xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มทางการเมือง ภาคปลาย (หลักการโยฮันเนสเบิร์กกับกรณีลอบสังหารสนธิ และ ข้อกล่าวหาก่อการร้ายอันเป็นเท็จของกลุ่มพันธมิตรฯ )

เผยแพร่:   โดย: รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง, รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย

หลักการโยฮันเนสเบิร์ก (The Johannesburg Principles) อาจกล่าวได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ใช้กำกับดูแลภาครัฐในการใช้อำนาจเพื่อความมั่นคงที่อาจละเมิดหรือล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการรวมกลุ่มทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในรัฐนั้นๆ ดังนั้นการถ่วงดุลระหว่างความมั่นคงของรัฐและสิทธิเสรีภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้รัฐสามารถใช้เหตุผลด้านความมั่นคงเป็นข้ออ้างโดยไม่มีขอบเขตและพื้นฐานของเหตุผลที่พอเพียงในการใช้อำนาจที่มักมีแนวโน้มที่จะใช้เกินขอบเขตอยู่เสมอๆ และก่อให้เกิดความไม่มั่นคงติดตามมาในที่สุด

ไม่มีใครจะปฏิเสธว่าการรักษาซึ่งความมั่นคงของรัฐไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่จะดำเนินการโดยอาศัยกลไกต่างที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้น แต่การใช้อำนาจดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เพื่อประโยชน์หรือตามวัตถุประสงค์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐอย่างเคร่งครัด และมิอาจนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์แฝงเร้นที่มักจะถูกบิดเบือนเพื่อละเมิดหรือล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพฯ ของประชาชนที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ อันเนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหากมีคำจำกัดความที่กว้างขวาง ไม่ชัดเจน จะทำให้การใช้งานขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ที่ใช้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สามารถตีความไปได้อย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

เหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อ 11 กันยายน 2001 จึงเป็นจุดกำเนิดให้รัฐบาลสหรัฐอมริกาและในอีกหลายๆ ประเทศที่อ้างตัวว่ามีความเป็นประชาธิปไตยและพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าไทยได้สวมรอยใช้ข้ออ้างการต่อต้านการก่อการร้ายออกฎหมายที่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพฯ ของประชาชนอย่างรุนแรง ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลทักษิณได้ฉวยโอกาสออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2546 โดยหวังจะให้มีคำจำกัดความกำหนดความผิดฐานก่อการร้ายเป็นการเฉพาะ ทั้งๆ ที่มีกฎหมายอื่นๆ สามารถใช้ได้อยู่แล้ว และเพิ่มเติมฐานความผิดที่จะสามารถยึดทรัพย์โดยหวังที่จะใช้เป็นมาตรการตัดแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งนับตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ที่มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญาเป็นต้นมา การแก้ไขกฎหมายอาญาก็กระทำโดยการออกเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้นเพื่อให้มีความรอบคอบรัดกุมเพราะเกี่ยวเนื่องกระทบต่อสิทธิของพลเมืองโดยตรง

ผลของการออกพระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับจึงเป็นเพียงการเพิ่มโทษจากฐานความผิดเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ก่อให้เกิดผลกระทบในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเพราะบทบัญญัติเกี่ยวกับฐานความผิดไม่ชัดเจนและมีขอบเขตกว้างขวาง

ในเชิงรูปธรรมการถ่วงดุลระหว่างการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มทางการเมืองกับอำนาจรัฐอาจพิจารณาได้จาก กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Rights) ในข้อ 19 ที่ประเทศไทยรับและผูกพันที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพดังกล่าวไว้ดังนี้ (www.nhrc.or.th )

ข้อ 19

1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2. บุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภทโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

3. การใช้สิทธิตามวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อกำกัดในบางเรื่องแต่ทั้งนี้ข้อกำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน


