xs
xsm
sm
md
lg

40ส.ว.จวกกก.สมานฉันท์ มุ่งแก้รธน.มีวาระซ่อนเร้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา14.30 น. วานนี้ (15ก.ค.) กลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ร่วมกันแถลงคัดค้านบทสรุปผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า รายงานผลการศึกษาดังกล่าว กลุ่ม 40 ส.ว.เห็นว่ามีปัญหาได้แก่ 1. ที่มาของคณะกรรมการ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพราะเสียงส่วนใหญ่มาจากนักการเมือง 2. ข้อเสนอทั้งหลาย โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น มาจากมุมมองพรรคการเมือง และเป็นประโยชน์เพื่อนักการเมืองทั้งสิ้น ไม่มีส่วนใดเพื่อประโยชน์ประชาชน และเห็นว่า จะสร้างความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น
3. ข้อเสนอดังกล่าวมุ่งเน้นการแก้รัฐธรรมนูญอย่างรวบรัด แอบแฝงเจตนาการผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติไว้ในแผน แต่ไม่มีการจัดลำดับการสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงก่อน ฉะนั้นกลุ่ม 40 ส.ว.จึงขอคัดค้านการดำเนินการของคณะกรรมการฯ และจะสนับสนุนการสร้างสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน และจะระดมความเห็นของประชาชน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง โดยจะจัดสัมมนาเรื่อง การสมานฉันท์กับการแก้รัฐธรรมนูญ
"เรื่องนี้นายกฯต้องตระหนัก เพราะหากเดินหน้าตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอมาจะสร้างเรื่องนำไปสู่ความขัดแย้ง ประชาชนจะต่อต้าน หากยังยืนยันเดินหน้า ก็ลองดู เราจะร่วมกับประชาชนคัดค้านอย่างถึงที่สุด เพราะต้องจัดลำดับความสำคัญคือ ปฏิรูปก่อน แต่นี่จะมาแก้รัฐธรรมนูญก่อน แล้วพยายามอธิบายเหตุผลและเป็นการตัดตอนการตรวจสอบ เป็นการสมานฉันท์ผิดจุด วันนี้พรรคการเมืองกลายเป็นธุรกิจครอบครัว ห้างหุ้นส่วน ไม่เหลือศักดิ์ศรี จึงเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว" นายไพบูลย์ กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ที่มุ่งแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ไม่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ ท่านตอบได้หรือไม่ว่า ถ้าแก้แล้วจะไม่มีการโฟนอิน หรือถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ทั้งนี้ กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่ได้ต่อต้านเรื่องการปฏิรูปการเมืองที่นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องได้ประโยชน์ เช่น ตรวจสอบนักการเมืองได้มากขึ้น แต่ที่ทำกันอยู่ เช่น การเสนอแก้มาตรา 237 ตอบไม่ได้เลยว่าจะแก้ปัญหานักการเมืองซื้อเสียงเข้ามาถอนทุนได้อย่างไร และไม่มีการถามประชาชน ฉะนั้นขอให้ไปลองทำโพลดูก็ได้ หรือ มาตรา 265 และมาตรา266 ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับการสมานฉันท์อย่างไร อย่าลืมว่าที่คนออกมาบนท้องถนนในครั้งแรก มาจากความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รายงานดังกล่าว พูดไม่หมด เช่นไม่ยอมพูดถึงเหตุการณ์เสื้อแดงชุมนุมช่วงวันสงกรานต์ และการที่นักการเมืองขาดธรรมาภิบาล ตรวจสอบไม่ได้ในช่วงก่อนรัฐประหารปี 49
นอกจากนี้ ในรายงานมีการเสนอว่า ให้มีกฎหมายปรองดองในขั้นต่อไป นัยคือการยกโทษให้คนทำผิด ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ ทั้งหมดนี้ทำให้ตนเกรงว่า ยิ่งเดินหน้าคนจะลุกฮือ สมานฉันท์กับใครกันแน่ แถมบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญปีหน้า ปีหน้าเลือกตั้ง เป็นการรวบอำนาจหรือไม่ สรุปคือไม่เห็นหัวประชาชน เป็นเกมการเมืองในสภาเท่านั้น และพอแก้แล้วได้หนึ่งก็ต้องมีสอง สามตามมา และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่พวกที่ต้องการแก้ ยังไม่กล้าพูดถึง
น.ส.สุมล กล่าวว่า ในวันนี้ (16 ก.ค.) เวลา 13.00 น. ตนจะยื่นความเห็นคัดค้านของกลุ่ม 40 ส.ว.ให้นายกฯ ตอนที่มาฟังการรายงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งเชื่อว่า นายกฯ จะรับฟัง เพราะนายกฯบอกให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออก ไม่ได้รับปากว่าจะต้องทำตามที่คณะกรรมการฯเสนอ นอกจากนี้ จะขอหารือเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะ 6- 7 เดือน การเมืองยังไม่ถึงไหน มีแต่กู้เงินกับแบ่งเค้ก ซึ่งต้องยอมรับว่ากลุ่ม 40 ส.ว. มีส่วนช่วยให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มานั่งตำแหน่งนายกฯ จึงควรรับฟัง ส.ว.บ้าง
