xs
xsm
sm
md
lg

REAL ESTATE Jssue: ทำบ้านให้ “ดี” ขึ้น แต่ “ถูก” ลงได้อย่างไร (ตอนที่ 3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ต่อเนื่องฉบับวันอังคารที่ 21)

2. สภาพสังคม

“บ้าน” จัดสรรในประเทศไทย ต้องมีรั้วและติดเหล็กดัดตามประตูหน้าต่าง เพราะมีปัญหาโจรผู้ร้าย ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังละประมาณ 1-4 แสนบาท

กระแสความนิยมการแยกครอบครัว จากครอบครัวใหญ่เป็นครอบครัวเล็ก ทำให้เกิดความต้องการบ้านใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในความเป็นจริงถ้าครอบครัวรวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย และลูกหลาน จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า แถมยังอบอุ่นกว่ามี ปู่ ย่า ตา ยาย ช่วยดูแลหลานได้ด้วย

3. ที่ดิน

ถ้าซื้อบ้านจัดสรรในประเทศไทยจะพบว่า ที่ดินในประเทศไทยแพงกว่าในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นต้น เพราะสหรัฐฯและออสเตรเลีย มีอัตราส่วนที่ดินต่อจำนวนประชากรเป็น 4 และ 50 เท่าของประเทศไทยตามลำดับ จึงเป็นเหตุผลให้ที่ดินของประเทศไทยมีราคาแพงกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ มีพื้นที่ดินต่อจำนวนประชากรน้อยกว่าไทยมาก จึงมีที่ดินราคาแพงกว่า

ดังนั้น ถ้าจะลดราคาซื้อ “ บ้าน” ลง วิธีหนึ่งคือ หาซื้อในที่ ๆ ห่างไกลออกไป เช่น ต่างจังหวัด หรือลดขนาดของที่ดินลง โดย เลือก “บ้าน” ที่ใช้ที่ดินน้อย ๆ

4. ค่าก่อสร้างและพัฒนาที่ดิน

ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกือบทุกโครงการต้องเสียค่าถมดินสูง ยกเว้นในจังหวัดที่ ๆ ตั้งโครงการเป็นที่เนินไม่ต้องถม ถ้าเทียบที่ดินโครงการบ้านจัดสรรที่ต้องถมดิน ราคาขายจะต้องสูงกว่าที่ไม่ต้องถมดิน ในทำเลที่เทียบเท่ากันประมาณ 2,000 บาทต่อตรว.

มาตรฐานการจัดสรรที่ดินและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่กำหนดไว้สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ทำให้ค่าสาธารณูปโภคสูงขึ้นตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับโครงการผู้มีรายได้สูงหรือปานกลางค่อนข้างสูง แต่ถ้าต้องการช่วยผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางให้มีบ้านได้ง่ายขึ้น ก็ควรจะปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของประชาชนตามความเป็นจริง

“บ้าน” ในกรุงเทพและปริมณฑล สร้างบนดินอ่อน จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าเข็ม และฐานรากมากกว่าในต่างจังหวัดที่มีสภาพดินแข็งกว่าประมาณหลังละ 2-4หมื่นบาท

วัสดุก่อสร้างหลักซึ่งได้แก่ ปูนซีเมนต์ และเหล็ก มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย ซึ่งเป็นลักษณะการค้ากึ่งผูกขาด ทำให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นราคาได้เป็นช่วง ๆ

ในอีกด้านหนึ่ง นวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของวัสดุก่อสร้างอย่างต่อเนื่องและการแข่งขันทางด้านการตลาดก็ทำให้ได้วัสดุก่อสร้างใหม่ ๆ ที่คุณภาพดีกว่าเดิม ทนทานยิ่งขึ้น เป็นพิษน้อยลงแต่ราคากลับถูกกว่าเดิม เช่น การเปลี่ยนจากแผ่น กระเบื้องใยหินเป็นแผ่นยิบซัม และการเปลี่ยนใช้ไม้เทียมและอลูมิเนียมแทนไม้จริง คอนกรีตบล็อกมวลเบาที่กันความร้อนและก่อสร้างได้เร็วกว่าอิฐมอญ กระจกเขียวตัดแสงที่รับแสงได้มากแต่กันความร้อนได้ดี ทำให้อยู่สบายขึ้นและประหยัดพลังงานมากขึ้น ... เป็นต้น

ประทีป ตั้งมติธรรม
ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

กำลังโหลดความคิดเห็น