xs
xsm
sm
md
lg

ปมพิรุธเล่ห์ ปตท.ขึ้นค่าส่งก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย”โดย ….. ทีมข่าวพิเศษ

(6)ปมพิรุธเล่ห์ ปตท.ขึ้นค่าส่งก๊าซ

ASTVผู้จัดการรายวัน - แกะปมพิรุธอนุมัติขึ้นค่าผ่านท่อส่งก๊าซฯ ให้ ปตท. ทั้งรีบผิดปกติ ทั้งขัดคำพิพากษาศาล เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยคิดตังค์เพียงเล็กน้อยจาก ปตท.ที่เอาท่อก๊าซฯ ไปขยายอายุใช้งาน ตีราคาให้สูงขึ้นเหมือนสร้างใหม่ เพื่อจะมาเก็บค่าส่งก๊าซฯ จากประชาชนได้แพงขึ้น

การขึ้นค่าบริการส่งก๊าซฯของ ปตท.ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แบบรีบๆ โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่รู้เรื่องด้วยนั้น เปรียบเสมือนการ “ปล้นเงียบ” แถมผู้ที่ถูก “ปล้น” ไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วยซ้ำ

แต่เรื่องนี้ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล (กมธ.) วุฒิสภา ได้ทำหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ และพบความผิดปกติ ความไม่เหมาะสมในหลายประเด็น

ประเด็นเรื่องความเหมาะสมในการปรับขึ้นค่าบริการส่งก๊าซฯ หรือค่าผ่านท่อก๊าซนั้น กมธ. มีข้อสังเกต ดังนี้

(1) กระบวนการจัดทำคู่มือการคำนวณราคาก๊าซฯ เพื่อใช้เป็นกรอบในการคำนวณ และอัตราค่าบริการส่งก๊าซฯ ใหม่ มีความเร่งรีบอย่างผิดปกติ โดยที่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา หรือประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ทั้งยังขัดกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดด้วย

กล่าวคือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2550 ให้ทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดราคาก๊าซและอัตราค่าค่าบริการส่งก๊าซที่ กพช.ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2544 (ช่วงที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยถูกแปรสภาพเป็น บมจ.ปตท.)

พร้อมกันนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำ “คู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ” อีกทั้งยังมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพียงคนเดียวเท่านั้น เป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ใหม่ที่ สนพ. จัดทำได้โดยทันที

ต่อมา คู่มือการคำนวณราคาก๊าซฯ และอัตราค่าบริการส่งก๊าซฯ ที่ สนพ. จัดทำขึ้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2551 ใช้ระยะเวลาการพิจารณาและเห็นชอบใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น

ข้อสังเกตที่สำคัญคือ กระบวนการจัดทำคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาตินี้ ดำเนินการในช่วงที่ภาคประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้เพิกถอนการแปรสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

การยื่นฟ้องเกิดขึ้นในวันที่ 31 ส.ค. 2549 ในขณะที่ผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ออกมาในวันที่ 14 ธ.ค. 2550

ขณะที่คู่มือฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2551 และ กกพ.ใช้เป็นกรอบในการคำนวณและพิจารณาอนุมัติราคาก๊าซฯ และอัตราค่าบริการส่งก๊าซฯ นี้ไม่มีการนำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษาให้ ปตท. ต้องดำเนินการคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่ง บมจ. ปตท. ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐและเงินลงทุนของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชน คืนให้กับกระทรวงการคลังทั้งหมด ทั้งนี้ รวมถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมด มาประกอบในการจัดทำคู่มือฯ ด้วย

ยิ่งกว่านั้น คู่มือฯ ที่ สนพ. จัดทำขึ้นและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นชอบ ยังขัดกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ด้วยการให้สิทธิแก่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้แปรสภาพเป็น บมจ. ปตท. ไปแล้ว เป็นผู้ทำหน้าที่ในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้มาก่อนการแปรรูป และขยายอายุการใช้งานใหม่ได้อีกในกรณีที่ท่อก๊าซหมดอายุการใช้งานลง

ดังจะเห็นได้จากข้อความตอนหนึ่งในคู่มือฉบับใหม่นี้ ที่ระบุว่า “เมื่อท่อก๊าซเส้นใดเส้นหนึ่งหมดอายุการใช้งานลง ให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปดำเนินการประเมินมูลค่าสินทรัพย์และขยายอายุการใช้งานใหม่ ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการกำหนดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและค่าบำรุงรักษาระบบท่อ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ( สนพ.)”