จะเห็นได้ว่า สิทธิเสรีภาพของพลเมืองตามที่ระบุในข้อ 2 ในที่นี้จำเป็นจะต้องขึ้นอยู่กับข้อกำกัดตามข้อ 3 (คำว่า “ข้อกำกัด” ในฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า “certain restrictions” ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคำแปลในภาษาไทยไม่ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษที่เป็นต้นฉบับ) ที่หากรัฐจำเป็นต้องกำกัดการใช้สิทธิดังกล่าวก็จะต้องระบุหรือบัญญัติให้เป็นกฎหมายออกมาและใช้เพื่อวัตถุประสงค์ (ก) และหรือ (ข) เท่านั้น รัฐไม่สามารถใช้เพื่อการอื่นๆ ได้ การออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546 จึงเป็นความพยายามที่จะให้สอดคล้องกับความในข้อ 19 นี้แต่ก็ขาดความชัดเจนและแน่นอนอยู่ดี

หลักการโยฮันเนสเบิร์ก (ลองพิมพ์คำว่า The Johannesburg Principles ใน www.google.com จะปรากฏออกมามากมาย) แม้ว่าจะถูกร่างขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1995 จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจำนวน 36 คนที่มารวมกันที่มหาวิทยาลัย Witswatersrand ประเทศแอฟริกาใต้ แต่ก็เป็นที่ยอมรับและนำไปอ้างอิงอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ ทั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจ ศาล นักวิชาการ หลักการทั้งหมด 25 หลักการมิได้เป็นมาตรฐานที่สร้างขึ้นมาใหม่หากแต่เป็นการกลั่นกรองมาตรฐานที่มีอยู่เดิมออกมาจากหลายๆแหล่ง

ในส่วนแรกของหลักการโยฮันเนสเบิร์กจะเป็นหลักการทั่วไป (General Principles) ที่ประกอบไปด้วย 4 หลักการ ซึ่งเริ่มต้นด้วยหลักการที่ 1 ที่คล้ายคลึงกับข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ยกมาข้างต้นนี้ นอกจากนี้ในหลักการที่ 2-4 จะตอกย้ำในเรื่องของวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดของ การบัญญัติกฎหมายเพื่อยกเว้นการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวที่จะต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของความมั่นคงแห่งรัฐมิใช่เพื่อประโยชน์แฝงเร้นที่จะเป็นไปเพื่อปกป้องรัฐบาลจากการกระทำผิดหรือปกปิดข้อมูลของรัฐจากสาธารณชนมิให้รับรู้ เป็นต้น

ในส่วนที่ 2 ที่เป็นการกำกัดเสรีภาพในการแสดงออก (Restrictions on Freedom of Expression) ประกอบด้วยหลักการที่ 5-10 ที่อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การจะห้ามใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะโดยความคิดหรือการรวมกลุ่มชุมนุมจะกระทำได้ต่อเมื่อ การแสดงออกดังกล่าวยุยงให้เกิดความรุนแรง

ประเด็นสำคัญที่ถูกมองข้ามอยู่เสมอๆ ก็คือ incite beliefs กับ incite action การแสดงออก (หรือยุยง) ทางความคิดจะต้องทำให้เกิดความรุนแรงตามมาจึงจะเป็นเงื่อนไขตามกฎหมายที่รัฐสมควรห้ามการใช้สิทธิเสรีภาพฯ แต่การแสดงออกทางความคิด ความเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดการกระทำที่รุนแรงติดตามมาถือได้ว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะระงับการใช้สิทธิเสรีภาพ เช่น กรณีทางการตุรกีห้ามเผยแพร่โคลง (poem) ของชนกลุ่มน้อยชาวเคอร์ดิช (Kurdish) บนพื้นฐานของการสนับสนุนให้เกิดภูมิภาคนิยมและการรวมกลุ่มรักพวกพ้องไม่ถือว่าเป็นการยุยงให้เกิดความรุนแรง (European Court of Human Rights, Karatas v. Turkey, 8 Jul 1999)

