xs
xsm
sm
md
lg

ใครจะจุดเทียนนำทางดับไฟใต้ “มาร์ค-ปชป.” รัฐนาวา 5 เดือนที่เลื่อนลอย (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดับไฟใต้ ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป้นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ม.ค.52
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

ช่วงที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ก้าวขึ้นนั่งบัลลังก์นายกรัฐมนตรี โดยมี “พรรคประชาธิปัตย์” กุมบังเหียนเป็นแก่นแกนจัดตั้งรัฐบาล ความฝันของสังคมไทยเคยเฟื่องฟุ้งไปว่า รัฐนาวาชุดใหม่น่าจะเป็นเสมือนผู้ขี่ม้าขาวมาช่วยดับไฟใต้ที่กำลังโชนเปลว ด้วยเป็นพรรคการเมืองที่หยัดยืนมายาวมานาน ผ่านประสบการณ์วิกฤตไฟใต้มาแล้วหลายระลอก โดยเฉพาะฐานเสียงที่มีอยู่เนืองแน่นบนแผ่นดินด้ามขวาน ทั้งแกนนำพรรคและคณะรัฐมนตรีก็ล้วนส่วนใหญ่เป็นสายเลือดสะตอ

ทว่า ช่วงเวลากว่า 5 เดือนมานี้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลกลับมากมายไปด้วยเงื่อนปม ระงมเสียงติติงเริ่มกระหึ่มดัง ผสมผสานกับเสียงปืนและระเบิดที่ถี่ขึ้น ส่งผลให้ไฟใต้แทนที่จะคลี่คลายกลับกลายเป็นทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วอย่างนี้จะให้สังคมสานฝันที่เลื่อนลอยต่อไปได้อีกกระนั้นหรือ?!

ประมาณ 2 สัปดาห์มาแล้วที่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกใครหรือฝ่ายไหนก็ไม่รู้ ปลุกปั่นให้เกิดเหตุรุนแรงที่ดูแล้วโหดร้ายขึ้น แถมยังเหมือนกับว่าจะลุกลามและบานปลายขยายวงไปแบบไม่สิ้นสุด อีกทั้งการทำลายล้างทรัพย์สินและเข่นฆ่าเอาชีวิตผู้คน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวไทยพุทธหรือมุสลิม ก็ปรากฏว่ามีกลวิธีที่แปลกใหม่สอดแทรกเข้ามาให้เห็น ผสมผสานกับความเหี้ยมโหดในรูปแบบเดิมๆ ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมา

การใช้อาวุธบุกเข้าไปยิงพี่น้องมุสลิมถึงในมัสยิดขณะกำลังละหมาด การไล่ล่าฆ่าครูที่รู้ทั้งรู้อยู่ว่าเหยื่อกำลังท้องถึงแปดเดือน ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน ปาระเบิดใส่รถโดยสาร หรือแม้กระทั้งฆ่าตัดคอประจาน ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้สังคมไทยต้องขบคิดหนักขึ้นว่า รัฐนาวาที่นำพาประเทศชาติอยู่ในเวลานี้ แท้จริงแล้วได้มุ่งมั่นทำตามที่นโยบายดับไฟใต้ที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ และยังมีเงื่อนงำใดที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง

หรือว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ มั่วแต่ยุ่งอยู่กับการเล่นเกมเพื่อที่จะอยู่ในอำนาจให้ยาวนาน ขณะเดียวกันก็ตั้งหน้าตั้งตาตักตวงผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อ รวมทั้งเอาไว้ใช้ในการเลือกตั้งตั้งครั้งต่อไป

เดินมาถูกทางแล้ว..แต่ถูกใน “ทางผิด”

ท่ามกลางเสียงตำหนิติเตียนจากประชาชนหลายภาคส่วน หรือบางครั้งถึงขั้นก่นด่าที่มักจะดังมาจากฟากฝั่งฝ่ายค้านคือ พลพรรคเพื่อไทยและผู้คนของเครือข่ายระบอบทักษิณ ซึ่งต่างก็มีเป้าหลักอยู่ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กุมอำนาจบริหารบ้านเมือง และรวมเลยไปถึงพลพรรคประชาธิปัตย์ที่หยัดคำบัลลังก์รัฐบาลอยู่ในเวลานี้ ทว่า เสียงแก้ตัวจากฟากฝั่งฝ่ายรัฐบาลก็ใช่ว่าจะไม่ดังยิ่งหย่อนไปกว่ากันเสียเมื่อไหร่

