ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –นายกเล็กเมืองปัตตานีชี้ เหตุไฟใต้กระทบต่อการจัดเก็บรายได้-ค่าใช้จ่ายหลายทาง แต่ละปีก็อ่วมอรทัยด้วยต้องควักเงินท้องถิ่นดูแลเรื่องความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ลดการโยกย้ายนอกพื้นที่ และยังลดการเก็บภาษีเพื่อบำรุงขวัญให้ประชาชนอยู่ต่อเช่นเดียวกับข้าราชการ แถมรัฐบาลยังไม่สนับสนุนให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง แฉปีงบประมาณ 2553 จะลดเงินอุดหนุน อปท.ทั่วประเทศอีกร่วม 100,000 ล้านบาท ฉุดท้องถิ่นให้อ่อนแอ จวกนโยบายประชานิยม น้ำ-ไฟฟรี แต่บางแห่งทำประปาเองกลับไม่เคยได้รับเงินอุดหนุน เฉพาะ ทบ.ปัตตานีถูกมอดแล้ว 7 ล้าน แถมโครงการอื่นๆ ยังมามุกเดิมมีแต่นโยบายแต่ให้ท้องถิ่นสำรองไปก่อน
นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบ เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา การจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น เมื่อรวมกับเงินอุดหนุนจากรัฐแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจริงในปัจจุบัน เนื่องจากเทศบาลต้องนำงบประมาณส่วนหนึ่ง ในการเสริมสร้างความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน จากกรณีที่เกิดความไม่สงบบ่อยครั้ง เช่น การจัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์กล้อง CCTV การดูแลรักษา จ้างอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน จ้างเวรยามท้องถิ่นช่วงกลางคืนซึ่งมาจากประชาชนที่ไม่มีงานทำ จัดโครงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมดูแลความปลอดภัย การเพิ่มไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะ การทำงานล่วงเวลาที่ต้องเฝ้าระมัดระวัง เป็นต้น
ขณะเดียวกัน การเก็บภาษีในท้องถิ่นก็ลดลง เนื่องด้วยการค้าการลงทุนถดถอย และใน 3 ปีที่ผ่านมาเทศบาลฯต้องลดการเก็บภาษีโรงเรือน บำรุงท้องถิ่นให้ประชาชนอีก 20% เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีความสมัครใจอยู่ต่อ ไม่ละทิ้งถิ่นฐาน และเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ เพราะข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐก็ยังได้ค่าเงินเสี่ยงภัยให้ทำงานในพื้นที่แล้ว สาเหตุเหล่านี้ทำให้รายได้ของเทศบาลฯก็ลดลงอีก 30% หรือประมาณ 30-40 ล้านบาท/ปีจากภาวะเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้กระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น ซึ่งต้องหยุดและชะลอลง เช่น การพัฒนาอาชีพ การส่งเสริมออกกำลังกาย การส่งเสริมอาชีพในชุมชน เป็นต้น
นายพิทักษ์ กล่าวต่อด้วยว่า แม้ว่าภาพรวมจะประสบปัญหาเงินรายได้ที่ลดลงแล้ว ล่าสุด รัฐบาลได้ลดเงินอุดหนุนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศในปีงบประมาณ 2553 ลงอีก เหลือเพียง 25.02% จากปี 2552 ที่ได้รับ 25.25% นั่นหมายความว่า จะทำให้เงินหายจากทั้งระบบร่วม 100,000 ล้านบาท
“เป็นที่แน่นอนว่า อปท.ต่างๆ ต้องปรับตัวการใช้จ่ายในโครงการที่จำเป็น เพราะรัฐบาลจะลดเงินอุดหนุนลง และยังคงไม่อุดหนุนเงินท้องถิ่นได้ตามกฎหมายที่ระบุไว้ที่ 35% ตามที่มีการเรียกร้องในห้วงหลายปีที่ผ่านมา” นายพิทักษ์ กล่าวต่อและว่า
อย่างไรก็ตาม อีกปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การต่ออายุโครงการน้ำ-ไฟฟรี ซึ่งเป็นการเอาใจประชาชนแต่กระทบ อปท. เพราะมีหลายท้องถิ่นที่ทำระบบน้ำประปาเอง แต่กลับไม่ได้เงินอุดหนุนจากส่วนนี้เลย เช่นเดียวกับเทศบาลเมืองปัตตานีมีกิจการประปาเป็นของตัวเอง ซึ่งแต่ละปีมีกำไรเลี้ยงตัวเอง 1-2 ล้านบาท แต่ตลอดเวลาที่ร่วมโครงการนี้หมดเงินร่วม 7,000,000 บาท และหากยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ก็คงไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างแน่นอน
“แม้ภายหลังได้มีหนังสือสั่งการว่าการดำเนินงานให้คำนึงถึงสถานทางการคลังของเทศบาลฯ โดยไม่กระทบบริการสาธารณะ แต่ก็ยังไม่ลดภาระของเทศบาลฯ และได้ปรึกษากับที่อื่นๆ ก็เห็นว่าคงให้ฟรีไม่ได้แล้ว เพราะจะไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งต่อไปเราไม่รู้ว่ารัฐจะผลักนโยบายอื่นๆ ให้เทศบาลฯรับภาระอีกหรือไม่ ทั้งเรื่องเงินเสี่ยงภัยที่เราต้องแบกรับอยู่ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลเท่ากับทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อ่อนแอ ไม่มีพลังขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่นตามที่ควรจะเป็น” นายพิทักษ์กล่าวทิ้งท้าย
นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า ตัวอย่างรายรับปีงบประมาณ 2549-2551 เทศบาลเมืองปัตตานี มีรายได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1.รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองได้ 32,134,174 ล้านบาท, 34,441,111 ล้านบาท และ 31,019,867 ตามลำดับ 2.ภาษีที่รัฐบาลจัดสรรให้ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จำนวน 116,819.051 ล้านบาท, 113,147,448 ล้านบาท และ 103,540,288 ล้านบาท ตามลำดับ และรายได้ประเภทที่ 3 เป็นเงินอุดหนุนตามระบุวัตถุประสงค์, ตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอนเลือกทำ จำนวน 149,170,115 ล้านบาท, 219,791 ล้านบาท และ 195,730 ล้านบาท ตามลำดับ