xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์จีนยึดเมืองฮุบSCIBควบACL

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แค่สินเอเซียไม่พอ "ไอซีบีซี" แบงก์ใหญ่ที่สุดในโลกจากจีน อยากได้นครหลวงไทยด้วย หากทางสะดวกจะจับควบรวม 2 แบงก์ยึดหัวหาดแข่งแบงก์ไทยเต็มรูปแบบ คลังชี้มีโอกาสสูงหากไอซีบีซีใจถึงสู้ราคาหุ้น SCIB พร้อมเงื่อนไขเป็นประโยชน์ต่อระบบแบงก์และเศรษฐกิจไทย เผยแผนเดิม SCIB ถูกจองโดยกลุ่มธนชาตที่ดอดเก็บหุ้นไปแล้ว 20% ไล่ซื้อตั้งแต่ราคาหุ้นละ 7 บาท ล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ 17 บาท ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ยอมรับมีนักลงทุนแสดงความสนใจเพิ่มเติมจริง

กรณีที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายขายหุ้นธนาคารสินเอเซีย (ACL) กับธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ให้เอกชน แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าว่า แผนการขาย ACL ให้อินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียลแบงก์ ออฟ ไชน่า หรือไอซีบีซี จากจีนไม่มีพลิกโผ เหลือเพียงขั้นตอนการจัดการด้านระเบียบปฏิบัติในการขอซื้อหุ้นเกินเพดานระหว่าง ธปท.กับผู้บริหารไอซีบีซี แต่ล่าสุดทางไอซีบีซียื่นเจตจำนงขอซื้อหุ้น SCIB ด้วย หากสำเร็จจะนำไปควบรวมกับ ACL
"ผู้บริหารไอซีบีซีทราบภายหลังว่าทางการไทยจะขายนครหลวงไทยด้วย อีกอย่างสินเอเซียเป็นแบงก์ขนาดเล็ก หากไอซีบีซีได้ทั้งสองแบงก์ก็จะนำมาควบรวมกัน เป็นการสานฝันการรุกธุรกิจธนาคารของไอซีบีซีอย่างจริงจัง และถือเป็นแบงก์จีนเต็มรูปแบบรายแรกในไทย ส่วนก่อนหน้านี้มีแบงก์จีนรายอื่นเป็นเพียงสาขาเท่านั้น"
ณ พ.ค. 52 ธนาคารสินเอเซียมีสินทรัพย์เพียง 62,400 ล้านบาท อยู่อันดับที่ 14 ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ส่วนนครหลวงไทยมีสินทรัพย์ 411,650 ล้านบาท อยู่อันดับ 7
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่า การขาย SCIB ให้ไอซีบีซีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกลุ่มธนชาตให้ความสนใจซื้อมาก่อนระยะหนึ่ง โดยมีการเจรจานอกรอบ แต่หากพิจารณาองค์ประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะถ้าไอซีบีซีสู้ราคาหรือมีเงื่อนไขที่ดี กระทรวงการคลังพร้อมเปิดให้มีการแข่งประมูลบนหลักการที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ระบุว่าต้องเป็นประโยชน์ต่อระบบธนาคารพาณิชย์และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
ทั้งนี้ กลุ่มธนชาตอาจจะเลือกที่จะขายหุ้นในมือที่ดอดซื้อไปแล้วประมาณ 20% ให้กับไอซีบีซีในราคาที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ ซึ่งน่าจะทำกำไรให้กลุ่มธนชาตมากพอสมควร เนื่องจากราคาหุ้น SCIB ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา หากไอซีบีซีสนใจซื้อ SCIB อย่างชัดเจนอาจส่งผลบวกต่อหุ้นตัวนี้ได้อีก
"ส่วนหนึ่งเกิดจากการไล่ซื้อของนักเก็งกำไรทั่วไป แต่ปัจจัยหลักน่าจะเกิดจากมีนักลงทุนรายใหญ่ไล่เก็บหุ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ราคาหุ้นละ 7 บาท จนปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 17 บาท" แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกต
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ SCIB ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ 5 ก.ค. 52 พบว่า กลุ่มธนาชาตถือหุ้น SCIB รวม 196,875,600 หุ้น หรือคิดเป็น 9.32% ประกอบด้วย บริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) จำนวน 104,964,000 หุ้น หรือ 4.97% , บริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด 64,657,700 ล้านหุ้น หรือ 3.06% และ บมจ. เอ็ม บี เค (MBK) จำนวน 27,253,900 ล้านหุ้น หรือ 1.29%