เหตุผลก็ยังเดิมๆ กล่าวคือ ไฟใต้ระลอกใหม่ถูกราดเบนซินใส่จากฝีมือของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนปะทุคุโชนเป็นเหตุปล้นปืนในค่ายทหารขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2547 แถมยังมีการเติมเชื้อไฟให้ต่อเนื่องจากฝีมือรัฐบาลนอมินีของระบอบทักษิณ ทั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช กับรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และแม้กระทั่งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เกิดจากการที่คณะทหารยึดอำนาจไปจากระบอบทักษิณแล้วก็ตาม เยี่ยงนี้แล้วชั่งระยะเลาเพียง 5 เดือนเศษที่มีการเปลี่ยนขั้วมาเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะหวังให้ไฟใต้มอดดับทันทีได้อย่างไร
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เยี่ยมเหยื่อความไม่สงบ จ.นราธิวาส พร้อมประกาศจะลงพื้นที่ทุกสัปดาห์เพื่อแก้ปัญหา
“เราเดินทางถูกทางแล้ว...” นี่ไม่ใช่คำพูดที่หลุดออกมาจากเรียวปากบางของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาวีวะ แต่เพียงคนเดียวเท่านั้น รัฐมนตรีที่กุมกลไกอำนาจรัฐ นักเลือกตั้งในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล บรรดาบิ๊กๆ ของทุกเหล่าทัพ รวมถึงข้าราชการในทุกกระทรวง กรม กอง ที่ข้องเกี่ยวกับวิกฤตปัญหาไฟใต้ส่วนใหญ่ต่างก็ได้อาศัยวาทกรรมนี้บอกเล่าเพื่อวาดหวังไม่ให้ตกเป็นจำเลยของสังคม

แต่ก็ไม่วายที่ประชาชนในสังคมจะตั้งคำถามกลับไปในท่ามกลางที่สถานการณ์ไฟใต้มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นในเวลานี้ว่า ถ้ารัฐบาลมั่นใจว่าตนเองได้เดินหน้าแก้ปัญหาไฟใต้ได้แบบ “เดินไปถูกทางแล้ว” นั้น ทำไมการก่อเหตุสะเทือนขวัญในชายแดนใต้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลาย หรือว่าเป็นการเดินไปถูกทางบนเส้นทางที่ “ผิด” กันแน่

“ผมรู้สึกเศร้าใจและคับแค้นใจ อยากร้องไห้เมื่อเห็นภาพเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทางกองทัพไม่สามารถทำอะไรได้เลย แต่กลับพูดอยู่ได้ว่า มาถูกทางแล้ว ซึ่งอันที่จริงคือ มาถูกในทางที่ผิดต่างหาก” นี่คือการตอกย้ำแทนความรู้สึกของพี่น้องประชาชนคนไทยได้อย่างนักแน่นของ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษา บก.กองทัพไทย ซึ่งเพิ่งกล่าวไว้เมื่อกลางสัปดาห์มานี่เอง

“ฝัน 99 วัน” ค้างคามาแล้วกว่า 5 เดือน

แน่นอนว่า ระยะเวลาที่รัฐนาวาชุดนี้นั่งแท่นบริหารบ้านเมืองมากว่า 5 เดือน เมื่อนำไปเทียบกับการโชนเปลวของไฟใต้ระลอกใหม่ที่ปะทุมาแล้วกว่า 5 ปี เป็นเรื่องที่ควรต้องเห็นใจรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ แต่หากพิจารณาถึงสิ่งที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศชัดให้สังคมไทยได้รับรู้ การปฏิบัติอย่างความใส่ใจและเอาจริงเอาจัง รวมถึงการจัดกระบวนทัพของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาไฟใต้แล้ว กลับมีเรื่องที่สังคมไทยจะต้องนำไปพิจารณามากมาย

ในสมัยที่ยังเป็นฝ่ายค้านได้ประกาศต่อสู้กับนโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณที่กุมหัวใจประชาส่วนใหญ่ไว้ได้ในตอนนั้นว่า หากได้เป็นพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการแก้ปัญหาไฟใต้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนด้วยระยะเวลาไม่เกิน 99 วัน โดยจะดำเนินไปบนยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการปรับรื้อโครงสร้างอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชน

สิ่งที่ประชาธิปัตย์คุยโวไว้หนักหนา คือ การนำเสนอ พ.ร.บ.ยกระดับองค์กรพิเศษในพื้นที่อย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้นเป็น สำนักบริการราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สบ.ชต.) เพื่อให้หน่วยงานฝ่ายพลเรือนนี้มีความเป็นเอกเทศและชัดเจนทั้งในโครงสร้าง บุคลากรและการขอรับสนับสนุนงบประมาณ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ปีกโอบของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) หรือฝ่ายทหาร ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงก็คือ เพื่อให้เป็นไปหลักการของนโยบายใช้การเมืองนำการทหารนั่นเอง

ทว่า นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ล่วงเลยเวลา 99 วันที่สัญญากับประชาชนแล้ว และแม้จะล่วงเลยมาเป็นระยะเวลากว่า 5 เดือนด้วยก็ตาม ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ที่นอกเหนือไปจากลมปาก กลับยังไม่เคยปรากฏเป็นรูปธรรมอะไรเลย แถมคนในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำที่ได้สร้างความสับสนให้กับสังคม ด้วยการผลักดันกฎหมายในลักษณะเดียวกันขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง โดยให้ใช้ชื่อองค์กรที่ให้จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า ศูนย์บัญชาการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สอ.ชต.)


