xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิด-ชวนคุย:เมื่อโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นเพื่อตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บริษัทหลักทรัพย์หรือที่เรียกกันว่า โบรกเกอร์ หรือ บล. สามารถซื้อและขายหุ้นเพื่อตัวเองได้หรือไม่ ถ้าได้ บริษัทหลักทรัพย์มีช่องทางซื้อขายที่เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนคนอื่นได้ใช่ไหม" คำถามเหล่านี้มาถึงดิฉันด้วยน้ำเสียงของความไม่สบายใจของผู้ลงทุนความจริงแล้ว ทุกคนและทุกนิติบุคคลสามารถลงทุนด้วยการซื้อขายหุ้น (รวมทั้งหลักทรัพย์ประเภทอื่น) ได้ ถ้าองค์กรของเขาเองไม่มีข้อห้ามไว้ เพราะใครๆ ก็ย่อมมองหาโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายของตน ไม่เว้นแม้แต่บริษัทหลักทรัพย์ ที่มีธุรกิจหลักคือให้คำแนะนำและส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอย่างสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญเพราะห่วงใยไม่แพ้ผู้ลงทุน ก.ล.ต. ได้กำหนดกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการซื้อขายหุ้นโดยพอร์ตของบริษัทหลักทรัพย์ (proprietary trading) ไว้อย่างชัดเจน

โดยมีหลักการคือ บริษัทหลักทรัพย์สามารถลงทุนและซื้อขายหุ้นได้ ตราบใดที่ไม่สร้างความเสี่ยงมากจนกระทบฐานะของตนเอง อันอาจจะนำไปสู่ปัญหาต่อระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์โดยรวมซึ่งบริษัทหลักทรัพย์เป็นตัวกลางทำหน้าที่ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์แทนลูกค้าอยู่ และในขณะเดียวกันบริษัทหลักทรัพย์ก็ต้องจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้ลงทุนทั่วไป

ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในที่นี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทหลักทรัพย์ต้องทำหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งการทำหน้าที่หนึ่งอาจทำให้มีข้อมูลหรือช่องทางที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนอื่น จึงต้องมีมาตรการมาจัดการหรือป้องกัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง ข้อมูลในการทำคำเสนอซื้อนี้มีผลต่อราคาหุ้นนั้นอย่างแน่นอน บริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้รวมถึงพนักงานที่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถซื้อขายหุ้นนั้นได้ตราบใดที่ข้อมูลการทำคำเสนอซื้อยังไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะ หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รับรู้ข้อมูลเชิงลึกของบริษัทจดทะเบียนจากการไปเยี่ยมชมบริษัทเพื่อการจัดทำบทวิเคราะห์ ก็จะถูกห้ามนำข้อมูลนั้นไปใช้หรือบอกต่อบุคคลอื่น เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้อมูลการซื้อขายหุ้นของลูกค้าก็เป็นข้อมูลสำคัญ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้ผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับบัญชีซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์รวมถึงผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปล่วงรู้ข้อมูลดังกล่าว เพราะอาจนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์ตนเองหรือเพื่อพอร์ตของบริษัท เช่น ซื้อขายก่อนลูกค้า (front running) หรือซื้อขายในทางตรงข้าม (against portfolio) โดยหลักเกณฑ์นี้เป็นมาตรฐานสากลที่เรียกว่า Chinese wall

ซึ่งนอกจากบริษัทหลักทรัพย์ต้องมีระบบงานที่ป้องกันไม่ให้ข้อมูลของลูกค้าไหลไปยังส่วนงานที่ไม่เกี่ยวข้องแล้ว ยังกำหนดให้ต้องแยกสายงานที่โดยหน้าที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ออกจากกันตลอดสายงาน ตั้งแต่พนักงานจนถึงผู้บริหารระดับสูง และที่ผ่านมาในอดีต บริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่ให้ความสำคัญกับระบบงานเรื่องนี้ก็ถูก ก.ล.ต. ลงโทษรวมทั้งสั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขโดยเร็วมาแล้ว สำหรับ front running และ against portfolio หากพบบริษัทหลักทรัพย์ ผู้บริหาร หรือพนักงานกระทำการดังกล่าว จะถือว่าเป็นความผิดและต้องได้รับโทษ

ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ลงทุนมีความเป็นห่วง คือการที่บริษัทหลักทรัพย์มีขนาดของเงินลงทุนใหญ่จึงมีโอกาสที่จะผลักดันราคาหุ้นไปในทิศทางที่ตนต้องการได้ การกระทำลักษณะนี้ถูกห้ามไว้ชัดเจนในกฎหมายหลักทรัพย์ เข้าข่ายเป็นการสร้างราคาหลักทรัพย์ให้มีสภาพไม่เป็นไปตามสภาพปกติของตลาด และเรื่องนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ก.ล.ต. ติดตามตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาค่ะ

พร้อมกันนี้ ดิฉันอยากเรียนผู้ลงทุนให้คลายความกังวลว่า ก.ล.ต. ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจการทำงานและระบบงานของบริษัทหลักทรัพย์อย่างสม่ำเสมอค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความเป็นห่วงของผู้ลงทุนที่กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ดี หากท่านยังคงพบการกระทำที่สงสัยว่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ก.ล.ต. โทรศัพท์ 0-2263-6000 หรือโทรสาร 0-2256-7755 ค่ะ

ก.ล.ต. เกื้อหนุนธุรกิจ ปกป้องสิทธิ์ผู้ลงทุน นำตลาดทุนสู่สากล
กำลังโหลดความคิดเห็น