xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูฯรอบอร์ดเคาะราคาขายสคิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนฟื้นฟูเสนอแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เหลืออยู่ รวมถึงการขายหุ้นนครหลวงไทย ก่อนปิดตัวในปี 56 ระบุขั้นตอนต้องให้บอร์ดกองทุนกำหนดราคาขายขั้นต่ำ เสนอต่อกระทรวงการคลังแล้วจึงจัดจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน คาดปลายเดือนก.ค.นี้สรุปเสนอบอร์ดก่อนส่งคลังตัดสินชี้ขาดต่อไป และหากในปี 56 มีทรัพย์เหลืออยู่ต้องโอนให้คลังจัดการ ด้าน"โฆสิต"ยันกรณีขายหุ้นสินเอเซียให้ ICBC ต้องรอการตัดสินจากคลัง เหตุผู้ซื้อต้องการถือหุ้นใหญ่

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯครั้งที่ผ่านมา คณะกรรมการได้สั่งให้กองทุนฟื้นฟูฯกลับไปดำเนินการเพิ่มเติมถึงแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน รวมถึงหุ้นของสถาบันการเงินที่กองทุนฟื้นฟูฯถืออยู่ด้วย ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯต้องมีหลากหลายทางเลือกในการจัดการทรัพย์สินเพื่อเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯในการประชุมครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือนก.ค.นี้

ทั้งนี้ ในส่วนของราคาขายหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยต้องให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯกำหนดราคาขายขั้นต่ำ ซึ่งหากได้ข้อสรุปแนวทางและรายละเอียดทุกอย่างแล้ว จึงจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป และหลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนในการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (เอฟเอ) ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ช่วยของกองทุนฟื้นฟูฯ

โดยผู้ที่ทำหน้าที่เอฟเอต้องต้องมีการเปิดประมูลขายหุ้น และส่งรายละเอียดไปให้แก่ผู้ที่สนใจหรือรายอื่นๆในเครือข่าย จึงจำเป็นที่การคัดเลือกเอฟเอจะต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน โปร่งใส และที่สำคัญต้องมีการเปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจเข้ามาจัดซื้อจัดจ้างด้วย

"แม้สุดท้ายหากมีการจัดจ้างเอฟเอขึ้น แต่ในอดีตเคยมีกรณีที่เอฟเอที่จ้างขึ้นมานั้นมีทั้งพิจารณาว่าขายหุ้นหรือไม่ขายหุ้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาความเหมาะสมและสถานการณ์ขณะนั้นเป็นสำคัญ ซึ่งในส่วนของธนาคารนครหลวงไทยอาจต้องใช้เวลานานกว่าในการดำเนินการขายหุ้นของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)ที่ผ่านมา เพราะนครหลวงไทยมีสินทรัพย์เป็นอันดับ 7ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้มีนักลงทุนสนใจหลายราย และในประเทศเหลือแค่ธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งที่เราถืออยู่"ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการปิดตัวตามพ.ร.บ.ธปท.ฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา 19 ระบุไว้ชัดเจนว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ต้องมีการปิดตัวในปี 2556 โดยหากในขณะนั้นยังมีทรัพย์สินเหลือของกองทุนฟื้นฟูฯเหลืออยู่ก็ต้องชำระบัญชีและโอนให้กระทรวงการคลังดูแล และกระทรวงการคลังหรือรัฐบาลที่เป็นผู้ดูแลนโยบายก็ต้องออกกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมารับหน้าที่แทนกองทุนฟื้นฟูฯที่ปิดตัวไป ซึ่งหน่วยงานใหม่นี้จะทำหน้าที่ดูแลสถาบันการเงินเมื่อเกิดปัญหา อาทิ เพิ่มทุนเมื่อสถาบันการเงินรายนั้นในยามที่จำเป็น เพราะส่วนนี้สถาบันประกันเงินฝากไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ในส่วนของรายได้ที่เก็บจากทรัพย์สินที่เหลืออยู่นั้นจะนำไปเก็บไว้ที่สถาบันประกันเงินฝากทั้งหมด

นางทองอุไรกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากมีพ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ขึ้นมา กองทุนฟื้นฟูฯได้มีการเสนอแผนการจัดการทรัพย์สินที่เหลืออยู่ไปแล้ว 3-4 รอบ ซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่การทำหน้าที่หรือขั้นตอนต่างๆ ก่อนจะปิดตัวกองทุนฟื้นฟูฯ หรือในช่วง 4 ปีที่เหลือนี้ทุกอย่างต้องมีความชัดเจน
อนึ่ง ปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง คือ ธนาคารนครหลวงไทยในสัดส่วน 47.58% หรือ 1,005 ล้านหุ้น และธนาคารกรุงไทย 55.31% หรือ 6,184 ล้านหุ้น

**SCIBดีดรับข่่าวTCAPซื้อ29บ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ได้มีข่าวลือในวงการว่า ทางคณะกรรมการของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีมติเลือก บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อประเมินราคาขายหุ้นของธนาคารนครหลวงไทย ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 47.58% โดยประเมินราคาขายให้ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ราคา 1.5 เท่าของมูลค่าทางบัญชี (Book Value) หรือประมาณ 29 บาท โดยคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 2 - 3 เดือนนี้

ทั้งนี้ จากข่าวที่ออกมาดังกล่าวได้ส่งผลให้ราคาหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยวานนี้ (29 มิ.ย.) มีการเคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกตลอดทั้งวัน โดยมีราคาเปิดตลาดช่วงเช้าอยู่ที่ 14.80 บาท และปิดตลาดที่ราคา 17.00 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.50 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 17.24% โดยราคาระหว่างวันได้ปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 17.60 บาท และราคาต่ำสุดระหว่างวันอยู่ที่ 14.80 บาท

**BBLยันรอคลังตัดสินขายหุ้นACL**
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎฺ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (ICBC) มีความสนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ ACL ว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนไหน แต่ทราบว่า ICBC ต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารสินเอเซียซึ่งธนาคารกรุงเทพไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของหุ้นดังกล่าว

"ตอนนี้เราคงต้องรอการเจรจา ที่มีการเจรจาทางกระทรวงการคลัง เพราะผู้ซื้อ อยากจะได้ ไม่ใช่เพียงของเรา แต่ผู้ซื้ออยากจะได้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คงต้องมีการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์" นายโฆสิตกล่าว

นายโฆสิต กล่าวว่า ในส่วนธนาคารกรุงเทพนั้นได้เจรจากับผู้สนใจซื้อหุ้นของธนาคารสินเอเซียจบไป แล้ว แต่ไม่สามารถขายหุ้นดังกล่าวได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุมัติจากทางรัฐบาล ซึ่ง เข้าใจว่าทางผู้ซื้อต้องการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จึงต้องขึ้นอยู่กับการเจรจากับ ทางรัฐบาลและกระทรวงการคลัง

ส่วนเรื่องราคาการซื้อขายหุ้น คงต้องเป็นการเจรจาระหว่างผู้ซื้อกับกระทรวง การคลังเช่นกัน เพราะการขายหุ้นในส่วนของธนาคารต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลก่อน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาติดปัญหาที่พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ฉบับเดิม อนุญาต ให้ต่างชาติถือหุ้นในสถาบันการเงินไทยได้เกิน 25% เฉพาะกรณีแก้ไขฐานะหรือฟื้นฟูกิจการ ขณะที่ธนาคารสินเอเซียมีต่างชาติถือหุ้นกว่า 20% แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น