xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นอีกเฮือกรถไฟเด่นชัย-เชียงราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงราย – ฝันนี้ยังอีกไกล สำหรับทางรถไฟ “เด่นชัย-เชียงราย” ที่ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 28 ค่าก่อสร้างจาก 5 พันกว่าล้าน กลายเป็นหลายหมื่นล้านบาท แต่ถึงวันนี้ก็ยังคงเป็นวุ้น ล่าสุดผู้ว่าฯเชียงราย ร่วมปลุกกระแสลุ้นกันอีกเฮือก ยืนยันคนเชียงรายส่วนใหญ่ต้องการขนส่งระบบรางเชื่อมรถไฟจีน-ลาว ขนานกับถนน R3a รับท่าเรือเชียงแสน 2 – สะพานข้ามโขง 4

หลังจากระยะที่ผ่านมา หลายรัฐบาลได้ดำเนินโครงการศึกษาเพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ - เชียงราย มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาจนถึงวันนี้ ล่าสุด จังหวัดเชียงราย ได้นำเรื่องราวของโครงการดังกล่าวออกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนทั่วไปอีกครั้ง โดยเฉพาะการเปิดประเด็นเรื่องการสร้างเส้นทางรถไฟ เพื่อเชื่อมกับท่าเรือเชียงแสนในแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ซึ่งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กำลังก่อสร้างที่ปากแม่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่หมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน มูลค่า 1,546,400 ล้านบาท และยังเชื่อมไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ระหว่าง อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มูลค่า ประมาณ 1,934 ล้านบาท เนื่องจากทั้ง 2 โครงการกำลังจะแล้วเสร็จภายในไม่เกิน 3-4 ปีข้างหน้า

นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวเชียงรายพบว่าส่วนใหญ่มีความต้องการให้มีการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจาก จ.แพร่ เข้าไปยัง จ.เชียงราย เพื่อเชื่อมไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ สำหรับติดต่อค้าขายกับจีนตอนใต้ผ่านระบบราง ซึ่งทางประเทศจีนมีโครงการจะสร้างขนานมากับถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ อยู่แล้ว

สำหรับ ความเคลื่อนไหวของโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย มีออกมาตั้งแต่ปี 2528 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทที่ปรึกษาจากประเทศอังกฤษศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรมของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย สรุปผลและประมาณการค่าก่อสร้างในขณะนั้นว่าต้องใช้ประมาณ 4,525 ล้านบาท และมีผลตอบแทนการลงทุนในเกณฑ์ต่ำ ปี 2537 ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทบทวนแล้วเสร็จเดือน มิถุนายน2538 สรุปผลได้ว่าเส้นทางสายนี้มีความเหมาะสมหากผ่านเส้นทาง อ.เด่นชัย จ.แพร่-สอง-งาว-พะเยา-เชียงราย ระยะทาง 246 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 8,450 ล้านบาท

ต่อมาปี 2539-2541 ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการสำรวจออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามเส้นทางข้างต้นดังกล่าว และได้ประมาณราคาค่าก่อสร้างและเวนคืนที่เดินรวมกันทั้งสิ้น 21,106 ล้านบาท กระทั่งปี 2544 ร.ฟ.ท.ได้รายงานเสนอกระทรวงคมนาคม ขออนุมัติดำเนินโครงการโดยเสนอแนวทาง 2 ลักษณะคือให้เอกชนก่อสร้างและรัฐบาลจ่ายค่าก่อสร้างด้วยวิธี Counter-Trade ด้วยผลผลิตการเกษตรภายในประเทศ หรือให้เอกชนเข้าร่วมทุนโดยให้ได้รับสัมปทานโครงการภายในกำหนดเวลาและรัฐบาลให้การสนับสนุนเงื่อนไขบางประการ

แต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2544 มีเพียงรับทราบความก้าวหน้า และเห็นว่าเป็นโครงการที่ใช้การลงทุนสูงมาก มีเงื่อนไขหลายอย่างเพิ่มขึ้น เช่น เส้นทางรถยนต์สะดวกรวดเร็วกว่า - มีถนนมากขึ้น แนวเส้นทางรถไฟบางส่วนผ่านป่าสงวนแห่งชาติ ฯลฯ จึงให้ศึกษาทบทวนโครงการใหม่ ทำให้ในปี 2546-2547 ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทำการทบทวนอีกครั้ง จนสรุปว่ามีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ได้เสนอการก่อสร้างเป็น 3 ระยะคือจากเด่นชัย-เชียงราย ระยะทาง 246 กิโลเมตร จากเชียงรายไปยังสถานีบ้านสันนา ต่อไปยังท่าเรือเชียงแสนในแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ระยะทาง 60 กิโลเมตร และจากสถานีบ้านสันนา ไปยัง อ.เชียงของ ระยะทาง 40 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ที่เชื่อมไปถึงจีนตอนใต้ต่อไป

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคม พิจารณาแนวทางในการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนาระบบรถไฟขนาดรางมาตรฐาน ตั้งแต่สถานีบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ไปจนถึง อ.เชียงของ รวมระยะทาง 796 กิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในช่วงการขออนุมัติงบประมาณเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาในการศึกษาทบทวน สำรวจ กำหนดแนวทางเส้นทาง ออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาระบบรางมาตรฐาน ฯลฯ ให้ครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง โดย ร.ฟ.ท.จะเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ในการศึกษา เพราะคาดว่าหากมีการขยายเส้นทางตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านๆ มา เช่น เชื่อมไปถึง อ.เชียงของ การจัดซื้อล้อเลื่อนใหม่ ฯลฯ คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มอีกหลายหมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น