เมื่อถามว่า หากนายกฯ คัดค้านรายงานดังกล่าว จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลให้อยู่รอดหรือไม่ เพราะพรรคร่วมต่างต้องการให้แก้ไข น.ส.สุมล กล่าวว่า รัฐบาลอยู่รอดแน่นอน ไม่ต้องกลัว เนื่องจากมีแต่พรรคการเมืองที่อยากเกาะพรรคประชาธิปัตย์แน่น เพราะงบประมาณเยอะ
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่คณะกรรมการฯจะสรุปเสนอ และจะไปรับฟังรายละเอียดในวันนี้ (16 ก.ค.) คงเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการเมือง ส่วนชุดเหตุการณ์ช่วงสงกรานต์ ยังไม่อยู่ในขั้นสรุปอะไร ส่วนข้อเสนอนิรโทษกรรม และการปรองดองที่มาด้วยกันนั้น ยังไม่เห็น เพราะตนอ่านรายงานฉบับนี้แบบเร็วไปเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา
เมื่อถามว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่เสนอมาทำในลักษณะ ระยะสั้น กลาง ยาว และมีประเด็นออกมา แต่ยังไม่ได้เขียนถึงกระบวนการที่ชัดเจน เป็นการกำหนดประเด็นบางประเด็นที่เขาคิดว่า น่าจะเป็นประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน และมีการพูดถึงระยะยาว ที่จะมีการทำกลไกขึ้นมา เพื่อจัดทำทั้งฉบับ คือ แยกออกเป็นสองส่วน แต่ยังไม่ชัดเจน
ส่วนที่บางฝ่ายมองว่า ผลการดำเนินการของคณะกรรมการชุดนี้ จะมีการยัดไส้เพื่อเอื้อให้กับนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีเรื่องยัดไส้ เพราะรายงานนี้ต้องผ่านมติที่ประชุมของกรรมการฯ บางเรื่องใช้คำว่า เสียงส่วนใหญ่ “เห็นว่า” คือ ไม่มีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ และไม่มีทางที่จะได้เสียงเห็นด้วยกัน 100เปอร์เซ็นต์ แต่ควรจะหากระบวนการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ส่วนจะหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องนี้หรือไม่นั้น ขอไปรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการฯ ก่อนว่า จะต้องการให้ทำในรูปแบบใด
เมื่อถามว่า ประเด็นนิรโทษกรรม จะทำหรือไม่ ในฐานะที่เป็นนายกฯ นายอภิสิทธิ์ นิ่งเงียบไปพักหนึ่งก่อนกล่าวว่า เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นอย่าง เสียงส่วนน้อยมีความเห็นอีกอย่าง การแก้รัฐธรรมนูญ เสียงส่วนใหญ่ก็ว่าอย่าง เสียงส่วนน้อย ซึ่งเป็นฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ก็ว่าอีกอย่าง แต่ตนจะถามในวันนี้ว่ากระบวนการที่ยังเห็นไม่ตรงกัน จะเดินต่ออย่างไร
เมื่อถามว่า ตัวนายกฯ อยู่เสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อย ในเรื่องนิรโทษกรรม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนพูดชัดเจนไปแล้วว่า หากเป็นเรื่องของคดีอาญา ตนไม่เห็นด้วย ถ้าเป็นเรื่องของการเมือง ก็ต้องมาพิจารณาดู เมื่อถามอีกว่า สุดท้ายจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งอีกรอบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเราอยากจะก้าวพ้นสังคมที่อยู่ในความขัดแย้งรุนแรงอย่างที่ผ่านมา สังคมต้องเรียนรู้ที่จะมีวิธีการที่จะได้ข้อยุติในประเด็นที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยไม่ใช้ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดที่คณะกรรมการฯ ต้องเสนอแนะมาว่า กระบวนการที่จะเดินต่อในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร
เมื่อถามว่าส.ว.บางส่วนที่คัดค้านกรณีที่คนเสื้อแดง ล่ารายชื่อประชาชนหนึ่งล้านคน เพื่อถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และขอให้นายกฯมารับฟังด้วย เพราะส.ว.กลุ่มนี้มองว่ารัฐบาลนิ่งเฉย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าไม่ได้นิ่ง ที่ผ่านมาก็ติดตามเรื่องนี้มาตลอด และวันนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม จะชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น