xs
xsm
sm
md
lg

ลาววางแผนเพิ่มขนส่งผ่านR3a 400 เที่ยว/วัน เชื่อสะพานมิตรภาพ 4 เสร็จการค้าโตพรวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีรพงษ์ รามางกูร นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ กับท่านแสงคำ วงดารา ประธานสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ พบปะกัน ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่ จ.เชียงราย
เชียงราย – “ไทย-ลาว”ม่วนซื่น ฉลองสะพานน้ำโขง 4 ควบ 750 ปีเชียงราย ขณะที่กรมโยธาฯสปป.ลาว วางแผนหนุนธุรกรรมขนส่งผ่านเส้นทางหมายเลข 3 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 400 เที่ยว/วัน เชื่อหลังสะพานข้ามโขงเชื่อมบ่อแก้ว-เชียงของเสร็จ ยอดการค้าผ่านพุ่งหลายเท่าตัว หลังเห็นตัวอย่างสะพานมิตรภาพหมายเลข 1 เสร็จ ทำยอดการค้าพุ่งพรวดทันที พร้อมเสนอเปิดด่านเชื่อมอุตรดิตถ์อีกทาง

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า สมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ ซึ่งมีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นนายกสมาคมฯได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีร่วมกับสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ ณ ห้องประชุมดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยฝ่าย สปป.ลาว มีท่านแสงคำ วงดารา ประธานสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพนำคณะเข้าร่วมประชุม และมีท่านอ้วน พมมะจัก เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย

การประชุมมีเนื้อหาเกี่ยวกับความร่วมมือหลายเรื่อง เช่น ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการส่งเสริมด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว นโยบายความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เป็นต้น ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น

ท่านอ้วน พมมะจัก เอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย ได้เสนอในที่ประชุมว่าที่ผ่านมาชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน จ.อุตรดิตถ์ ของประเทศไทยมีการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาวมากขึ้น และระดับท้องถิ่นของทั้งสองฝ่ายจึงอยากให้มีการเปิดเป็นด่านสากล โดยระดับผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยและทางเจ้าเมืองของ สปป.ลาว ได้ประชุมหารือและเห็นชอบร่วมกันไปแล้ว จึงเห็นว่าประเทศไทยคงมีความพร้อมแต่สำหรับ สปป.ลาว ยังมีปัญหาเรื่องถนนที่ยังไม่ดีพอ ในอนาคตก็คงจะกู้ยืมเงินจากประเทศไทย เพื่อนำไปปรับปรุงถนนและร่วมกันเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรร่วมกันต่อไป

เสวนาร่วมไทย-ลาวถนนหมายเลข3-สะพานข้ามโขง

รายงานข่าวแจ้งว่าวันเดียวกันที่ประชุมจัดให้มีการสัมมนาเรื่อง "เส้นทางหมายเลข 3 และสะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) กับโอกาสของไทยและลาว" โดยมีนายเตช บุนนาค อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศในฐานะที่ปรึกษาสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ และประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษาและวิจัยของสมาคมฯ เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา

ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยตัวแทนจากกรมศุลกากรของไทย นายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตของประเทศไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ ท่านพุดทะสัก สุวันนะสาน หัวหน้าแผนกแผนการและการบริการ กรมส่งเสริมการลงทุน สปป.ลาว ท่านบัวเพ็ด ไชยะสาน จากกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว รศ.ดร.ศิริพร วัชชวัลคุ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อพัฒนาโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมสัมมนา

ที่ประชุมสัมมนาครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สรุปโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 4 ที่จะเชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของประเทศไทยกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อเชื่อมกับถนน R3 a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ว่าสะพานแห่งนี้เชื่อมระหว่างบ้านดอนมหาวัน ต.เวียง อ.เชียงของ กับบ้านดอน เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว มีความกว้าง 14.70 เมตร ยาว 630 เมตร ความยาวตลอดโครงการ 11.6 กิโลเมตรรวมถนนและอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)

ต่อมาคณะรัฐมนตรีของไทยมีมติครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบในการก่อสร้างโดยฝ่ายไทยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับประเทศไทยฝ่ายละ 50% และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 เห็นชอบในหลักการให้จัดสรรงบประมาณ 35 ล้านบาทเพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการโดยมอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานดำเนินการ และในการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 14 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทย-จีน-สปป.ลาว-ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการพัฒนาและสำรวจออกแบบขึ้น และได้มีการประชุมคณะกรรมการแล้ว 4 ครั้ง เพื่อพิจารณาผลการออกแบบของกรมทางหลวงของไทยดังกล่าว
รูปแบบสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4
คณะกรรมการประชุมครั้งแรก ที่สำนักงาน ADB ประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน2550 เห็นชอบในการศึกษาและออกแบบ และกำหนดต้นทุนก่อสร้างเอาไว้ที่ 41.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคม 2551 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เห็นชอบให้เพิ่มทุนก่อสร้างเป็น 47.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการตั้งคณะทำงานของแต่ละประเทศเพื่อคัดเลือกกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาในการดูแลโครงการ

ครั้งที่ 3 ที่สำนักงาน ADB ประจำประเทศไทย ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2551 เห็นชอบให้เพิ่มทุนก่อสร้างเป็น 62.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทั่งประชุมครั้งที่ 4 ที่เมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2551 สรุปผลโดยให้เพิ่มต้นทุนเป็น 60.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 57.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากสามารถยกเว้นภาษีค่าก่อสร้างได้ เพราะติดปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT

กระทั่งการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18-20 มีนาคม 2552 คณะกรรมการสรุปในหลักการว่า สปป.ลาว จะยกเว้นเรื่อง VAT ในการก่อสร้างแต่ประเทศไทยไม่สามารถยกเว้น VAT ได้ จึงมีการสรุปงบประมาณในการก่อสร้างในท้ายที่สุดว่าให้ใช้ต้นทุนก่อสร้างทั้งหมด 54.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,934 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยจำนวน 1,034.7 ล้านบาท และฝ่ายจีน 967 ล้านบาท กำหนดเริ่มศึกษาพื้นที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 และเวนคืนที่ดินให้แล้วเสร็จในเดือน มกราคม 2553 ก่อนก่อสร้างในเดือน กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อให้แล้วเสร็จในเดือน กันยายน 2555 สำหรับประเทศไทยทางกระทรวงคมนาคมจะรายงานความก้าวหน้าต่อคณะรัฐมนตรีและเสนอร่างข้อตกลงต่างๆ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาว่าจะนำเสนอต่อรัฐสภาหรือไม่ต่อไป

นายวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตของประเทศไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ กล่าวว่า สะพานเป็นสิ่งจำเป็นไม่ใช่ความฟุ่มเฟือยเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน และสะพานแห่งที่ 1 ซึ่งสร้างในปี 2539 ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนเดิมแค่ 1,900 ล้านบาทเพิ่มเป็น 24,000 ล้านบาทแล้วในปี 2551 ทั้งยังทำให้ สปป.ลาว ซึ่งเคยเป็นแลนด์ล็อกกลายเป็นแลนด์ลิงก์อีกด้วย จึงคาดว่าสะพานแห่งที่ 3 ที่ภาคอีสานของไทยจะแล้วเสร็จไล่เลี่ยกับสะพานแห่งที่ 4 นี้

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ควรมีการหารือ เพื่อจัดทำกฎหมายในการดูแลรักษาความปลอดภัยทางการค้า การท่องเที่ยวและการเดินทางไปมาร่วมกัน

ท่านพุดทะสัก สุวันนะสาน หัวหน้าแผนกแผนการและการบริการ กรมส่งเสริมการลงทุน สปป.ลาว กล่าวว่าในอดีตนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว เป็นอันดับ 1 แต่ช่วงปี 2007-2008 ลดลงเป็นอันดับที่ 3 รองจากนักลงทุนจีนและเวียดนามแต่ สปป.ลาว ก็อำนวยความสะดวกด้วยหวังว่านักลงทุนไทยจะกลับไปเป็นอันดับ 1เช่นเดิม เพราะลาวยังเปิดการลงทุนทั้งด้านเหมืองแร่ ไฟฟ้า และเศรษฐกิจของลาวก็อยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย

ท่านบัวเพ็ด ไชยะสาน จากกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังหารือในรายละเอียดเพื่อดำเนินการตามกรอบของ North-South Economic Corridor ในการอำนวยความสะดวกให้รถขนส่งเข้าออกวันละ 400 คัน และจากการศึกษาพบว่า ค่าขนส่งสินค้าระหว่างแดนดังกล่าวพบว่าต้นทุนขนส่ง 100% จะเป็นค่าขนส่งเสีย 40% ที่เหลืออีก 60% เป็นค่าอื่นๆ เช่น ที่พัก อาหาร ฯลฯ ทั้งนี้ สปป.ลาว มีด่านที่มีมาตรฐานอยู่แล้วเพียงแต่ว่าจะสามารถพัฒนาให้เป็น Single Windows หรือ Single Stop ซึ่งเป็นการบริการจอดครั้งเดียวแล้วไปได้ตลอดสายหรือไม่เท่านั้น

ด้านนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า หากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 แล้วเสร็จ ชาวเชียงรายจะได้ฉลองไปพร้อมๆ กับการครบรอบ 750 ปีเมืองเชียงรายพอดี ซึ่งประเทศไทยมีโครงการรองรับมากมายทั้งถนนสี่ช่องจราจรจาก อ.เชียงแสน ไปเชียงของ จากแม่จัน-เชียงแสน และจากแม่สาย-เชียงแสน เพื่อรองรับท่าเรือในแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก อ.เชียงแสน ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2553 ด้วย

ในระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน ตนจะเดินทางไปตามถนน R3 a ดังกล่าวไปยังเมืองเชียงรุ่งหรือจิ่งหง เขตปกครองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ประเทศจีน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และสำรวจเส้นทาง

ขณะที่ผลสำรวจความเห็นของประชาชนชาวเชียงรายพบว่า หนึ่งในความปรารถนาของชาวเชียงรายคือการได้เส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ซึ่งเชื่อมกับถนน R3a ดังกล่าว และในวันที่ 17-18 กรกฎาคม นี้ กระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดประชุมที่โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ทเชียงราย เพื่อประชุมถึงความคุ้มค่าของเส้นทางรถไฟสายนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น