ศาลในหลายๆ ประเทศจึงมีความเห็นว่าการแสดงออกฯ จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงจึงจะเป็นเงื่อนไขที่ถูกต้องตามกฎหมายที่รัฐจะใช้เป็นสาเหตุในการห้ามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือรวมกลุ่ม มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการปิดปากแล้วยังจะปิดกั้นทางความคิดอีก นอกจากนี้แล้ว การแสดงออกทางความคิดหรือการรวมกลุ่ม เช่น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายของรัฐบาล หรือการใช้ภาษาท้องถิ่น ก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ใช่การประทุษร้ายต่อความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด

รัฐบาลจึงมีหน้าที่ตาม หลักการที่ 10 ที่จะป้องกันกลุ่มที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจากกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่ง Inter-American Court of Human Rights หรือ European Court of Human Rights ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน

รัฐบาลสมัครและสมชายจึงละเมิดหลักการนี้อย่างชัดแจ้งเพราะนอกจากมิได้ปกป้องแล้วยังปล่อยให้มีการเข่นฆ่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตน เช่น ที่กลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปลายปี 2551 หรือนักศึกษาเมื่อ 6 ต.ค. 19 ประสบมา

ในส่วนที่ 3 จากหลักการที่ 11-19 จะเป็นการกำกัดเสรีภาพในการได้มาซึ่งข่าวสารข้อมูล (Restrictions on Freedom of Information) ที่อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นสิทธิเสรีภาพที่พลเมืองจะสามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลได้โดยเสรี การปิดบังจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการบัญญัติไว้โดยกฎหมายและกระทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น การจะอ้างว่าเป็นความลับทุกเรื่องจะไม่สามารถกระทำเป็นการทั่วไปได้หากแต่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้นจึงจะกระทำได้ จุดประสงค์ใหญ่ก็เพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ดังนั้นผู้ที่เปิดเผยข้อมูลที่แม้กฎหมายจะระบุว่าเป็นความลับแต่หากข้อมูลที่เปิดเผยมีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าโทษ (หลักการที่ 15) เช่น ระบุถึงการจ่ายสินบนในการซื้ออาวุธ หรือการกระทำผิดอื่นๆ แม้ว่าอาจจะทำให้ศัตรูรู้ว่าเรามีอาวุธจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่หากประโยชน์จากการเปิดเผยการกระทำผิดดังกล่าวมีมากกว่า ผู้เปิดเผยก็ไม่สมควรถูกลงโทษ เพื่อเป็นการส่งเสริมหรือเป็นหลักประกันให้มี “ผู้เป่านกหวีด” (whistleblower) เป็น “ผู้เปิดโปง” เมื่อมีการรู้เห็นกระทำผิดเกิดขึ้นในสังคมนั่นเองซึ่งทำให้การคอร์รัปชันทำได้ยากขึ้น

หลักการโยฮันเนสเบิร์กจึงเป็นเสมือนหลักปฏิบัติที่ดีหรือ best practice ที่สังคมจำเป็นต้องมีเพื่อถ่วงดุลระหว่างการใช้อำนาจของรัฐโดยอ้างความมั่นคงของชาติที่โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าคืออะไร แต่มักจะเอามาบังหน้าเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มของพลเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้นข้อสังเกตในที่นี้ประการหนึ่งก็คือ ประเทศที่เป็นเผด็จการหรือมีปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงสูงจะสังเกตเห็นได้ว่าจะมีการหลีกเลี่ยงหรือปฏิบัติในทางตรงกันข้ามกับหลักการโยฮันเนสเบิร์ก

ในกรณีการตั้งข้อหาก่อการร้ายกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอาจเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายตำรวจที่จะ ทำให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตโดยการถอนข้อกล่าวหา

การจะอ้างว่าเป็นคดีที่ไม่เคยมีมาก่อนจึงปฏิบัติไปเช่นที่ผ่านมาก็พอจะฟังได้บ้าง แต่ที่ไม่อาจรับฟังได้เลยก็คือการละเลยไม่สนใจว่าหลักปฏิบัติที่ดีที่ประเทศอื่นๆ ที่เขาทำกันนั้นเป็นอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักที่สากลพึงยึดถือ

