กลุ่ม 40 ส.ว.ประสานมือต้านข้อสรุปกรรมการสมานฉันท์ มุ่งแก้รัฐธรรมนูญเสนอนิรโทษกรรมการบริหารพรรค ซัดนักการเมืองหวังทำเพื่อตัวเอง ไม่เชื่อสมานฉันท์ได้จริง ชี้ชนวนสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ ขณะที่ “สุมล” เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ พรุ่งนี้ ทวงบุญคุณ “มาร์ค” เป็นนายกฯ เพราะ 40 ส.ว. ด้าน “ไพบูลย์” ขู่หากเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้เห็นดีกันแน่
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.30 น. กลุ่ม 40 ส.ว.นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ร่วมกันแถลงคัดค้านผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า รายงานผลการศึกษาดังกล่าว กลุ่ม 40 ส.ว.เห็นว่ามีปัญหา ได้แก่ 1.ที่มาของคณะกรรมการ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพราะเสียงส่วนใหญ่มาจากนักการเมือง 2.ข้อเสนอทั้งหลาย โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น มาจากมุมมองพรรคการเมือง และเป็นประโยชน์เพื่อนักการเมืองทั้งสิ้น ไม่มีส่วนใดเพื่อประโยชน์ประชาชน และเห็นว่าจะสร้างความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น
3.ข้อเสนอดังกล่าว มุ่งเน้นการแก้รัฐธรรมนูญอย่างรวบรัด แอบแฝงเจตนาการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติไว้ในแผน แต่ไม่มีการจัดลำดับการสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงก่อน ฉะนั้น กลุ่ม 40 ส.ว.จึงขอคัดค้านการดำเนินการของคณะกรรมการฯ และจะสนับสนุนการสร้างสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน และจะระดมความเห็นของประชาชนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง โดยจะจัดสัมมนาเรื่องการสมานฉันท์กับการแก้รัฐธรรมนูญ
“นายกฯ ต้องตระหนัก เพราะหากเดินหน้าตามที่คณะกรรมการฯ เสนอมา จะสร้างเรื่องไปสู่ความขัดแย้ง ประชาชนจะต่อต้าน หากยังยืนยันเดินหน้าก็ลองดู เราจะร่วมกับประชาชนคัดค้านอย่างถึงที่สุด เพราะต้องจัดลำดับความสำคัญ คือ ปฏิรูปก่อน แต่นี่จะมาแก้รัฐธรรมนูญก่อนแล้วพยายามอธิบายเหตุผล และเป็นการตัดตอนการตรวจสอบ เป็นการสมานฉันท์ผิดจุด วันนี้พรรคการเมืองกลายเป็นธุรกิจครอบครัว ห้างหุ้นส่วน ไม่เหลือศักดิ์ศรี จึงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว” นายไพบูลย์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.รสนา กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการฯที่มุ่งแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ไม่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ ตอบได้หรือไม่ว่า ถ้าแก้แล้วจะไม่มีการโฟนอิน หรือถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ทั้งนี้ กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่ได้ต่อต้านเรื่องการปฏิรูปการเมืองที่นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องได้ประโยชน์ เช่น ตรวจสอบนักการเมืองได้มากขึ้น แต่ที่ทำกันอยู่ เช่น การเสนอแก้มาตรา 237 ตอบไม่ได้เลยว่าจะแก้ปัญหานักการเมืองซื้อเสียงเข้ามาถอนทุนได้อย่างไร และไม่มีการถามประชาชน ฉะนั้น ขอให้ไปลองทำโพลดูก็ได้ หรือมาตรา 265 และมาตรา 266 ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับการสมานฉันท์อย่างไร อย่าลืมว่าที่คนออกมาบนท้องถนนในครั้งแรกมาจากความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวพูดไม่หมด เช่น ไม่ยอมพูดถึงเหตุการณ์เสื้อแดงชุมนุมช่วงวันสงกรานต์ และการที่นักการเมืองขาดธรรมาภิบาล ตรวจสอบไม่ได้ในช่วงก่อนรัฐประหาร 49
น.ส.รสนา กล่าวว่า นอกจากนี้ ในรายงานมีการเสนอว่าให้มีกฎหมายปรองดองในขั้นต่อไป นัยคือ การยกโทษให้คนทำผิด ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐ ทำให้ทั้งหมดตนเกรงว่ายิ่งเดินหน้าคนจะลุกฮือ สมานฉันท์กับใครกันแน่ แถมบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญปีหน้า ปีหน้าเลือกตั้ง เป็นการรวบอำนาจหรือไม่ สรุปคือ ไม่เห็นหัวประชาชน เป็นเกมการเมืองในสภาเท่านั้น และพอแก้แล้ว ได้หนึ่งก็ต้องมีสอง-สามตามมา และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่พวกที่ต้องการแก้ยังไม่กล้าพูดถึง
น.ส.สุมล กล่าวว่า ในวันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 13.00 น. ตนจะยื่นความเห็นคัดค้านของกลุ่ม 40 ส.ว.ให้นายกฯ ตอนที่มาฟังการรายงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งเชื่อว่า นายกฯ จะรับฟัง เพราะ นายกฯบอกให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออก ไม่ได้รับปากว่า จะต้องทำตามที่คณะกรรมการฯเสนอ นอกจากนี้ จะขอหารือเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะ 6- 7 เดือน การเมืองยังไม่ถึงไหน มีแต่กู้เงินกับแบ่งเค้ก ซึ่งต้องยอมรับว่า กลุ่ม 40 ส.ว.มีส่วนช่วยให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มานั่งตำแหน่งนายกฯ จึงควรรับฟัง ส.ว.บ้าง
เมื่อถามว่า หากนายกฯ คัดค้านรายงานดังกล่าวจะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลให้อยู่รอดหรือไม่ เพราะพรรคร่วมต่างต้องการให้แก้ น.ส.สุมล กล่าวว่า รัฐบาลอยู่รอดแน่นอน ไม่ต้องกลัว เนื่องจากมีแต่พรรคการเมืองที่อยากเกาะพรรคประชาธิปัตย์แน่น เพราะงบประมาณเยอะ