xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯฟันธงบอนด์รัฐไม่ดูดเงินหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – โบรกเกอร์มั่นใจพันธบัตรไทยเข้มแข็งของรัฐบาลไม่มีผลต่อตลาดหุ้นมากนัก เชื่อเม็ดเงินไหลออกแค่เล็กน้อย เหตุเป็นผู้ลงทุนคนละกลุ่ม และส่วนมากต้องการผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาที่ไม่นาน แต่คาดเม็ดเงินฝากแบงก์วูบ! แทน ชี้ช่วงนี้ตลาดซบเซา –มูลค่าซื้อขายน้อย เพราะรับรู้ข่าวไตรมาส3แย่ อีกทั้งตลาดหุ้นต่างประเทศผันผวน จนคนเล่นต้องถือเงินสด เพื่อรอจังหวะ ล่าสุดวานนี้ร่วงลงอีก3 จุด ตามภูมิภาค

นายธวัชชัย อัศวพรไชย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบมีอยู่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่สูง ดังนั้นการที่รัฐบาลออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง (บอนด์) เพื่อต้องการนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้สภาพคล่องหายไปบางส่วน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่มีผลต่อเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะนักลงทุนส่วนดังกล่าวเป็นคนละกลุ่มกัน

“ปกติส่วนใหญ่ผู้ที่ซื้อบอนด์จะเป็นกลุ่มของนักลงทุนที่ต้องการความมั่นคงและผลตอบแทนระยะยาว ส่วนผู้ที่ซื้อขายหลักทรัพย์ไทยมักจะต้องการผลตอบแทนค่อนข้างสูงจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นและสามารถรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นจึงมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะดูดเงินจากตลาดหุ้นไทยมากนัก”

เช่นเดียวกับ นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บล.เคที ซิมิโก้ จำกัด กล่าวถึงบรรยากาศการซื้อพันธบัตรของประชาชน รวมถึงเรื่องที่กองทุนฟื้นฟูและภาคเอกชนอีกหลายแห่งเตรียมจะออกตามว่า อาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯบ้างเล็กน้อย เพราะภาพรวมตลาดหุ้นไทยปัจจุบันถือว่าไม่ดี จึงคาดว่าจะมีนักลงทุนบางส่วนหันไปลงทุนประเภท แต่ก็คงไม่มากนัก เพราะการลงทุนแบบดังกล่าวจำเป็นต้องลงทุนระยะยาว ซึ่งต่างจากการซื้อขายหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนระยะสั้นจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นได้ รวมทั้ง ประเมินว่านักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ในปัจจุบันอยู่ระหว่างรอดูราคาหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีปรับตัวต่ำลง เพื่อรอโอกาสทยอยเก็บหุ้นราคาถูกเข้าพอร์ตของตนเอง

รวมถึง นายอภิสิทธิ์ ลิมศุภนาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายหลักทรัพย์ บล. บีฟิท จำกัด (มหาชน) หรือ BSEC กล่าวให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลจะได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมาก แต่ก็มองว่าคงไม่น่าส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์มากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนดังกล่าวจะเป็นกลุ่มของผู้ฝากเงินกับธนาคารพณิชย์ที่โยกเงินมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลหลังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ

นักวิเคราะห์รายหนึ่ง กล่าวว่า ว่า แม้วานนี้(13ก.ค.)จะเป็นวันแรกของการเปิดขายพันธบัตร โดยผู้สูงอายุได้ใช้สิทธิ์ก่อนและมีดีมานด์ที่สูงจนทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องเพิ่มสัดส่วนวงเงินจากเดิม 1.5 หมื่นล้านเป็น 3 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างที่หลายฝ่ายกังวลแน่นอน เนื่องจาก ผู้ซื้อพันธบัตรส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนคนละกลุ่มกับผู้ลงทุนในตลาดหุ้น หรือแม้ว่าจะมีผู้ลงทุนจากตลาดหุ้นปรับลดพอร์ตการลงทุนโดยโยกสินทรัพย์ไปเป็นพันธบัตรของรัฐบาลแทน แต่ก็จะเป็นเพียงเม็ดเงินส่วนหนึ่งของพอร์ตลงทุนเท่านั้น ซึ่งหายากมากหาจะมีนักลงทุนสักรายที่ขายหุ้นออกจากพอร์ตจนหมด และนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรใหม่นี้เพียงอย่างเดียว อีกทั้งที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของดัชนีหลักทรัพย์ไทยล้วนมีการเปลี่ยนแปลงตามตลาดหุ้นอื่นๆในต่างประเทศมากกว่า

