xs
xsm
sm
md
lg

อภิสิทธิ์ต้านทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: เขียน ธีระวิทย์

ก่อนหน้าที่ทักษิณจะถูกทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ไม่นาน ทักษิณได้สั่งให้ ส.ส. ไทยรักไทยที่มาจากจังหวัดต่างๆ จัดตั้งกำลังพลภาคประชาชนขึ้น เพื่อสนับสนุนพรรคในยามจำเป็น ซึ่งเป็นยุทธวิธีประการหนึ่งที่คนพันธุ์ทักษิณคิดขึ้น ภายหลังที่รัฐบาลของเขาไม่สามารถปราบม็อบเสื้อเหลืองให้ราบคาบได้ ทำให้เห็นความสำคัญขององค์กรมวลชนที่จัดตั้งตามแนวทางการต่อสู้เพื่ออำนาจรัฐของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ตอนนั้นมีข่าวลือแพร่ออกมาเป็นระยะๆ ว่า อาจจะมีทหารยึดอำนาจรัฐ

เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นอย่างฉับพลันและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเรียบร้อยภายในระยะเวลาสั้นๆ โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ พร้อมกับมีเสียงแซ่ซ้องสนับสนุนอึงมี่ กองกำลังมวลชนของทักษิณยังไม่พร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหว แต่เป็นที่มาของคนเสื้อแดงที่มีเครือข่ายจัดตั้งอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานและภาคเหนือ

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนแล้ว (2 ธันวาคม 2551) กลุ่มที่เป็นพรรคพวกของเนวิน ชิดชอบ พากันไปร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในขณะที่สมาชิกพรรคพลังประชาชนที่เหลือยังคงเกาะกลุ่มกันจัดตั้งพรรคใหม่ โดยใช้ชื่อว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ คนรักทักษิณหรือคนพันธุ์ทักษิณระดมพลคนเสื้อแดงต่อต้านรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ข้อเรียกร้องของคนพันธุ์ทักษิณที่สำคัญคือ

(1) ให้อภิสิทธิ์ลาออกหรือไม่ก็ยุบสภา (2) ให้ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และองคมนตรีอีก 2 ท่านลาออก (3) ให้นิรโทษกรรมแก่ทักษิณ และนักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ (4) ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือให้นำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้แทนฉบับปัจจุบัน โดยวัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็คือ เพื่อที่จะให้ทักษิณและพรรคการเมืองภายใต้การอุปถัมภ์ของทักษิณกลับมามีอำนาจ และให้นักการเมืองทั้งหมดรวมทั้งทักษิณที่ถูกศาลต่างๆ พิพากษาหรือวินิจฉัยไปแล้วได้รับนิรโทษกรรม

ในช่วงแรก 8-12 เมษายน 2552 ม็อบเสื้อแดงนับแสนปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ปิดล้อมบ้านพักพล.อ.เปรม บุกโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท ที่พัทยา ซึ่งรัฐบาลไทยที่เป็นเจ้าภาพใช้จัดประชุมสุดยอดอาเซียน+3 อาเซียน+6 ในวันที่ 11-13 เมษายน 2552 จนทำให้อภิสิทธิ์และผู้นำอาเซียนต้องหนีกระเจิง และการประชุมต้องถูกยกเลิกไป

ม็อบเสื้อแดงกลุ่มย่อยไปชุมนุมกันที่ศาลอาญา ม็อบเสื้อแดงและแท็กซี่ของคนรักทักษิณปิดถนนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมกันนั้นม็อบเสื้อแดงส่งพลพรรคเป็นกลุ่มๆ แยกย้ายดาวกระจายไปป่วนเมืองตามจุดต่างๆ เช่น ที่สี่แยกดินแดง นางเลิ้ง มัสยิดถนนสุขุมวิท ฯลฯ นอกจากนั้น ยังยึดรถเมล์ไปเผาตามจุดต่างๆ เพื่อสร้างข่าวให้เห็นถึงขนาดของการจลาจลที่รุนแรง ที่ดินแดงมีรถบรรทุกแก๊สพร้อมที่จะระเบิดและขยายการลุกลามไปถึงชุมชนชาวแฟลต ที่นางเลิ้งมีรถเมล์จอดอยู่ริมห้องแถว พร้อมที่จะเผาให้ลุกลามไปถึงห้องแถวของชุมชน เมื่อชาวบ้านออกมาขับไล่ กลับถูกคนเสื้อแดงยิงตาย 2 คน กรุงเทพฯ ตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน

