ตาก - ผบ.ฉก.ร.4 สั่งเพิ่มความเข้มงวดการลักลอบขนแรงงงานเถื่อน หลัง ครม.มีมติ ต่อใบอนุญาตทำงาน ทั้งเก่า-ใหม่เพิ่ม รับนโยบายรัฐเพิ่มปัญหาให้รุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหานักการเมืองพม่าใช้พื้นที่ชายแดนไทยประท้วงรัฐบาลทหาร ยังไม่ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ ในระดับ TBC
พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด (ฉก.ร.4) ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวถึงมาตรการการป้องกันปราบปรามและควบคุมแรงงานต่างด้าว กะเหรี่ยง-พม่า อพยพ เข้ามายังประเทศไทย หลัง ครม.มีมติ อนุมัติให้ต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว และยังเปิดให้มาทำเพิ่มใหม่ ว่า ทหาร มีมาตรการในการทำงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง (ทหาร-ตำรวจ-ปกครอง-ด่านตรวจคนเข้าเมือง-ตชด.) และสามารถจับกุมได้เป็นประจำ ไม่ว่ากลุ่มขบวนการค้าแรงงานต่างด้าวจะใช้ยุทธวิธีใดในการขนบุคคลดังกล่าวลักลอบเข้ามาในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามติ ครม.ที่จะเปิดการจดทะเบียนอนุญาตทั้งรายเก่าและรายใหม่ มีส่วนทำให้แรงงานต่างด้าวจะลักลอบเข้าเมืองเพิ่มมากขึ้น เราจึงต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมและป้องกันและจับกุม
“ปัญหาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะข้อตกลงการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จะต้องให้พม่ารับรองในการพิสูจน์สัญชาติ ถามว่าหากพม่าไม่รับรองอะไรจะเกิดขึ้น และแรงงานที่เข้ามาอยู่แล้วจะทำอย่างไร อีกประการคือเราต้องถามตัวเองด้วยว่าเราขาดแคลนแรงงานจริงหรือไม่ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศไม่ดี มีการเลิกจ้างงานสูง สถานประกอบการหลายแห่งเลิกกิจการ แล้วจะเอาแรงงานต่างด้าวมาทำอะไร” ผบ.ฉก.ร.4 กล่าว
ผบ.ฉก.ร.4 ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่า ระดับท้องถิ่น หรือ TBC แม่สอด-เมียวดี กล่าวถึงปัญหาการเมืองของพม่า ที่มีนักการเมืองลี้ภัยชาวพม่ามาเดินชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าให้อิสรภาพและปล่อยตัวนางอ่องซานซูจี ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า และที่หน้าสำนักงาน UNHCR สาขาแม่สอด ว่า ไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในระดับ TBC แต่รู้สึกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากจะมีการเดินประท้วงที่บริเวณชายแดน เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
เช่น ที่บริเวณเกาะกลางแม่น้ำเมย มีกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีทั้งการกระทำสิ่งผิดกฎหมาย และการก่ออาชญากรรม หากเห็นมีการประท้วงและกลุ่มคนเหล่านั้นก่อเหตุขึ้นมาจะยิ่งกระทบกับความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย
การชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธินั้นสามารถทำได้แต่ขอให้อยู่ในกรอบ เช่นการประท้วงในพื้นที่ชั้นในที่หน้า UNHCR สามารถทำได้เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิของบุคคลในการแสดงออก โดยทราบว่ากลุ่มนักการเมืองชาวพม่าที่มาประท้วงเรียกร้องสิทธิให้ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย (นางซูจี) นั้น มีหลักฐานต่างๆในการอยู่ในประเทศไทยถูกต้อง เนื่องจากส่วนใหญ่นักการเมืองที่ประท้วงนี้มีหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต หรือหนังสือถือสัญชาติของต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การที่มีกลุ่มนักการเมืองพม่ามาประท้วงที่ อ.แม่สอด นั้นจนถึงขณะนี้ คณะกรรมการ TBC ฝ่ายพม่า (เมียวดี) ก็ไม่ได้ทำหนังสือบันทึกช่วยจำประท้วงฝ่ายไทยแต่อย่างไร เพียงแต่ขอความร่วมมืออย่าให้ทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือกระทำในลักษณะเพื่อล้มล้างรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน หากเป็นเช่นนี้กลุ่มชาวพม่าที่ประท้วงก็ไม่สามารถทำได้