xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึงเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่าน ที่เคารพ

40 ปีเศษมาแล้ว ผมเริ่มเขียนคิดถึงเมืองไทย โดยเขียนเป็นจดหมายขึ้นต้นว่า เมืองไทยที่คิดถึง อันเป็นความรู้สึกที่แท้จริงลึกซึ้งลงไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ

เสร็จแล้วผมก็ไปชวนเพื่อนๆ 2-3 คนที่เรียนหนังสืออยู่ที่เดียวหรือใกล้เคียงกัน ล้วนแต่เป็นโรคคิดถึงบ้านเหมือนกันทั้งสิ้น เพราะต่างก็จากบ้านกันมาแสนนาน ก่อนยุคที่จะมีเครื่องบินเจ๊ต และมีเทคโนโลยีสื่อสารสมัยพระเจ้าเหา การที่จะโทรศัพท์ไปถึงพ่อแม่หรือคนรักที่บ้านนั้นต้องบอกว่าไกลเกินฝัน การที่จะบินกลับไปเยี่ยมบ้านก็เกินที่จะคิดเช่นเดียวกัน

คนที่เรารอคอยมากที่สุดกลับเป็นเมลแมนหรือบุรุษไปรษณีย์ ผู้ซึ่ง 7-10 กว่าวันจึงจะนำข่าวดีมาให้เราสักที ยุคนั้นเมืองไทยเป็นเผด็จการ แม้ว่าประเทศไทยจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขประเทศก็ตาม พระองค์ท่านก็ทรงอยู่ (นอก) เหนือการเมือง

ประสบการณ์และสิ่งที่เราพบเห็นในมหาวิทยาลัยและชีวิตประจำวันในโลกประชาธิปไตย ย่อมจะเป็นสิ่งพึงปรารถนาที่บ้านเมืองของเรายังไม่มี เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งมิพึงปรารถนาที่บ้านเรามีอย่างกลาดเกลื่อน ความคิดถึงบ้านของเราก็กลายเป็นความโหยหาและเจ็บปวดที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อน 3 คนนั้นจากไปแล้ว 2 คน คนแรกคือ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ดุษฎีบัณฑิตทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ในตอนที่เขียนนั้นเป็นนักศึกษาอาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บุญสนองถูกลอบสังหารอย่างทารุณบนถนนวิภาวดีรังสิต ก่อนที่จะเลี้ยวเข้าบ้าน หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเวลา 2 ปี ในสมัยนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ การตายของบุญสนองยังเป็นปริศนาอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ แต่สิ่งที่ไม่ต้องสงสัยเลยก็คือคดีลอบสังหารบุญสนองนั้น บ้านเมืองไม่ว่าในยุครัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามา ไม่เคยสนใจหรือสามารถที่จะจับคนร้ายได้จนสิ้นอายุความ

คนที่ 2 คือ ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ซึ่งเพิ่งขมังหรือไปสู่แดนเกษมไป 2-3 ปีนี้ วารินทร์เขียนในตอนที่รอรับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากคอร์เนลเหมือนกัน แต่ไปช่วยทำงานแทนผมที่ JFK Center for Special Warfare ที่ Fort Bragg รัฐ North Carolina กลายเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยแห่งรัฐที่นั่นนาน จนวารินทร์สามารถช่วยเพื่อนๆและน้องๆ ให้มาเรียนหนังสือหลายคน บางคนก็กลายเป็น professor ในอเมริกาไป ที่กลับมาเป็นอธิบดีกรมวิเทศสหการก็มี วารินทร์กลับมาแล้วไปเป็นอาจารย์ประจำและคณบดีถึง 3 มหาวิทยาลัย เริ่มด้วยธรรมศาสตร์ จุฬาฯ แล้วไปจบที่เกษตรฯ ทุกแห่งที่ไปวารินทร์จะสร้างโครงการ สถาบันและนักวิจัยที่แข็งแกร่งให้กับทุกที่ เขาเป็นนักวิจัยจนลมหายใจสุดท้าย เมื่อไปหลับไม่ตื่นในสนามวิจัยประเทศลาว