ตลอดเวลาที่คนรักทักษิณกับรัฐบาลกำลังทำสงครามกันอยู่นั้น ทักษิณได้โทรศัพท์เข้าสายหรือต่อสายวิดีโอเข้าเครือข่ายเวทีการชุมนุม วิทยุชุมชน และทีวีดาวเทียมดีสเตชั่นเป็นระยะๆ ทักษิณกำลังใช้จุดอ่อนของรัฐบาลที่ไม่กล้าปราบม็อบเสื้อแดง โดยยั่วยุให้ม็อบเสื้อแดงต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ สื่อของทักษิณแพร่ภาพทักษิณคล้ายๆ กับสื่อของม็อบเสื้อเหลืองแพร่ภาพในหลวง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นกลาง สื่อมวลชนทั่วไปรายงานกิจกรรมและคำพูดของทักษิณและแกนนำม็อบเสื้อแดงอย่างรวดเร็วและละเอียด

กระนั้นก็ตาม ภายหลังที่ทหารเข้าปฏิบัติการสลายม็อบในวันที่ 13-14 เมษายน 2552 เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว สื่อมวลชนไทยก็ยังถูกพวกรักทักษิณประณามว่าไม่เป็นกลาง เพราะความเป็นกลางในความหมายของพวกเขาก็คือ ต้องรายงานความจริงกับความเท็จให้เท่ากัน ตนพูดเท็จมากๆ ก็ต้องรายงานมากๆ สื่อมวลชนบางรายพยายามทำตัวเป็นกลาง จนไม่แยกแยะว่าอะไรผิดอะไรถูก

เหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวเกิดขึ้นมาจนกระทั่งถึงจุดนั้นแล้ว รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังพยายามที่จะไม่ใช้ทหารเป็นกลไกสำคัญในการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ต่างๆ เพราะทหารถูกคนพันธุ์ทักษิณโจมตีมาตลอดตั้งแต่ทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นอกจากนั้น ยังถูกกล่าวหาว่า ทหารมีส่วนเข้าไปแทรกแซงการเมืองโดยเกลี้ยกล่อมให้เนวินกับพรรคพวกทรยศต่อทักษิณ ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับคู่ปรปักษ์ เป็นประเพณีของพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามวางตัวห่างๆ จากทหาร และใช้กลไกตำรวจเข้ารักษาความปลอดภัยที่พัทยา นับเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญของอภิสิทธิ์ที่ใช้คนผิด เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น นอกจากจะประกอบด้วยผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพแล้ว ยังมีคนพันธุ์ทักษิณปะปนอยู่มากมายไม่ต่ำกว่าครึ่ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องร้ายกลับกลายเป็นดีสำหรับอภิสิทธิ์ เหตุร้ายที่พัทยาทำให้คนทั่วโลกรู้ว่าม็อบเสื้อแดงของทักษิณนั้นดุร้ายเพียงใด ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งมีกลไกสนับสนุนทั้งทหารและตำรวจยังยอมถอยหนีมากกว่าการใช้กำลังปราบซึ่งอาจจะเกิดการนองเลือด ถ้าอภิสิทธิ์ถอยต่อไปอีก อนาคตการเป็นผู้นำย่อมถึงจุดจบ เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ เผชิญกับการจลาจลวุ่นวาย และรู้ดีว่าคนไทยมีความคาดหวังต่อนายกรัฐมนตรีของพวกเขาแค่ไหน อภิสิทธิ์วางยุทธศาสตร์เชิงรุกโดยลงมือทำงานด้วยตัวเอง ในวันที่ 12 เมษายน 2552 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และสั่งทหารใช้กำลังเข้าสลายม็อบเสื้อแดง

