xs
xsm
sm
md
lg

ออกบอนด์ไทยอิสลาม5 หมื่นล.จ่ายกำไร4%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำขึ้นรีบตัก ขุนคลังสั่งบิ๊กแบงก์อิสลามจัดพันธบัตรออมทรัพย์ไทยอิสลามเข้มแข็ง หรือ "ซูกุก" 5 หมื่นล้าน ผลตอบแทนหรืออัตรากำไร 4% เปิดขายใน 2 เดือน ให้พี่น้องไทยมุสลิมมีส่วนร่วมลงทุนโครงการไทยเข้มแข็งและได้รับผลตอบแทนสูงกันถ้วนหน้าทั่วไทย ส่วนไทยเข้มแข็งสรุป 3 วันหมด 8 หมื่นล้าน คนซื้อ 1.14 แสนรายๆ ละ 7-8 แสนบาท

นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร อิสลามแห่งประเทศไทยก์ (ไอแบงก์) กล่าวถึงนโยบายของนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมได้มีโอกาสออมเงินผ่านพันธบัตรรัฐบาลเหมือนพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง โดยให้ธนาคารเป็นผู้ตัวแทนจัดจำหน่ายว่า ธนาคารจะใช้เวลาพิจารณารายละเอียดในการออกพันธบัตรออทรัพย์อิสลาม โดยยึดตามหลักศานาอิสลามหรือพันธบัตรซูกุกประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะรายงานให้กระทรวงการคลังรับทราบ เนื่องจากต้องแก้ไขกฎระเบียบบางประการเพื่อเอื้อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนไม่แตกต่างจากพันธบัตรไทยเข้มแข็งที่จำหน่ายก่อนหน้านี้ โดยเบื้องต้นคาดจะออกได้ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท อายุ 5-7 ปี และให้ผลตอบแทนในระดับ 4% เท่ากัน
สำหรับผลตอบแทนที่ให้ผุ้ลงทุนจะไม่อยู่ในรูปดอกเบี้ยเหมือนพันธบัตรก่อนหน้านี้ แต่จะเรียกว่าอัตรากำไร ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่อยู่ในรูปอื่น เช่นอาจเป็นทรัพย์สินหรืออื่นๆ โดยผู้ลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ซูกุกจะเหมือนร่วมเป็นเจ้าของทรัพย์สินกับรัฐบาลด้วย โดยหลังจากแก้ไขระเบียบบต่างๆเรียบร้อยแล้วคาดว่าจะดำเนินการออกไก้หลังจากนี้อีก 2-3 เดือน ซึ่งจะจำหน่ายให้ทั้งชาวมุสลิมและประชาชนทั่วไปและอาจไม่จำกัดวงเงินแต่ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมที่ยังไม่เคยได้ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลได้ออมเงินด้วย ซึ่งขณะนี้มีกระแสความต้องการเข้ามาค่อนข้างมาก
พล.ท.สมชาย วุรุฬหผล ประธานกรรมการอิสลามแบงก์ กล่าวว่า การยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนกรรมการสิทธิหรือภาระภาษีต่างๆ จากการถือครองพันธบัตรออมทรัพย์ซูกุกนั้นทางคณะทำงานของอิสลามแบงก์จะใช้เวลาดำเนินการไม่นานนัก โดยสามารถออกพระราชกฤษฏีกายกเว้นให้เป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว เพื่อให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับไม่เป็นการเสียเปรียบพันธบัตรออมทรัพย์ก่อนหน้านี้ ส่วนวิธีการนั้นอาจจะออกใบสัญญาซื้อขายให้ถือ 2 ใบ เป็นแยกระหว่างเงินต้นกับผลตอบแทน โดยใบของเงินต้นนั้นถือว่าผู้ถือมีกรรมสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกันเช่น ถ้ารัฐเอาเงินไปลงทุนซื้ออาคารก็เหมือนเป็นเจ้าของอาคารนั้นด้วย จนกว่าจะครบอายุของพันธบัตร หรือหากไถ่ถอนก่อนกำหนดบางส่วนสิทธิการเป็นเจ้าของก็ลดลงไปตามสัดส่วนวงเงิน ส่วนผลตอบแทนนั้นอาจทยอยจ่ายให้ทุก 3 เดือนหรือ 6 เดือนหรือจะจ่าย เมื่อครบอายุก็ได้
สำหรับการเปิดจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งรอบ 2 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นปรากฎว่ามีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมากทั้งผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป จนขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ทั้ง 5 หมื่นล้านบาท รวมการขายพันธบัตรไทยเข้มแข็งในงวดนี้ 8 หมื่นล้านบาท คนซื้อ1.14 แสนราย เฉลี่ยรายละ 7 แสนบาท
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังเปิดเผยถึงการเปิดจำหน่ายพันธบัตรไทยเข้มแข็งเมื่อวานนี้ (15 ก.ค.) ว่า ได้รับความสนใจจองซื้อจากประชาชนสูงมาก และมากกว่าที่เปิดขายในวันแรก กระทรวงการคลังจึงโอนยอดเงินที่เหลือ 5,000 ล้านบาท ที่เตรียมไว้ขายให้กับประชาชนทั่วไป แบบไม่จำกัดจำนวนในรอบที่ 3 มาเปิดขายพร้อมกัน รวมถึงวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมจำนวน 30,000 ล้านบาท ก็จะเปิดขายพร้อมกันด้วย ทำให้วงเงินพันธบัตรที่เปิดขายวันนี้รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาทจากเดิมที่จะเปิดขายเพียง 15,000 ล้านบาท แต่ยังจำกัดจำนวนไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท เปิดกว้างให้กับประชาชนทั่วไปด้วยนอกเหนือจากผู้สูงอายุที่ผิดหวังจากการจองซื้อในรอบแรก
“แม้ว่าการเปิดขายพันธบัตรออมทรัพถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์แต่ปริมาณสภาพคล่องในระบบยังเพียงพอรองรับได้ และมาจากความสนใจและเชื่อมั่นมาตรการของรัฐบาล ทำให้ในอนาคตรัฐบาลยังสามารถระดมทุนเพื่อใช้ในการแผนปฏิบัติไทยเข้มแข็งจากพี่น้องประชาชนได้ต่อไป”นายกรณ์กล่าว
สำหรับการขยายวงเงินพันธบัตรไทยเข้มแข็งเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาทนั้นเป็นการคำนวณตามความเหมาะสมในการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยของกระทรวงการคลังที่ไม่ให้สูงเกินปิจารณาจากความต้องการของประชาชน เนื่องจากสถิติที่เปิดขายวันแรกมีผู้จองซื้อพันธบัตรวงเงินเฉลี่ย 700,000 บาทต่อราย ส่วนวงเงินทั้งหมดรวม 80,000 ล้านบาทเป็นระดับกู้ยืมที่ยังอยู่ในกรอบที่เหมาะสม เนื่องจากดอกเบี้ย 4% เป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของกระทรวงการคลังที่สามารถบริหารจัดการได้และยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับดอกเบี้ยที่เหมาะสม
นายกรณ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาที่จะออกพันธบัตรครั้งต่อไป โดยอาจยืดอายุพันธบัตรยาวกว่า 5 ปี และกำลังให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พิจารณาออกพันธบัตรอิสลาม (ซูกุก) เพื่อให้คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามได้มีส่วนร่วมด้วย ส่วนภาคเอกชนที่จะออกพันธบัตรต่าง ๆ ตามมานั้น ตนไม่เป็นห่วงแต่อย่างใด เพราะเอกชนคงเห็นถึงความต้องการของประชาชนแล้วว่ามีสูงแค่ไหน อีกทั้งที่ผ่านมา การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ชะลอลงไปช่วงหนึ่ง ดังนั้นจึงหวังว่าการที่รัฐบาลออกพันธบัตรครั้งนี้น่าจะฟื้นคืนชีพตลาดตราสารหนี้ขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง และน่าจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ภาระดอกเบี้ยพุ่ง 1.6 หมื่นล้าน