ในบรรดาเพื่อนทั้งหมด ผมต้องรับสารภาพว่าผมนับถือและเป็นหนี้วารินทร์จริงๆ ทุกงานที่ผมกวน (ซึ่งมีมากด้วย) วารินทร์จะลุยแหลกทุกเรื่อง มีฝีมือ มีกระบวนท่า มีระบบ และสัมฤทธิผลไม่ตกหล่น รวมทั้งเรื่อง “คิดถึงเมืองไทย” ที่ผมเป็นคนเทศนา และวารินทร์เป็นคนดำเนินการ วารินทร์เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ล้ำค่าของโลก เสียอย่างเดียววารินทร์รังเกียจและกลัวอ้วกใส่ผู้นำการเมือง เลยไม่ยอมเป็นอะไรกับเขาเลย นอกจากนักวิจัย

งานสุดท้ายที่วารินทร์ทำให้ผมก็คือการรวบรวมยอดฝีมือเศรษฐศาสตร์รุ่นหนุ่มสาวปริญญาโทจากลาว ไทย และเวียดนามชาติละ 6 คนให้ไปทำวิจัยสนาม 3 ประเทศร่วมกัน 1 ปี แล้วมากินนอนสัมมนาอยู่กับผมหนึ่งเดือนที่หนองคาย ในชีวิตนี้ผมโชคดียิ่งนักที่มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ของนักเรียนอยู่บ่อยๆ

อีกคนหนึ่ง ยังมีชีวิตอยู่ ผิดหวังอย่างรุนแรงกับการเมืองไทยในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ที่ปล่อยให้ทหารยึดอำนาจในเหตุการณ์ 6 ตุลามหาโหด เดี๋ยวนี้ ดร.กมล สมวิเชียร ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เป็น full professor ของมหาวิทยาลัยลาเวิร์น รัฐแคลิฟอร์เนีย

สมัยนั้น เราต้องเขียนต้นฉบับ “คิดถึงเมืองไทย” ด้วยลายมือคัด ส่งไปตีพิมพ์ผลัดกันคนละสัปดาห์ในนสพ.ประชาธิปไตย ที่มี สมัย พรหมิ เป็นบรรณาธิการ เราไม่มีค่าเขียนแต่เขาส่งหนังสือพิมพ์มาให้อ่านแทน แค่นี้ก็ปลื้มหนักหนา เพราะพวกเราอยากได้ข่าวจากบ้านใจจะขาด และหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงดีๆ ตามตัวอย่างที่เราเห็นและเขียนเสนอไปบ้าง

นักเขียนคิดถึงเมืองไทยรุ่นต่อมาล้วนแต่ประสบความสำเร็จและเป็นใหญ่เป็นโตในเมืองไทยทั้งสิ้น ผมต้องขอโทษคนที่มิได้เอ่ยนาม เอาเป็นว่าที่เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรี ได้แก่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่เป็นอธิการบดีก็มี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นรนิติ เศรษฐบุตร ที่เป็นอาจารย์และนักประพันธ์ชื่อดังก็คือ ประทุมพร วัชรเสถียร เป็นต้น

ที่ผมเล่ามานี้ ก็เพื่อจะบอกกล่าวท่านผู้อ่านถึงความฝันของผม ซึ่งอาจจะยังไม่มีทางเป็นจริงง่ายๆ ก็ได้ ผมอยากจะเห็นเมืองไทยมี syndicate column ได้แค่คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่หมุนเวียนกันตีพิมพ์บทความของ syndicate writers คือนักเขียนร่วม ทำนองเดียวกับที่ผมสร้าง “คิดถึงเมืองไทย” แต่ต่างกันที่จะนำไปลงพิมพ์ในหนังสือหลายๆ (หัว) ฉบับสลับกันไป