ถ้าเราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จะเห็นว่าทหารวางตัวได้เหมาะสม ทหารของชาติทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่มาแล้วก็ทำอย่างมีประสิทธิภาพ ทหารไม่ได้ปิดกั้นการทำข่าวและการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ฉะนั้น เรามีโอกาสรับทราบการปฏิบัติการของทหารอย่างละเอียดและโปร่งใสทุกขั้นตอน

บทบาทของอภิสิทธิ์ในการแก้ไขวิกฤตการณ์คราวนี้มีข้อน่าคิดหลายประการ

(1) อภิสิทธิ์เป็นผู้นำที่มีความกล้าหาญในการเผชิญกับปัญหา มีความอดทนอดกลั้น เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง อภิสิทธิ์กล้าตัดสินใจและกล้ารับผิดชอบ

(2) อภิสิทธิ์มีความเฉียบขาดในการทำงานเป็นขั้นตอนที่เหมาะกับสถานการณ์ การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินก่อนเหตุการณ์พัทยาคงจะมีคนต่อต้านมาก แต่หลังจากเกิดเหตุร้ายนั้นแล้ว ประชาชนคงจะเห็นใจถ้าหากรัฐบาลจะตอบโต้ด้วยวิธีการรุนแรง แต่อภิสิทธิ์ก็มิได้ตัดสินใจอย่างฉวยโอกาส เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ก็สั่งการให้ตำรวจจัดการปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมดีสเตชั่น ปิดวิทยุชุมชน จับแกนนำหรือตัวการในการก่อความไม่สงบมาดำเนินคดี (ตำรวจยังใช้วิธีละมุนละม่อม) แต่ประกาศไล่ล่าม็อบเสื้อแดง 19 คนที่ก่อจลาจลพยายามทำร้ายนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย ปิดเว็บไซต์ที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของทักษิณ พร้อมกับสั่งทหารให้ดำเนินการสลายม็อบ

(3) อภิสิทธิ์อาจจะไม่ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำทหาร แต่ฝ่ายทหารก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ดินแดงโดยไม่มีคนตายนั้น ได้สร้างเกียรติประวัติอันดีให้ทหารและรัฐบาลในขณะเดียวกัน

(4) เมื่อตำรวจเห็นทหารทำงานอย่างดี จะปล่อยเกียร์ว่างต่อไปไม่ได้อีกแล้ว จึงมีการออกประกาศจับ ออกหมายเรียก หมายจับผู้ก่อการจลาจลตามที่ปรากฏในภาพได้ค่อนข้างจะรวดเร็ว

(5) ความดีที่ติดตัวมากับอภิสิทธิ์คือความอดทนและอดกลั้น ถึงแม้จะหนีเอาตัวรอดมาจากการปฏิบัติการไล่ล่าของม็อบเสื้อแดงที่พัทยาและที่กระทรวงมหาดไทย อภิสิทธิ์ก็ไม่แสดงสีหน้าความโกรธหรืออยากแก้แค้น อาจจะส่งสัญญาณให้ตำรวจใจกว้างแก่ผู้ต้องหาที่ก่อการจลาจลให้มีการประกันตัวกลับไปได้ทุกราย แม้ว่าบางคน (เช่น นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง) อาจถูกขังไว้โดยทหารหลายวันหน่อยก็ตาม

(6) ทั้งหมดนี้ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นผู้นำของอภิสิทธิ์ให้ดีขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ

หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความฉบับสมบูรณ์ที่ Website: http://www.thaiworld.org

กำลังโหลดความคิดเห็น