xs
xsm
sm
md
lg

ป่องปริศนาคาคุกลาว..นักโทษสาวจากเมืองผู้ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00> ภาพเอเอฟพีวันที่ 2 พ.ค.2552 ไคลว์ สตาฟฟอร์ด (Clive Stafford) นักกฎหมายชาวอเมริกัน (ซ้าย) รอนกี โอเซนี (Ronke Oseni) เพื่อนของซามันธา โอโรบาเทอร์ (Samantha Orobator) กับสตีเฟน พาวด์ (Stephen Pound) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงข่าวในกรุงลอนดอนวันเสาร์ (2 พ.ค.) ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลรีบช่วยเหลือนักโทษสาวที่ถูกคุมขังในคุกลาวขณะนี้ และสอบสวนกรณีที่เธอตั้งครรภ์ด้วย. </FONT></br>
ชมคลิปจาก Youtube ฟังคุณแม่ น้องๆ และ เพื่อนห่วงใย

ASTVผู้ตจัดการออนไลน์ -- นักโทษสาววัย 20 จากอังกฤษอาจจะถูกศาลลาวตัดสินประหารชีวิตในสัปดาห์นี้ หลังถูกจับที่สนามบินวัดไตปีที่แล้วฐานมีเฮโรอีน กว่าครึ่งกิโลกรัมในครอบครอง พร้อมๆ กับเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรเข้าแทรกแซงเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ทุกฝ่ายรวมทั้งสื่อต่างๆ ในอังกฤษกำลังให้ความสนใจต่อประเด็นที่ว่า เธอตั้งครรภ์ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ถูกขังรวมในห้องสำหรับนักโทษหญิงล้วนๆ

ตามรายงานของสื่อในอังกฤษที่อ้างรายงานเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ทางการลาวได้เร่งการสอบสวนสืบสวนกรณีของ ซามันธา โอโรบาเตอร์ (Samantha Orobator) วัย 20 ปี และเลื่อนการพิจารณาคดีจากปีหน้ามาเป็นสัปดาห์หน้า โดยไม่มีการแจ้งให้ฝ่ายอังกฤษรับทราบล่วงหน้า โดยเจ้าหน้าที่ลาวอ้างว่าที่นั่นไม่เครื่องโทรสาร สิ่งนี้ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าจะให้การช่วยเหลือเธอทางด้านกฎหมายไม่ทันการณ์

ซามันธา เดินทางจากไทยไปลาวและถูกจับที่สนามบินวัดไตในเดือน ส.ค.2551 พร้อมเฮโรอีน 0.6 กก.ซึ่งเป็นปริมาณมากพอที่จะทำให้ศาลตัดสินลงโทษด้วยการประหารชีวิตเช่นกรณีอื่นๆ เจ้าหน้าที่พบว่าเธอตั้งครรภ์ในเดืออน ธ.ค.ทั้งๆ ที่ถูกขังรวมในห้องนักโทษหญิงตลอดเวลาที่เรือนจำโพนต้อง ชานนครเวียงจันทน์
<br><FONT color=#CC00>ภาพจากเว็บไซต์เดอะเมล์ ซามันธา โอโรบาเทอร์ ป่องปริศนา หลังถูกคุมขังในแดนหญิงเรือนจำโพนทองของลาวได้ห้าเดือน </FONT></br>
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน รายงานว่า ยังใม่เป็นที่ชัดเจนว่าหญิงสาวยอมตั้งครรภ์ด้วยความสมัครใจหรือไม่ ขณะที่ข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งรายงานว่า “เป็นไปได้อย่างมากที่เธออาจจะถูกข่มขืน” และยังไม่เป็นที่ชัดเจนเช่นเดียวกันว่ากฎหมายของลาวละเว้นโทษประหารให้แก่นักโทษที่กำลังตั้งครรภ์หรือไม่ (คลิกเพื่อชมรายการข่าวทีวี)

แต่ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ นายบิล รามเมล (Bill Rammel) กล่าวว่า อังกฤษกำลังพยายามให้การช่วยเหลือทางด้านกงสุลแก่ซามันธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้มั่นใจว่าเธอมีโอกาสที่จะเข้าถึงทนายความ มีการออกคำแถลงในกรุงลอนดอนในวันเสาร์ (2 พ.ค.) ระบุว่า อังกฤษมีนโยบายชัดเจนคัดค้านการลงโทษประหารชีวิตในทุกกรณี

ขณะเดียวกัน กลุ่มรณรงค์เพื่อซามันธา ที่ใช้ชื่อว่า “รีพรีฟว์” (Reprieve) โดยไคลฟ์ สแตฟฟอร์ด สมิธ (Clive Stafford Smith) ซึ่งเป็นนักกฎหมายชาวอเมริกัน กล่าวว่า ทางการอังกฤษดำเนินการเรื่องนี้ช้าเกินไป จนอาจจะช่วยเหลือเธอได้ไม่ทัน ขณะที่การไต่สวนจะเริ่มในอีกไม่กี่วัน