การกระทำเช่นนี้จะได้ประโยชน์ 3 อย่างไปพร้อมๆ กันคือ (1) ได้ยกระดับและพัฒนาผู้อ่าน (2) ได้ยกระดับและพัฒนาผู้เขียน (3) ได้ยกระดับและพัฒนาหนังสือพิมพ์ ผมคิดว่าข้อ (1) และ (2) อาจจะชักชวนง่าย แต่ข้อที่ (3) น่าจะเจอตออันได้แก่ความเห็นแก่ตัวและการแข่งขันกันในทางที่ผิดของนายทุนหนังสือพิมพ์

อย่างไรก็ตาม ผมจะลองทำดู ต่อไปนี้ผมจะลดการเขียนลง แต่ยังรักษาคอลัมน์ “คิดถึงเมืองไทย” ไว้ ผมขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านเข้ามาร่วมเขียนด้วย จำนวนกี่ท่านก็ได้ ให้ผู้เขียนตั้งหัวข้อบทความเองและเขียนชื่อผู้เขียนไว้ใต้ชื่อบทความหรือตอนจบบทความก็ได้

สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เริ่มลงบทความของคุณวิทยา วชิระอังกูร ฉบับต่อๆ ไปจะมีคุณสุทธิพงศ์ ปรัชญพฤทธิ์ คุณทวิช จิตรสมบูรณ์ และคนอื่นๆ อีกหลายคน ท่านที่กล่าวนามมาแล้ว ยกเว้นคุณสุทธิพงศ์ ซึ่งผมเคยพบและเชิญมาคุยครั้งหนึ่ง เพราะผมทึ่งในความรู้ทางเศรษฐกิจของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านเป็นนายสัตวแพทย์ ท่านอื่นๆ ผมไม่เคยพบหรือรู้จักมาก่อนเลย แต่ที่ผมแน่ใจก็คือท่านมีระบบความคิดและระบบข้อมูลที่ต่างกับผม ถึงแม้จะมีข้อสรุปบางอย่างเหมือนกันก็ตาม อีก 2 ท่าน ท่านหนึ่งผมรู้จักมาตั้งแต่แตกเนื้อหนุ่มเพราะเป็นน้องของเพื่อนสนิทคือพลโทฤกษ์ดี ชาติอุทิศ อดีตเลขาฯ ของพล.ต.จำลอง และคุณคนผ่านทาง ซึ่งผมยังติดต่อไม่ได้ ผมยังไม่เคยพบหรือคุยกับท่านเลย

ตลอดเวลาที่ผมเขียนคอลัมน์ให้ผู้จัดการ ผมมีความรู้สึกอึดอัดบอกไม่ถูก อย่างที่หนึ่ง ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่ายิ่งเขียนยิ่งโง่ (และอาจจะยิ่งเสียเวลา) สอง ผู้อ่านของผมก็เหมือนกัน ยิ่งอ่านก็ยิ่งโง่ (โดยเฉพาะท่านที่โพสต์มานอกเรื่อง) เพราะทำยังไงๆ ท่านก็ไม่รู้ว่าผมเขียนเรื่องอะไรเพื่ออะไร และสาม มีคนที่ไม่ได้อ่าน แต่รู้ดีกว่าผมเสียอีก ว่าผมเขียนอะไร เพื่ออะไร (ความรู้สีแดง)

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ทั้ง 3 อย่างที่ผมกล่าวมาแล้ว ผมจะเปิดเนื้อที่เพื่อจะเรียนรู้จากท่านผู้อ่าน มากกว่าที่ท่านผู้อ่านจะเรียนรู้จากผม ท่านผู้ใดอยากจะสั่งสอนผมและเพื่อนผู้อ่าน กรุณาเขียนมาได้เลย อย่าลังเลใจ

โปรดมาช่วยกันคิดถึงเมืองไทยเถิด ผมคิดถึงเมืองไทยเหลือเกิน


                                                         ปราโมทย์ นาครทรรพ
กำลังโหลดความคิดเห็น