ในประเทศอังกฤษที่มีการให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการก่อการร้ายคล้ายๆ กับที่ประเทศไทยมีอยู่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่ ไม่ชัดเจน และมีขอบเขตกว้างขวาง (Amnesty International, Briefing for the House of Commons’ second reading of the Terrorism Bill, 25 October 2005) ทำให้ผู้ปฏิบัติต้องใช้หรือสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินว่าการกระทำใดจะเป็นการก่อการร้ายหรือไม่

ผลก็คือ ทำให้เกิดบรรทัดฐานของความไม่แน่นอนเกิดขึ้นและสามารถก่อให้เกิดการลุแก่อำนาจโดยง่าย เพราะกฎหมายจำเป็นต้องมีความชัดเจนและมีขอบเขตที่แน่นอนจึงจะทำให้ผู้ที่อยู่ภายใต้กฎหมายเข้าถึงจุดประสงค์ที่ต้องการของกฎหมาย และไม่คลุมเครือกว้างขวางจนทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

To qualify as a measure “prescribed by the law” any legal provision restricting the exercise of the right to freedom of expression must be “accessible and unambiguous”, narrowly drawn and precise enough so that individuals subject to the law can foresee whether a particular action is unlawful. อ้างแล้ว Amnesty International, 25 October 2005 p.7

เพราะ “ลำพังผู้กระทำการขู่เข็ญ มีการใช้กรรไกรเพียงเล่มเดียวก็น่าจะเป็นความผิด (ตามกฎหมายไทยในข้อหาก่อการร้าย, ผู้เขียน) ได้แล้ว เช่น เพียงแต่ผู้กระทำขู่ว่าจะทำร้ายรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ทูต หรือขู่ว่าจะตัดสายโทรเลขโทรศัพท์ทางทหาร หรือจะใช้ขว้างปาใส่กระจกรถ หรือสถานที่ทำการทูตต่างประเทศ ก็เข้าองค์ประกอบความผิดแล้ว เพราะโดยพฤติการณ์มีกรรไกรเพียงเล่มเดียวก็เชื่อได้ว่าเขาจะทำตามที่ขู่ได้จริง” (ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, สะกิดกฎหมาย, 2546 หน้า 23)

ดังนั้นความผิดตามมาตรา 135/2 (1) มิต้องพูดถึง 135/2 (2) จึงสามารถที่จะนำมาใช้กับใครก็ได้มิต้องเป็นแต่เฉพาะพันธมิตรฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะการรวมกลุ่มเพื่อแสดงออกทางการเมืองก็อาจเป็นความผิดตาม 135/2 (2) ได้โดยง่ายเนื่องจากฐานความผิดที่กำหนดไว้ไม่ชัดเจนและมีขอบเขตกว้างขวาง ผู้ที่บริจาคข้าวปลาอาหารก็อาจผิดตาม 135/3ได้เช่นกัน

ดังเช่นที่ พงศ์เทพ เทพกาญจนา กล่าวในงานเสวนาของมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย เมื่อ 2 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า “ที่ผ่านมายังไม่มีคนเลวคนไหนหรือคนเลวกลุ่มใดที่เพียงแค่ 10 วันทำประเทศเสียหายไปกว่าแสนล้านบาท ... ความผิดครั้งนี้มิได้ผิดเฉพาะกลุ่มแกนนำเท่านั้น แต่ผู้ที่เข้าร่วมทั้งหมดที่มีกว่าหมื่นคนจะมีความผิดเดียวกันโทษฐานก่อการร้ายด้วย” (ไทยโพสต์ 3 ส.ค.52)

พงศ์เทพ เทพกาญจนา หรือผู้ที่เข้าร่วมเสวนาด้วย เช่น เหวง โตจิราการ หรือ สงคราม เลิศกิจไพโรจน์ จึงควรรู้ไว้ว่ากฎหมายที่กำกวมแบบนี้ หากคุณถูกกล่าวหาในข้อหาก่อการร้ายนี้เข้าบ้างแล้วคุณจะบอกไหมว่ามันเป็นกฎหมายที่ไม่ละเมิดสิทธิในการแสดงออก และไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้กล่าวหาใครแม้แต่คนเดียว