นายสมิธ กล่าวหาว่า ทางการลาวได้เลื่อนการไต่สวนซามันธาให้เร็วขึ้น 1 ปี เพื่อไม่ให้เธอมีโอกาสพบกับทนายความ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนให้โกรธเคืองอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้รัฐบาลทำทุกอย่างภายใต้อำนาจที่มีอยู่เพื่อให้มีการเลื่อนกำหนดการไต่สวนกลับไปเป็นปีหน้า และให้สอบสวนว่านักโทษสาวซึ่งมีกำหนดคลอดในเดือน ก.ย.ปีนี้ตั้งครรภ์ในเรือนจำของลาวได้อย่างไร

กลุ่มรณรงค์นี้ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมามีผู้ถูกตัดสินประการชีวิตในลาวด้วยความผิดฐานต่างๆ รวม 39 คน

ทางการอังกฤษ ยอมรับว่า ได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาวคนนี้หลายเดือนหลังจากเธอถูกจับไปแล้ว แต่ นายรามเมล กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสนใจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดและมีการไปเยี่ยมเยือนโอราบาเทอร์รวม 6 ครั้งนับตั้งแต่ถูกจับ โดยเจ้าหน้าที่จากสถานทูตที่ประจำในประเทศไทย นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่จากสถานทูตออสเตรเลียในเวียงจันทน์ก็ได้ไปเยี่ยมเธอรวม 10 ครั้ง
<br><FONT color=#CC00>ภาพเอเอฟพีวันที่ 2 พ.ค.2552 รอนกี โอเซนี (Ronke Oseni) เพื่อนของซามันธา โอโรบาเทอร์ กล่าวว่าเธอนึกไม่ออกว่าเพื่อนเคราะห์ร้ายกำลังจะเจออะไรบ้างในคุกลาว </FONT></br>
ผู้ช่วยรัฐมนตรีผู้นี้ กล่าวว่า กำลังจะมีการพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของลาวที่จะเดินทางไปเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการในวันอังคาร (5 พ.ค.) ศกนี้ แต่กลุ่มรีพรีฟว์โต้แย้งว่า นั่นยังไม่ดีพอ เพาะว่าถึงวันนั้นการไต่สวนคดีอาจจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ได้

ทางการลาวยังไม่เคยแถลงเรื่องราวเกี่ยวกับนักโทษชาวอังกฤษผู้นี้มาก่อน และสื่อในอังกฤษรายงานว่า ซามันธา ถูกคุมขังที่เรือนจำโพนทองมาตลอดตั้งแต่ถูกจับ ซึ่งที่นั่นบรรดาผู้ต้องขังได้พากันร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกละเมิดและการถูกทุบตี

รอนกี โอเซนิ (Ronke Oseni) นักศึกษาจิตวิทยาวัย 21 ปี แห่งมหาวิทยาลัยคิงสตัน ซึ่งเป็นเพื่อนของซามันธา กล่าวว่า เพิ่งได้รับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ของเพื่อนเธอคนนี้สัปดาห์ที่แล้ว และทราบว่าไม่มีใครไปเยี่ยมเธอ ไม่มีใครพูดคุยด้วย และเธอพูดภาษาลาวไม่ได้

“พวกเขาคงอยากจะยิงเป้าเธอ ซึ่งเป็นโทษที่ไม่สมควรสมกับการกระทำผิด แล้วเด็กในท้องจะทำอย่างไร” รอนกี กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน

ซามันธา โอราบาเทอร์ เกิดในประเทศไนจีเรีย แต่ไปอาศัยอยู่ในอังกฤษตั้งแต่อายุ 8 ขวบและเป็นพลเมืองอังกฤษ กลุ่มรณรงค์กล่าวว่า เธอยังไม่ได้พบกับทนายความแม้แต่ครั้งเดียวตั้งแต่ถูกจับกุม และยังไม่มีผู้ใดทราบเกี่ยวกับสภาพการณ์แวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของเธอ

เชื่อกันว่า หญิงสาวรายนี้กำลังจะเดินทางกลับอังกฤษโดยผ่านลาว ซึ่งก่อนหน้านั้นเธอได้เดินทางไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อท่องเที่ยวในวันหยุด

นายสมิธ กล่าวว่า ข้ออ้างของทางการลาวที่ไม่ได้แจ้งเรื่องนี้ต่อรัฐบาลอังกฤษก็คือ ที่นั่นไม่มีเครื่องโทรสารใช้ และอังกฤษได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเธอโดยบังเอิญ เมื่อนักการทูตออสเตรเลียได้รับข้อมูลข่าวสารจากนักโทษอีกคนหนึ่งในเรือนจำแห่งเดียวกัน

ห้องขังของเรือนจำดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 4 ตารางเมตร ใช้คุมขังนักโทษถึง 6 คน และอาหารสำหรับนักโทษก็เป็นเพียงต้มไขมันหมูกับข้าวเหนียวประมาณ 500 กรัมต่อวัน ขณะที่นักโทษส่วนใหญ่จะพึ่งพาอาหารที่ครอบครัวนำไปส่ง

นักโทษคนอื่นๆ ได้เคยร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดและถูกทรมาน นักโทษบางคนถูก (ไฟ) จี้ที่อวัยวะเพศ กลุ่มรณรงค์ กล่าว
(เขียนขึ้นใหม่จากรายงานของเอเอฟพี, เดอะการ์เดียน, เดอะเมล์)
กำลังโหลดความคิดเห็น