xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 1.5 พันล้านทำถนนใหม่เชื่อมR3a ปี 54 เริ่มสร้างเสร็จ 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง ชี้ให้ดูแผนที่แนวเส้นทางถนนเอเชียสายใหม่ ที่จะปรับปรุงจากตัวเมืองเชียงราย - อ.เชียงของ จ.เชียงราย เชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายถนน R3a
เชียงราย – เตรียมทุ่มงบ 1.5พันล้านตัดถนนสายเอเชียใหม่ จากเชียงราย – เชียงของ รองรับสะพานข้ามโขง 4 เชื่อม R3a และเส้นทางไทย-ลาว-จีน ล่าสุดกรมทางหลวง เปิดปฐมนิเทศโครงการแล้ว คาดออกแบบเสร็จปีหน้า (53) เริ่มสร้างได้ปี 54 เสร็จปี 57 แถมมีแผนพัฒนาเพิ่มอีกหลายเส้นทาง ด้านผู้ว่าฯย้ำจากปีนี้ไป(52)มีงบพัฒนาสาธารณูปโภคเข้าพื้นที่นับหมื่นล้าน

เมื่อเร็วๆนี้ กรมทางหลวงได้จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมฯ การก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรโครงข่ายทางหลวงเชียงราย-สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงของ ณ ห้องประชุมแม่กก สำนักงานแขวงการทางเชียงรายที่ 1 อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมอบหมายให้บริษัท ไอเอ็มเอ็มเอส จำกัด ร่วมกับบริษัท เซเว่น แอสไซซิเอดคอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท พี.วี.เอส.95 คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้ดำเนินการศึกษา รายงานความคืบหน้าการศึกษาทั้งด้านความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธาน

นายธีรพจน์ วราชิต ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมฯ กล่าวว่า กรมทางหลวงใช้งบประมาณ 9 ล้านบาทเศษ เพื่อว่าจ้างให้บริษัทศึกษาเพื่อก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรสายเชียงราย-สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ รวมระยะทางเมื่อวัดจากเส้นทางเดิมสายบ้านหัวดอย ต.ท่าสาย อ.เมือง-อ.เวียงชัย-อ.พญาเม็งราย-อ.ขุนตาล-อ.เชียงของ ประมาณ 75 กิโลเมตร(กม.) ระยะเวลาศึกษา 365 วัน เริ่มต้นสัญญา 30 เมษายน 2552 - 30 เมษายน 2553 เพื่อให้เชื่อมกับถนน R3a เชื่อมคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ประเทศจีน-สปป.ลาว-อ.เชียงของ ที่จะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมกับฝั่งไทยซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2554

เส้นทางสายใหม่นี้ นอกจากขยายให้อำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยร่นระยะทางจากเดิม 135 กม.ลงไปอีกประมาณ 35 กม. แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างถนนจากสะพานที่ อ.เชียงของ ลงมาอยู่แล้วประมาณ 35 กม.และบางส่วนมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงทำให้เหลือโครงการที่จะต้องศึกษาประมาณ 75 กม.เท่านั้น

หลังศึกษาเสร็จก็จะมีการออกแบบให้แล้วเสร็จในปี 2553 จากนั้นปี 2554 ประกวดราคาก่อสร้าง และทำการก่อสร้างโดยใช้งบประมาณก่อสร้างกิโลเมตรละประมาณ 20 ล้านบาท หรือรวมกันแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2557

ทั้งนี้หลังการประชุมปฐมนิเทศครั้งนี้จะมีการประชุมกลุ่มย่อย ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบการปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างต่อไปด้วย

นายโชคพิพัฒน์ เลิศพงศ์อารยะ ผู้ช่วยวิศวกรงานทาง กรมทางหลวง กล่าวว่า โครงการสร้างถนน 4 ช่องจราจรมีการศึกษาทางเลือกเอาไว้ 4 ทางเลือก แต่มีจุดเริ่มต้นเหมือนกันที่หมู่บ้านหัวดอย ซึ่งมีถนนสายเดิมอยู่แล้วต่อไปยัง อ.ขุนตาล ตามถนนสาย 1152 ไปบรรจบกับถนนสาย อ.เทิง-เชียงของ ที่ถนนสาย 1020 แต่เนื่องจากถนน 1152 มีชุมชนหนาแน่น โดยเฉพาะที่ อ.พญาเม็งราย อ.ขุนตาล ก่อนถึงถนน 1020 รวมทั้งผ่านพื้นที่ป่า หนองน้ำขนาดใหญ่คือหนองหลวงใน อ.เวียงชัย ขณะที่ถนน 1020 แม้จะไม่มีชุมชนหนาแน่น และสามารถเปิดเส้นทางให้กว้างกว่า 30 เมตรได้ตลอดแนวแต่ก็ต้องผ่านป่าเขา ดังนั้น จึงมีการศึกษาเอาไว้หลายๆ รูปแบบ (อ่านรายละเอียดใน ล้อมกรอบ )