ปตท. ได้ดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา 2 บริษัท คือ General Electric International Operations Company (GEIOC) และ Shell Global Solution Thailand (SGST) เพื่อทำการศึกษา 1) การขยายอายุการใช้งานของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน 2) ประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของระบบท่อที่มีการขยายอายุการใช้งาน และ 3) ประมาณค่าใช้จ่ายดำเนินการและบำรุงรักษาระบบท่อที่ขยายอายุใช้งาน

ผลการศึกษาดังกล่าว ทำให้อัตราค่าบริการส่งก๊าซสูงขึ้นในสภาพเหมือนกับว่ามีการลงทุนสร้างท่อก๊าซเส้นใหม่ขึ้นมา แทนที่จะลดลงอันเนื่องจากอายุการใช้งานของท่อก๊าซที่ได้หมดลงหรือใกล้จะหมดไป

การให้สิทธิดังกล่าวข้างต้นแก่ บมจ. ปตท. ผ่านทางคู่มือฉบับนี้ จึงเป็นเหมือนการที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคือ ท่อก๊าซธรรมชาติให้กับ บมจ.ปตท. โดยคิดมูลค่าเพียงเล็กน้อย

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ บมจ. ปตท. นำทรัพย์สมบัติของแผ่นดินไปขยายอายุการใช้งานและตีราคาใหม่ตามที่ต้องการ โดย บมจ.ปตท.สามารถนำมูลค่าจากการตีราคาท่อเก่าให้เพิ่มขึ้นนี้มาเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใช้เรียกเก็บจากประชาชนเพิ่มขึ้น

การดำเนินการดังกล่าวเพียงแค่ขอความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เท่านั้น ตามที่ปรากฏจากเอกสารเรื่องการคำนวณอัตราค่านวณค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. นำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2551

การกระทำดังนี้ เป็นการขัดต่อคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอย่างชัดเจน การที่ กกพ. พิจารณาข้อเสนอขอปรับอัตราค่าบริการฯของ ปตท. ตามกรอบการคำนวณอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของคู่มือดังกล่าว จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริงที่นำมาประกอบการพิจารณาที่ผิดเพี้ยนมาตั้งแต่ต้น และส่งผลกระทบผลประโยชน์ของชาติและต่อประชาชนอย่างกว้างขวางและหลีกเลี่ยงไม่ได้

 (2 ) การขึ้นค่าส่งก๊าซฯผ่านท่อ เพื่อนำเงินไปท่อส่งก๊าซฯใหม่ เป็นการผลักภาระให้ประชาชนเป็นผู้รับภาระค่าก่อสร้าง ขณะที่กรรมสิทธิ์ตกเป็นของ ปตท. ซึ่งปกติการดำเนินธุรกิจทั่วไป การลงทุนขยายกิจการผู้ประกอบการต้องรับภาระการลงทุนเองโดยกู้เงินหรือระดมทุนจากผู้ถือหุ้น มิใช่ขึ้นราคาสินค้าเพื่อนำรายได้มาขยายกิจการ

(3) การคิดค่าบริการค่าบำรุงรักษาระบบท่อก๊าซฯ ที่ กกพ. อนุมัติให้ ปตท. นำมาใช้คิดเป็นต้นทุนนั้นมีมูลค่าสูงถึง 61,283 ล้านบาท กกพ. ควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานอิสระภายนอกเป็นผู้ช่วยตรวจสอบความเหมาะสม

(4) กระบวนการรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณาปรับค่าบริการส่งก๊าซไม่มีประสิทธิภาพ เปิดรับฟังความเห็นเพียง 3 สัปดาห์ ทั้งยังผ่านอินเตอร์เน็ตช่องทางเดียว ประชาชนทั่วไปไม่ได้มีส่วนร่วมแท้จริง


เหลี่ยม ปตท.ประเมินค่าท่อก๊าซ

การประเมินมูลค่าท่อก๊าซฯ ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณการขอปรับค่าส่งก๊าซฯผ่านท่อของ ปตท. เห็นได้ชัดว่ามีพิรุธและเมื่อเทียบตัวเลขการประเมินในแต่ละช่วงเวลา จะเห็นเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทมหาชนระดับโลก ซึ่งกวาดรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นจนแทบจะหาตู้โชว์ใส่ไม่หมด

สำหรับเรื่องนี้ มีประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาสำคัญ ๆ ดังนี้

หนึ่ง ท่อก๊าซที่ถูกประเมินมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นท่อก๊าซที่สร้างขึ้นก่อนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งหมายความว่า ท่อก๊าซดังกล่าวใช้เงินของรัฐ ซึ่งก็คือเงินของประชาชนในการก่อสร้าง และหลังการแปรรูป บริษัท ปตท.ได้เก็บค่าผ่านท่อในแต่ละปีเป็นเงินเกือบ ๒ หมื่นล้านบาท ซึ่งสุดท้ายค่าผ่านท่อนี้ก็ถูกผลักภาระมาสู่ประชาชนในรูปราคาขายปลีกพลังงานที่สูงขึ้น

