวนกรณีซามันธาไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเธอจะถูกตัดสินลงโทษด้วยการประหารชีวิต
ซามันธา โอโรบาเทอร์ เกิดในไนจีเรีย แต่อพยพไปอาศัยอยู่ในอังกฤษตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และเป็นพลเมืองอังกฤษ ผู้ใกล้ชิดกล่าวว่าก่อนที่จะเดินทางไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้ เธอได้ไปท่องเที่ยววันหยุดในประเทศเนเธอร์แลนด์