***หุ้น SCIB 3 เดือนราคาพุ่ง 127%
สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้น SCIB พบว่า วานนี้ (9 ก.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ 16.80 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ 1.18% มูลค่าการซื้อขาย 748.65 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ที่ปิดอยู่ระดับ 7.40 บาท จะพบว่าราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ในลักษณะทยอยปรับตัวเพิ่มสะสม หรือคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.40 บาท หรือคิดเป็น 127.02% โดยมีจุดต่ำสุดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 9ก.ค. อยู่ที่ 7.35 บาท (1 เม.ย.) และสูงสุดที่ระดับ 17.60 บาท (26 มิ.ย.)
ขณะที่หุ้น ACL วานนี้ปิดที่ระดับ 6.85 บาท ลดลง 0.15 บาท หรือ 2.14% มูลค่าการซื้อขาย 634.33 ล้านบาท โดยเมื่อเปรีบเทียบกับวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งปิดในระดับ 2.02 บาท จะพบว่าราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า หรือคิดเป็นการเปลี่ยนแปลง +4.83 บาท หรือ 239.10% โดยระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นACL มีจุดต่ำสุดที่ระดับ 1.96 บาท (1 เม.ย.) และสูงสุดที่ 7.15 บาท (9 ก.ค.)

**ธปท.ยอมรับมีแบงก์สนใจซื้อ SCIB
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ธปท. และในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ยอมรับว่า มีความความคืบหน้าในการพิจารณาขายหุ้นของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นอยู่ 47.58% โดยขณะนี้มีนักลงทุนรายใหม่สนใจเพิ่มเติม แต่กองทุนฟื้นฟูฯ ยังไม่ได้พูดคุยกับรายใดรายหนึ่งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทำแผนเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ที่จะประชุมในเดือน ก.ค.นี้ ทั้งนี้ นักลงทุนรายใหญ่ยังสนใจสอบถามถึงหุ้นกองทุนฟื้นฟูในธนาคารกรุงไทยจำนวน 55.31% อีกด้วย

***เปิดฐานะแบงก์ยักษ์ "ไอซีบีซี"
ไอซีบีซี หรือ ธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 โดยในแวดวงการธนาคารจีน ไอซีบีซีถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “บิ๊กโฟร์” ของแวดวงธนาคารจีน อันประกอบไปด้วย ไอซีบีซี ธนาคารแห่งประเทศจีน ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน และ ธนาคารเพื่อการก่อสร้างแห่งประเทศจีน
ไอซีบีซีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ พร้อมกันเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 และกลายเป็นหุ้นที่ทำสถิติ IPO สูงที่สุดในโลกถึงปัจจุบัน โดยสามารถระดมทุนได้มากถึง 19,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปี 2551 ธนาคารแห่งนี้มีสินทรัพย์ราว 9.8 ล้านล้านหยวน (ราว 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสาขาทั้งในและนอกประเทศรวม 18,000 สาขา โดยนอกจากประเทศจีนแล้วยังมีสาขาครอบคลุม 106 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ไอซีบีซีได้กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้า ซิตีกรุ๊ป ในแง่ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) โดยมีมาร์เก็ตแค็ปสูงถึง 254,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ.
กำลังโหลดความคิดเห็น