เรื่องจึงกลายเป็นว่าประชาชนซึ่งเดิมมีฐานะเป็นเจ้าของท่อก๊าซ เพราะเป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้าง กลับจะต้องจ่ายค่าใช้ท่อก๊าซอีกด้วยในปัจจุบัน เสมือนกับเจ้าของบ้านเมื่อลงทุนลงแรงสร้างบ้านของตนเสร็จเรียบร้อย บ้านกลับถูกโอนไปเป็นของคนอื่น ทำให้เจ้าของบ้านต้องกลับมาเช่าบ้านหลังเดิมนี้อีกเพื่ออยู่อาศัย

สอง แม้ว่าในการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะประเมินมูลค่าของท่อก๊าซดังกล่าวไว้แล้ว และรวมมูลค่านั้นอยู่ในราคาหุ้นของ บมจ. ปตท. แต่ในการประเมินครั้งนั้นได้ประเมินมูลค่าของท่อก๊าซไว้ต่ำเพียง 46,189.22 ล้านบาท ปรากฏตามหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ และคาดว่าจะมีอายุใช้งานที่ 25 ปี

ขณะที่การประเมินครั้งใหม่เพื่อประกอบการพิจารณาขอขึ้นค่าบริการส่งก๊าซฯโดยบริษัทที่ปรึกษา กลับพบว่า ท่อส่งก๊าซฯนี้มีอายุใช้งานได้นานถึง 50 ปี

ที่สำคัญ อายุใช้งานที่เพิ่มขึ้นอีก 25 ปีนี้ ทางบริษัทที่ปรึกษาได้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจไว้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 105,000 ล้านบาท และ120,000 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งๆ ที่ท่อก๊าซที่ถูกประเมินทั้งสองครั้งเป็นท่อก๊าซชุดเดียวกันซึ่งสร้างมาจากเงินของรัฐและภาษีของประชาชน (อ้างอิง จากเอกสารประกอบการชี้แจงของ กกพ.ต่ออนุกรรมาธิการฯ)

ประเด็นนี้ จึงมีข้อสังเกตสำคัญ คือ

(1) การประเมินมูลค่าท่อก๊าซก่อนการแปรรูปนั้นเป็นการประเมินที่ต่ำเกินกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้รัฐได้เงินจากการแปรรูปน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริง

และ (2) หากมูลค่าที่ได้จากการประเมินครั้งล่าสุดเป็นมูลค่าที่แท้จริงของท่อก๊าซชุดนี้ ผู้ใดควรเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้น รัฐในฐานะตัวแทนของประชาชนควรได้รับเงินเพิ่มขึ้นจากการแปรรูปหรือไม่ หรือประชาชนจะต้องจ่ายค่าผ่านท่อเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่ประชาชนก็เป็นเจ้าของเงินที่นำไปก่อสร้างท่อก๊าซนี้ในอดีต

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ รายงานของผู้สอบบัญชีต่อมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า การส่งมอบทรัพย์สินจาก บมจ. ปตท. คืนให้รัฐตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดยังไม่ครบถ้วน โดยพิจารณาจากมูลค่าทางบัญชีสุทธิของระบบท่อก๊าซก่อนการแปรรูป ปตท. (30 ก.ย. 2544 ) มูลค่า 42,664 ล้านบาท และ บมจ.ปตท. ส่งคืนตามคำพิพากษาเพียง 15,050.69 ล้านบาท ยังขาดอีก 32,613.45 ล้านบาท และจนถึงบัดนี้กระทรวงการคลัง ยังทำเป็นไม่สน

ตารางเปรียบเทียบมูลค่าท่อก๊าซที่มีการประเมินระหว่าง ปตท.และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ที่มาของการประเมินมูลค่าของท่อก๊าซ
ปตท.
ประเมินเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปี 254446,189.22 ล้านบาท
ปตท.จ้างบริษัทที่ปรึกษาประเมินเพื่อ
ขอขึ้นค่าผ่านท่อ ปี 2552
105,000-120,000 ล้านบาท
(มีอายุเพิ่มขึ้น 25 ปี)
สตง.ประเมินเพื่อรียกคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษา47,664.14 ล้านบาท
ปตท.ประเมินเพื่อคืนทรัพย์สิน15,050.69 ล้านบาท


ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย” โดย...ทีมข่าวพิเศษ

(1) ปตท.โก่งราคาน้ำมัน-ก๊าซ สูบกินถึงติดรวยสุดในโลก

(2) บิ๊ก ขรก.เอื้อ ปตท.ขัด รธน.-ผิดอาญา ม.157

(3)"ขรก.เพื่อ ปตท."รวยอู้ฟู่ โบนัส-เบี้ยประชุม


(4)"บิ๊กไฝ ปตท."ถ่างขาควบ 6 บริษัทฟันปีละ 22 ล้าน

(5)ปตท.ขูดค่าส่งก๊าซฟันกำไรปีละ 2 พันล้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น