อย่าพูดถึงเรื่องที่ทักษิณโทร.เข้าแล้วกล่าวว่า “อย่ากลับบ้านมือเปล่า” หรือการอพยพลูกเมียออกนอกประเทศก่อนจลาจลเมษายนที่ผ่านมาว่า เป็นความผิดตาม 135/2 (2) หรือไม่เพราะอาจวินิจฉัยได้ว่าไม่ผิดอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนและมีขอบเขตกว้างขวาง ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นไปตามวรรคท้ายว่า . . .ยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีผู้จะก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้

ความผิดเกี่ยวกับลักษณะการก่อการร้ายตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2546

มาตรา 135/2 ผู้ใด

(1) ขู่เข็ญว่าจะกระทำการก่อการร้าย โดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการตามที่ขู่เข็ญจริง หรือ

(2) สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีผู้จะก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท


มาตรา 135/3 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 135/1 หรือมาตรา 135/2 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นๆ

ดังนั้น คดีลอบสังหารสนธิ หรือคดีก่อการร้ายที่กล่าวหากลุ่มพันธมิตรฯ จึงมิใช่เรื่องส่วนตัว ที่สังคมไม่ควรให้ความสนใจ หากแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมดุลระหว่างการใช้อำนาจรัฐภายใต้ข้ออ้างเพื่อความมั่นคงของรัฐกับสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในการที่จะแสดงออกโดยเสรีซึ่งความคิดเห็นและการรวมกลุ่มทางการเมืองได้โดยเสรี

เพราะไม่ว่าจะเป็นคดีใดก็ตามต่างก็ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแสดงออกทางความคิดหรือร่วมกันที่จะแสดงออกเพื่อพูดความจริง เพื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบาย (ที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง) ของรัฐบาล ที่รัฐต้องมีหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพเหล่านี้มิให้ผู้ใดหรือกลุ่มใดเข้ามาละเมิดได้

และ เป็นเส้นแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างการกระทำของพวกเสื้อแดง เช่น การชุมนุมเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา การชุมนุมที่พัทยา หรือการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นถวายฎีกาเพื่อขออภัยโทษให้ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นไปตามหลักการใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่

รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงควรมีสติมากกว่านี้และใช้ “สติ” แล้วจะพบซึ่ง “ปัญญา” เพื่อทบทวนสิทธิเสรีภาพฯ ของประชาชนชาวไทยที่คุณอาสาจะเข้ามาดูแล ว่าสมควรหรือไม่ที่จะต้อง

ปลดย้ายผู้ที่ทำงานฝ่ายความมั่นคง เพราะบุคคลเหล่านั้นมิใช่เป็นอุปสรรคในการทำคดีลอบสังหารสนธิแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกอย่างรุนแรง หรือ

ไม่ปล่อยให้ฝ่ายความมั่นคงไปกล่าวหาพลเมืองของตนเองอย่างเลื่อนลอย ขาดสติ ดังเช่นกรณีคดีก่อการร้ายที่กล่าวหากลุ่มพันธมิตรฯ หรือ

เตรียมการรับมือกับการล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาของเสื้อแดง ที่ไม่มีกฎหมายใดรองรับไว้เลยว่าทำได้ แต่กลับไปตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านการถวายฎีกาเป็นการตอบโต้ ทำเป็นเด็กที่เมื่อเอ็งทำได้ข้าก็ทำได้ ทั้งที่ควรจะชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบตั้งแต่แรก ว่าสิทธิเสรีภาพแบบนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ก็จะหมดปัญหามิใช่หรือ

แม้หลักการประชาธิปไตยและหลักการสิทธิมนุษยชนจะไม่มีบทลงโทษโดยตรงกับผู้ที่ละเมิดไม่ปฏิบัติ แต่หากไม่ยึดถือปฏิบัติแล้วไทยเราจะแตกต่างกับพม่าที่ตรงไหน?

หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น