โดย ผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลในครั้งนี้ ส่วนมากน่าจะมากจากเงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารพาริชย์ เนื่องอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงหันมาลงทุนผ่านพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น และมีความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตามการลงทุนในลักษณะนี้ต้องใช้ระยะเวลานาน ต่างจากผู้ลงทุนในหุ้นที่จะยอมรับความเสี่ยง จากการลงทุนที่สูงได้ เพราะต้องการผลตอบแทนกลับคืนในระดับสูง โดยใช้ระยะเวลาไม่มาก และหากดัชนีหุ้นมีการฟื้นตัวดีขึ้น ก็อาจสูญเสียโอกาสไปได้เช่นกัน ถ้าเงินส่วนหนึ่งมาติดอยู่ในพันธบัตรระยะยาว

“คนไทยส่วนมากยังไม่ชื่นชอบ หรือยังไม่รู้จักการลงทุนในหุ้นดี ทุกวันนี้ผู้ลงทุนในหุ้นก็เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากหากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ หากจะถามว่าแล้วเม็ดเงินจากส่วนไหนที่หายไปเพราะพันธบัตรรัฐ ก็ต้องบอกว่าน่าจะเป็นเงินที่ฝากออมไว้กับธนาคารต่างๆมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก”

ส่วนกรณีที่ในอนาคตอันใกล้ จะเริ่มพันธบัตรอื่นๆ เช่นของกองทุนฟื้นฟูฯออกมาขายอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และบอนด์เอกชนอีกหลายราย มูลค่ารวมหลายหมื่นล้านบาทออกมาเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีของนักลงทุนในด้านช่องทางในการลงทุน แต่ก็ควรพิจารณาถึงผลตอบแทน กับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการลงทุนด้วย นอกจากนี้ เชื่อว่านักลงทุนได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการออกขายพันธบัตร ตราสารหนี้ หุ้นกู้ ของภาครัฐและเอกชนมามากแล้ว ทำให้สามารถทำความเข้าใจกับเรื่องดังกล่าวได้ดี ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก เพียงแต่ช่วงนี้ที่เม็ดเงินการซื้อขายหุ้นลดน้อยลง เพราะทุกคนรับรู้ข่าวว่าตลาดหุ้นไทยในไตรมาส3/52 นี้ไม่ดีเท่าไร จึงมีการชะลอการลงทุนไปบ้างเพื่อดูความคืบหน้า หรือความชัดเจนในเรื่องต่างๆ ที่เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามเท่านั้น

หุ้นวานนี้ลดลง3.48จุดตามภูมิภาค

ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (13ก.ค.) ปิดที่ 562.55 จุด ลดลง 3.48 จุด หรือ -0.61% มูลค่าการซื้อขาย 10,564 ล้านบาท โดยนายถนอมศักดิ์ สหรัตนชัย ผู้บังคับบัญชา สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พัฒนสิน กล่าวว่า เป็นการปรับตัวลงตามภูมิภาค ซึ่งวอลุ่มซื้อขายที่บางมากนั้น เพราะคนส่วนใหญ่จะ wait and see ว่าจะหลุด 561 จุดหรือไม่หลุด และรอผล Earnings Results ของไตรมาส 2/52 และกลุ่มที่ช่วยหนุนดัชนีวานนี้น่าจะเป็นหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มมีรีบาวน์บ้างแล้ว

ขณะที่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายหลักทรัพย์ บล. บีฟิท ให้ความเห็นว่า วานนี้ดัชนีค่อนข้างซบเซา สอดคล้องกับตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นผลจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะตัวเลขอัตราการว่างสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ รวมถึงราคาน้ำมัน โลกร่วงลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่าระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐ

“แนวโน้มดัชนีหุ้นไทยวันนี้น่าจะยังซึมๆ แต่นักลงทุนควรติดตามการตัดสินของคณะกรรมการการเลือกตั้งในประเด็นการถือครองหุ้นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (ส.ส.) ว่าขัดต่อกฏหมายรัฐธรรมนูญจนอาจต้องพ้นสภาพจากความเป็นการเป็น ส.ส หรือรัฐมนตรีหรือไม่ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ส่วนกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ควรชะลอการลงทุนเพื่อถือเงินสดไว้ในมือ โดยให้กรอบแนวรับที่ 550 จุด และแนวต้านที่ 565-570 จุด”
กำลังโหลดความคิดเห็น