ชัยภูมิ - ชาวบ้านบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ โวยซากพันล้านเหมืองแร่โปแตชอาเซียนปล่อยบ่อน้ำเกลือทะลักเข้าไร่ นาข้าวสร้างความเสียหายหนักกลายเป็นทุ่งดินเค็มไม่ได้ผลผลิตและไร้ผู้รับผิดชอบ เผยปัจจุบันตกอยู่ในสภาพเหมืองร้าง กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บเครื่องจักร อุปกรณ์ทำเหมืองแร่ใต้ดินถูกตัดขาดน้ำ-ไฟฟ้ามานาน แฉมีกลุ่มคนเข้ากว้านซื้อที่ดินรอบโครงการเหมืองโปแตชแล้วหลายทอดปั่นราคาไร่ละ 3-4 พันพุ่งเป็นไร่ละ 4-5 หมื่นแล้ว
หลังจากรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะรื้อฟื้นโครงการโปแตชอาเซียน ที่อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิขึ้นมาอีกครั้ง
โดยจะให้กระทรวงการคลังเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ APMC ตามสัดส่วน 20 % วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ทั้งที่โครงการดำเนินการมานานกว่า 30 ปี ใช้เงินไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท แต่ยังไม่ได้ผลผลิตแร่โปแตชขึ้นมาใช้ประโยชน์แม้แต่ก้อนเดียว อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนเรื่องใบประทานบัตรเหมืองแร่ และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่อย่างใด
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตั้งของโครงการ พบว่า เหมืองแร่โปแตชของอาเซียน ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ ขณะนี้ อยู่ในสภาพไม่ต่างจากเหมืองร้าง กลายเป็นพิพิธภัณฑ์รกร้างเก็บเครื่องจักรอุปกรณ์การทำเหมืองแร่ใต้ดินไปแล้ว ส่วนประตูทางเข้า-ออกเหมืองแร่ได้ปิดไว้อย่างหนาแน่นโดยนำโซ่เหล็กมาคล้องล็อกด้วยกุญแจที่ขึ้นสนิมเขรอะ
บริเวณโดยรอบในเหมือง นอกจากมีอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวตั้งอยู่ไม่กี่หลังและปากอุโมงค์ใต้ดิน 1 อุโมงค์แล้ว ก็มีเพียงเครื่องจักรสภาพชำรุดทรุดโทรม และรถยนต์เก่าจอดอยู่ 2-3 คัน ขณะที่ยามรักษาความปลอดภัยเองก็ไม่ได้มาเข้าเวรเฝ้าดูแลอยู่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง เพราะระบบน้ำประปา ไฟฟ้า ที่นี่ถูกตัดขาดมานานแล้ว
นายสมาน มั่งกลาง อายุ 60 ปี เกษตรกรชาวนา บ้านโคกเพชร หมู่ 8 ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้านแถบนี้ยังไม่ทราบว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณแผ่นดินมาเพิ่มทุนเพื่อเปิดเหมืองแร่โปแตชแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ หลังจากได้ปิดทิ้งร้างมานาน ซึ่งเท่าที่จำได้เมื่อประมาณต้นปีที่แล้วมีเจ้าหน้าที่จังหวัดชัยภูมิ และเจ้าหน้าที่บริษัทเหมืองแร่โปแตช เรียกประชุมชาวบ้าน เรื่องเหมืองแร่แห่งนี้ในพื้นที่ 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.บ้านตาล ต.หัวทะเล และ ต.บ้านเพชร
การประชุมครั้งนั้น ชาวบ้านหลายคนเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องให้บริษัทแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเกลือที่รั่วไหลออกมาจากเหมืองแร่ โดยเฉพาะเวลาฝนตกหนักมีน้ำพัดแรง น้ำจืดจะพัดพาดันเอาน้ำเกลือเข้ามาในพื้นที่ไร่ นาข้าวของชาวบ้านได้รับความเสียหาย กลายเป็นทุ่งขึ้นเกลือเต็มไปหมด ทำให้ปลูกข้าวไม่ค่อยได้ผลผลิต หลายคนไร่นากลายเป็นดินเค็มเสียหายทั้งหมด โดยที่ไม่มีใครรับผิดชอบ
อีกเรื่องคือการจ้างงานในท้องถิ่น หากจะเปิดทำเหมืองแร่โปแตชอย่างจริงจัง ประชาชนต้องการให้ลูกหลานของชาวบ้านในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในบริษัทเหมืองแร่บ้าง เพราะที่ผ่านมาเห็นรับแต่คนนอกพื้นที่ และควรแบ่งปันผลประกอบการส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ในฐานะเจ้าของทรัพยากรและผู้รับผลกระทบโดยตรงด้วย
นายสมาน กล่าวต่อว่า ส่วนตนและครอบครัวมีที่ดินอยู่ใกล้เหมืองแร่โปแตช แห่งนี้เพียง 3-4 ไร่ ซึ่งช่วงแรกประมาณปี 2522-23 ได้มีคนมาติดต่อขอซื้อ ไร่ละ 3,000-4,000 บาท ชาวบ้านก็พากันขาย ต่อมาไม่นานก็มีคนจากกรมทรัพยากรธรณีมาเจาะสำรวจแร่ และเมื่อไม่นานมานี้ทราบว่ามีคนมากว้านซื้อที่ดินต่ออีกทอดหนึ่งไร่ละ 40,000-50,000 บาท แต่ตนไม่ขาย เพราะไม่คุ้มค่าและไม่รู้ว่าจะไปหาซื้อดินที่ไหนมาทำกินเลี้ยงครอบครัวต่อไป เนื่องจากที่ดินแถบนี้มีคนมากว้านซื้อกันไปเกือบหมดแล้วและปรับราคาขึ้นแพงกว่าเดิม เช่น แปลงที่ดินใกล้กับที่นาของตนนี้ มีคนจากโคราชมาซื้อไว้แล้ว ซึ่งตนก็อาศัยเช่าที่ดินเขาทำนาเพิ่มด้วย
“หากบริษัทจะกลับมาฟื้นเหมืองแร่โปแตช อยากถามว่าจะป้องกันปัญหาผลกระทบน้ำเค็มดินเค็มอย่างไรเพราะที่ผ่านมากว่า 30 ปี เห็นเจาะเอาแร่เกลือขึ้นมาแล้ว ก็ไม่เห็นนำไปผลิตปุ๋ยหรือขาย เห็นแต่เอาไปถมทิ้งไว้ในบ่อจนกลายเป็นบ่อน้ำเกลือ 2-3 บ่อ แล้ว ผ้ายางหรือแผ่นพลาสติกที่จะปูรองก้นบ่อก็ไม่มี น้ำจึงซึมรั่วไหลเข้าที่ดินไร่นาชาวบ้าน ทำให้เป็นดินเค็มเต็มไปหมด ซึ่งช่วงแรกบริษัทก็บอกว่า ไม่มีทุนทำต่อเพราะไม่มีใครมาลงทุนร่วม จึงสงสัยว่าถ้ารัฐบาลให้เงินมาเปิดเหมืองใหม่อีก แล้วจะหาใครที่ไหนมาร่วมลงทุน” นายสมาน กล่าว