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติแผนปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 52 ครั้งที่ 4 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น จึงมีผลให้กระทรวงการคลังสามารถเพิ่มวงเงินเพื่อออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งได้ทันที 3 หมื่นล้านบาทในครั้งนี้ และภายใน 2 เดือนต่อจากนี้หรือก่อนสิ้นปีงบ 52 ที่สิ้นเดือนก.ย.นี้ กระทรวงการคลังยังมีโครงการจะกู้เงินต่ออีก 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 7 หมื่นล้านบาทกู้เพื่อสมทบเงินคงคลัง และอีก 3 หมื่นล้านกู้เพื่อใช้ในโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง แต่อัตราดอกเบี้ยหลังจากนี้อาจมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากขณะนี้ผลตอบแทนอ้างอิงพันธบัตรรัฐบาลที่ระยะ 5 ปี ปรับลดลง หากจะคงดอกเบี้ยที่ 4% ไว้ อายุพันธบัตรอาจเป็น 7 ปี
สำหรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งครั้งนี้ทั้งหมด 1.6 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่มากหากเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าของเงินที่นำมาใช้ในการลงทุนต่างๆที่จะเกิดขึ้น ดีกว่าการให้เปล่าเหมือนโครงการประชานิยมโดยทั่วไป และเมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินที่เกิดจากความเสียหายหรือขาดทุนจากการรับจำนำสินค้าเกษตรจะพบว่าต่อปีรัฐต้องรับภาระถึง 3.2 หมื่นล้านบาทสำหรับวงเงินรับจำนำที่ 1.1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ การซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้ ประชาชน 1 คน สามารถซื้อได้ 1 ครั้งในรอบที่เปิดขาย และครั้งนี้เมื่อเปิดขาย 2 รอบ ก็สามารถซื้อได้ทั้งสองรอบไม่มีปัญหาแต่อย่างใด.
กำลังโหลดความคิดเห็น