xs
xsm
sm
md
lg

"สคิบ"หั่นเป้าสินเชื่อรายใหญ่ เร่งปรับโครงสร้างหนี้คุมNPL

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์นครหลวงไทยถอดใจยอมลดเป้าสินเชื่อรายได้เหลือ 2-3% จากที่ตั้งไว้ 4-5% ระบุยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว พร้อมเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งกลุ่มโรงแรม-โรงงานน้ำตาล หวังคุมหนี้เน่าจากปัจจุบันอยู่ในระดับ 8%

นางจรี วุฒิสันติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารมีทบทวนเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ปี 2552 ลดลง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อรายใหญ่มีการเติบโตได้ไม่มากนัก และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของสินเชื่อรายใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลังด้วย โดยธนาคารได้ปรับลดเป้าการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ลงเหลือ 2-3% หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 4-5%หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 4,000 ล้านบาท

"แบงก์ตัดสินใจปรับลดเป้าสินเชื่อรายใหญ่ลง เพราะยังไม่เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เห็นกลุ่มธุรกิจบางรายเริ่มมีปัญหาด้านสภาพคล่องหลังจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรม และธุรกิจเหล็ก จึงต้องมีการทบทวนทิศทางการปล่อยสินเชื่อไปด้วย เพื่อสอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริง"

สำหรับการปล่อยสินเชื่อโดยรวมของธนาคารทั้งปีที่ตั้งไว้เติบโตไว้ 2-3%นั้น จะเน้นที่สินเชื่อสินเชื่อที่อยู่อาศัย กลุ่มปิโตเคมี และ กลุ่มโรงไฟฟ้า โดยล่าสุดธนาคารได้ปล่อยกู้ร่วมกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และ ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) TBANK โดยการปล่อยกู้ให้กับ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในวงเงินทั้งสิ้น 8,500 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้ส่วนแบ่งในการปล่อยกู้ 1,500 พันล้านบาท

นางจรี กล่าวอีกว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ในระบบธนาคารพาณิชย์นั้นยังไม่พบสัญญาณการเติบโต แต่สินเชื่อที่ยังเห็นสัญญาณการเติบโตอยู่นั้นคือสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดยเป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาครัฐวิสาหกิจ ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารเองยังไม่มีนโยบายปล่อยสินเชื่อให้กับภาครัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ถ้าทางรัฐบาลจะพิจารณาให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับรัฐวิสาหกิจ ธนาคารก็จะอนุมัติวงเงินปล่อยสินเชื่อทันที โดยล่าสุดธนาคารได้ร่วมประมูลปล่อยสินเชื่อรัฐวิสาหกิจได้ส่วนแบ่งมา 10% หรือมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 2 แสนล้านบาท

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)นั้น ปัจจุบันอยู่ในระดับ 8% ซึ่งธนาคารได้ติดตามดูแลลูกค้าที่มีปัญหาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมีมาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหา โดยส่วนใหญ่จะเป็นการยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้ออกไป ซึ่งจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงของเอ็นพีแอลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในบางกลุ่มธุรกิจที่มีปัญหาอย่าง เช่น โรงแรมทางภาคเหนือปัจจุบันธนาคารได้ว่าจ้างให้ที่ปรึกษา(FA) เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3 ของปี 2552 ส่วนกลุ่มโรงงานน้ำตาลนั้นคาดว่าจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ในภายในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น