***ทางเลือกที่ 1 ขยายเส้นทางเดิมสาย 1152-1020 จากหมู่บ้านหัวดอย อ.เมือง ไปจนถึง อ.เชียงของ ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร

ทางเลือกที่ 2 จากถนน 1152 ก็มีการตัดเส้นทางออกจากแนวเดิมให้ตรง เพื่อเลี่ยงชุมชนและตัดถนนใหม่เป็นเส้นตรง พร้อมสะพานข้ามหนองหลวง จากนั้นไปเชื่อมกับถนน 1020 ตามปกติ

ทางเลือกที่ 3 แยกออกจากถนน 1152 ตรงกิโลเมตรที่ 18 และเลี้ยวขึ้นไปยัง อ.ขุนตาล เลี่ยงตลาดและชุมชนบริเวณสามแยกขุนตาลเพื่อไปบรรจบกับถนน 1020 ย่นระยะทางทั้งหมดเหลือ 71.60 เมตร

ทางเลือกที่ 4 เป็นการผสมผสานระหว่างทางเลือกที่ 1-3 โดยระยะแรกแยกออกจากถนน 1152 เหมือนทางเลือกที่ 3 แต่ไปบรรจบกับถนน 1020 ก่อนถึงสามแยกบ้านต้า อ.ขุนตาล ตรงกิโลเมตรที่ 78 จากนั้นไปตามถนนสาย 1020 จนถึง อ.เชียงของ แต่เส้นทางนี้ก็มีอุปสรรคเหมือนทางเลือกที่ 3 คือ ช่วงก่อนถึงถนน 1020 จะผ่านป่าอนุรักษ์และมีความลาดชันสูง

สำหรับรูปแบบถนนเป็น 4 ช่องจราจรและมีเกาะกลาง แต่จะมีความกว้างแตกต่างกันไปแล้วแต่จะผ่านพื้นที่ใด เช่น ผ่านชุมชนหนาแน่นจะมีเขตทางกว้าง 40 เมตร ผิวจราจรกว้างข้างละ 7 เมตร มีฟุตปาธข้างละ 2.50 เมตร เกาะกลางกว้าง 4.10 เมตร แต่หากผ่านชุมชนในเขตทางกว้าง 30 เมตร ก็จะลดเกาะกลางเหลือ 3.20 เมตร ส่วนขยายด้านข้างอีกข้างละ 3 เมตร แต่หากเป็นพื้นที่นอกชุมชนจะขยายเกาะกลางเป็น 9 เมตร และไม่มีส่วนขยายด้านข้าง เป็นต้น**

ด้านนายรังสรรค์ สุขชัยรังสรรค์ รองผู้อำนวยการแขวงการทางเชียงรายที่ 1 กล่าวว่า ความจริงกรมทางหลวงมีโครงการก่อสร้างถนนและขยายเป็น 4 ช่องจราจรที่เกี่ยวข้องกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงถึง 6 เส้นทางได้แก่

1.ถนนสาย อ.แม่สาย-เชียงแสน เชื่อมกับท่าเรือในแม่น้ำโขงแห่งใหม่ที่เชียงแสน ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา

2.ถนนสาย อ.แม่จัน-เชียงแสน ช่วงที่ 2

3.ถนนสาย อ.แม่จัน-เชียงแสน ช่วงที่ 3

และ 4-6 ก็คือถนนสายเชียงราย-เชียงของ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังกล่าว

ด้านนายสุเมธ กล่าวว่า จากปีนี้ (2552) เป็นต้นไป จะมีงบประมาณนับหมื่นล้านบาทมาลงที่เชียงราย เพื่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ท่าเรือเชียงแสน 2 สะพานข้ามแม่น้ำโขง 4 ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่อดีตเรามีโครงการสร้างทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย แต่ไม่คืบหน้า ทำให้จีนมุ่งไปพัฒนาเส้นทางสายจีนตอนใต้-เวียดนาม-กัมพูชาและกำลังจะเชื่อมกับอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ของไทยแทน

ดังนั้น เมื่อทางรถไฟยังไม่สมหวัง เราก็ควรหันมาผลักดันทางรถยนต์มากขึ้น ซึ่งน่าดีใจที่กรมทางหลวงทำโครงการนี้ และเชื่อว่า หลังเสร็จจากถนน เรื่องทางรถไฟก็จะตามมา โดยเขาได้แจ้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อประสานไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว ล่าสุดทราบว่าต้นเดือนสิงหาคม 52 กระทรวงคมนาคม จะไปศึกษาพื้นที่เกี่ยวกับเส้นทางรถไฟดังกล่าวทำให้ในอนาคตก็จะครบถ้วนทั้งทางบกและระบบรางเชื่อม GMS ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น