ไม่เพียงเท่านั้น ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่สามารถสั่งการรัฐมนตรีทั้งคณะให้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลได้ แต่นายอภิสิทธิ์กลับแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อดับไฟใต้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่พรรคประชาธิปไตยเองในฐานะแกนนำรัฐบาล กลับยินยอมให้พรรคภูมิใจไทยภายใต้เงาของนายเนวิน ชิดชอบ ผู้ต้องคำสั่งศาลห้ามยุ่งเกี่ยวการเมืองได้ขึ้นไปขี่คออยู่เหนือกว่า ทั้งๆ ที่ควรจะให้แค่เล่นบทพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น แต่กลับได้ครองกระทรวงเกรดเอที่ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติตามนโยบายดับไฟใต้ให้เป็นจริง ซึ่งจนเวลานี้พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ก็แทบจะไม่ใส่ใจกับวิกฤตไฟใต้ เนื่องจากไม่ใช่ฐานเสียงหรือมีผลประโยชน์ใดๆ ให้ได้เก็บเกี่ยวเป็นกอบกำ

“ครม.ไฟใต้” เป็นได้แค่คณะละครเร่

อีกทั้งการแต่งตั้งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้เข้าไปกำกับดูแลงานด้านการดับไฟใต้ก็เป็นไปแบบบิดเบี้ยว ซึ่งแท้จริงแล้ววิกฤตไฟใต้ถือว่ามีความสำคัญและต้องยกเป็นวาระแห่งชาติ แต่เนื่องจากยอมให้พรรคถูมิใจไทยขี่คอจึงได้แค่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลำดับที่ 3 (มท.3) เท่านั้น

นอกจากนี้ยังต้องถือว่า รัฐมนตรีดูแลงานดับไฟใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ผิดฝาผิดตัวอีกด้วย เนื่องเพราะผู้ควรจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกำกับดูแลงานด้านการดับไฟใต้ควรจะเป็น นายนิพนธ์ บุญญามณี ผู้ที่คลุกคลีและมีประสบการณ์อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้มานาน ในสมัยที่ยังเป็นฝ่ายค้านนายอภิสิทธิ์ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา ตามรูปแบบคณะรัฐมนตรีเงา ซึ่งมีรากมาจากระบบเวสต์มินสเตอร์ของอังกฤษนั้น เขาคนนี้ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ผอ.ศอ.บต.ปชป.) อันไม่ต่างอะไรกับรัฐมนตรีเงาที่กำกับดูแลไฟใต้นั่นเอง

ทว่า มท.3 ในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์กลับกลายเป็นของ นายถาวร เสนเนียม ผู้ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนากรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตเคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็มีส่วนอย่างสำคัญในการจัดการรัฐบาลชุดนี้ด้วย และในเวลานี้เป็นที่รับรู้กันว่าเขาเป็นปรปักษ์กับกลุ่มของนายกนิพนธ์ โดยเฉพาะให้สนามเลือกตั้งใน จ.สงขลา ที่ทั้ง 2 คนได้ส่งเครือญาติหรือคนในสังกัดลงฟัดกันเพื่อชิงตำแหน่งนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) และในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ มาตลอด

อย่างไรก็ตาม ความที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มีอุปสรรคปัญหาติดขัดในการบริหารราชการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ไฟใต้มาตลอด รัฐบาลจึงหาทางออกด้วยการตั้งคณะรัฐมนตรีภาคใต้ขึ้นมาอีกชุดเป็นพิเศษ โดยเอาตัวเองไปนั่งเป็นหัวโต๊ะ แม้ที่ผ่านมาจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิเศษชุดนี้ไปแล้ว 2 ครั้งพร้อมมีมติอนุมัติงบประมาณและโครงการต่างๆ ไปจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นที่คลางแคลงใจของผู้คนในสังคมจำนวนมากว่า จะนำไปสู่ปฏิบัติการดับไฟใต้ได้จริงหรือไม่ แล้วทำไมต้องตั้งโต๊ะ ครม.ชุดพิเศษนี้ขึ้นมา ขณะที่ที่ประชุม ครม.ปกติก็สามารถที่จะดำเนินการได้อยู่แล้ว หรือเพียงต้องการกลบเกลื่อนสิ่งที่เคยสัญญากับประชาชนไว้ว่าจะตั้ง สบ.ชต.ขึ้นมาทำหน้าที่ในลักษณะนี้

เหล่านี้เป็นเพียงหนังตัวอย่างที่พิสูจน์ฝีมือรัฐบาลอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในเวลานี้ ยังไม่นับรวมไปถึงอีกหลากหลายกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ไม่ว่าจะเป็นองคาพยพของรัฐบาลเอง ซึ่งไม่มีความเป็นเอกภาพใน ครม. ความไม่เป็นเอกภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยราชการทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจและพลเรือน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายการเมืองนำการทหารได้บรรลุผล เป็นต้น

เช่นนี้แล้ว 5 เดือนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ จึงไม่ต่างอะไรกับรัฐนาวาที่กำลังลอยลำไปอย่างเลื่อนไหลบนระลอกเปลวคลื่นที่มากพลังทำร้ายสังคมไทยแห่งวิกฤตไฟใต้นั่นเอง

(ติดตามตอน 3 : ต้องใช้ “การเมือง(ใหม่)” นำการทหาร)
กำลังโหลดความคิดเห็น