xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนเตรียมแผนโละหุ้นแบงก์ ปัดทุนธนชาตดอดเจรจาซื้อสคิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กองทุนฟื้นฟูฯเตรียมเสนอบอร์ดถึงแนวทางบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่เหลืออยู่ รวมถึงการจัดการหุ้นแบงก์นครหลวงไทยและกรุงไทย พร้อมทั้งบสก.ที่ถืออยู่ภายในเดือนนี้ ก่อนปิดตัวในปี 56 และนำข้อสรุปที่ได้ชงให้รมว.คลังพิจารณาอีกขั้น ฟุ้งนักลงทุนหลายรายเข้ามาพูดคุยหุ้นนครหลวงไทย ปัดไม่มีชื่อทุนธนชาต

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย และในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟู) เปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เตรียมเสนอแนวทางการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินที่เหลืออยู่ในขณะนี้ ซึ่งรวมถึงหุ้นที่ถืออยู่ในธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) ธนาคารกรุงไทย(KTB) และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(บสก.) ให้แก่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ พิจารณาภายในเดือนนี้ และจะนำผลการพิจารณานี้ทำเป็นหนังสือ เพื่อเสนอให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นแผนที่จะยุติบทบาทการทำหน้าที่ของกองทุนฟื้นฟูฯภายใต้พ.ร.บ.ธปท.ที่ระบุไว้ว่ากองทุนฟื้นฟูฯจะต้องมีการชำระบัญชีภายในปี 2555 และจะต้องปิดตัวลงในปี 2556 ส่วนการขายหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยในขณะนี้ยอมรับว่านักลงทุนสนใจหลายรายเข้ามาพูดคุยกับกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ไม่ใช่บริษัท ทุนธนชาต จำกัด(มหาชน) หรือ(TCAP) อย่างไรก็ตาม กองทุนฟื้นฟูฯ ได้นำรายงานแนวทางการขายหุ้น 4 แนวทางของนครหลวงไทยให้แก่กระทรวงการคลังรับทราบในเบื้องต้นแล้วก่อนหน้านี้และจะนำประเด็นที่จะเสนอบอร์ดกองทุนฟื้นฯ เพิ่มเติมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อนักข่าวถามถึงธนาคารโนวาสโกเทีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารธนชาตแสดงความสนใจจะเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทยหรือไม่ แต่นางทองอุไรกลับปฏิเสธที่จะเปิดเผยผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า สำหรับงบการเงินล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ทางกองทุนฟื้นฟูฯ มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงมูลค่าหุ้นที่ถืออยู่ในสถาบันการเงินดังกล่าวด้วย ขณะที่หนี้สินจะมีพันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกไปเมื่อเดือนพ.ย.50 ที่กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอนภายในปีนี้ คือ พันธบัตรอายุ 2 ปี และ 4 ปี วงเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กองทุนฟื้นฟูฯยังมีรายรับจากกรมบังคับคดีนับตั้งแต่ปี 46 จนถึงปัจจุบันประมาณ 7 หมื่นล้านบาทสำหรับสินทรัพย์ของ 56 ไฟแนนซ์ และสินทรัพย์ที่เหลือจะทยอยดำเนินการฟ้องร้องต่อไป

"ขณะนี้กองทุนฟื้นฟูฯมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน ซึ่งหากต้องปิดกองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะต้องมีการชำระบัญชีทั้งหมด และต้องมีกฎหมายออกมารองรับ รวมไปถึงการโอนสินทรัพย์ไปให้แก่กระทรวงการคลังหรือไม่หรือไม่ก็ต้องจัดตั้งเป็นองค์กรใหม่ขึ้นมาภายใต้มาตรา 19 พ.ร.บ.ธปท.เพื่อบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่เหลือหลังจากปี 56 แล้ว"ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯกล่าว

สคิบพอใจสินเชื่อเอสเอ็มอีโต2-3%

ด้านนายสุทธิพงศ์ อิทธิพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานั้น มีการขยายตัวอยู่ที่ 2-3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นระดับที่น่าพอใจ หากเทียบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ทั้งนี้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ผ่านมาจะค่อนข้างมีความระมัดระวัง เนื่องจากความเสี่ยงมีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ทำให้การขยายตัวของสินเชื่อไม่ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงมากนัก

ส่วนเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ตั้งไว้ที่ 6% ซึ่งจะทำให้ฐานสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1.28 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะ เริ่มกลับมาดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในเขตภาคใต้และภาคตะวันออก

"ในส่วนของแบงก์เรานั้น การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีจะยังอยู่ในระดับที่ปกติ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่เหมาะที่จะเน้นปล่อยสินเชื่อให้มีการเติบโตมากๆ แต่จะเป็นการเข้าไปปรับปรุงสินเชื่อ
หรือเน้นการช่วยเหลือลูกค้าเก่ามากกว่า โดยดูว่าลูกค้ารายใดมีปัญหาบ้าง ธนาคารก็จะให้ความช่วยเหลือเป็นรายๆไป เพื่อประคองธุรกิจลูกค้าให้สามารถดำเนินต่อไปได้"

ส่วนลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาขอสินเชื่อกับธนาคารก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องมีการพิจารณาเป็นรายๆ ซึ่งจะต้องดูว่าลูกค้าดังกล่าวที่มาสินเชื่อมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจมากน้อยแค่ไหน เป็นผู้ประกอบการประเภทใด หากไม่มีความเสี่ยงธนาคารก็ยินดีปล่อยสินเชื่อให้

ทั้งนี้ในปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นธนาคารนครหลวงไทยในสัดส่วน 47.58% คิดเป็น 1.01 พันล้านหุ้น ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในอันดับแรก เช่นเดียวกับหุ้นของธนาคารกรุงไทยทั้งสิ้น 55.31% หรือคิดเป็น 6.18 พันล้านหุ้น ด้านบสก. 100% จำนวนหุ้น 547 ล้านหุ้น

บสก.หนุนขายหุ้นเพิ่มความหลากหลายธุรกิจ

ด้านนายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์(บสก.) กล่าวว่า บสก.เห็นด้วยกับแนวทางการขายหุ้นของบสก.ให้แก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งหากมีผู้ถือหุ้นที่หลากหลายทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือส่วนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องจะช่วยเสริมธุรกิจให้หลากหลายขึ้น ซึ่งการขายหุ้นของบสก.ก็เชื่อว่ากองทุนฟื้นฟูฯ รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม

"บสก.เข้าใจดีกับนโยบายกระทรวงการคลัง ธปท. รวมถึงกองทุนฟื้นฟูฯ แม้ตัวเราไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ แต่สามารถเอื้อนโยบายให้แก่ภาครัฐได้ในการบริหารจัดการหนี้สินในระบบ ซึ่งขณะนี้หนี้ด้อยคุณภาพมีเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเราเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปรับซื้อหรือโอนทรัพย์สินและหนี้สินบางส่วนของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.)ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องฟังนโยบายจากทางการด้วย"

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมาบสก.พยายามทำธุรกิจโดยพยายามยืนบนขาตัวเองไม่สร้างภาระให้แก่ภาครัฐ ขณะเดียวกันสร้างผลตอบแทนให้สมดุลทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า รวมทั้งทางสังคมต่างๆ ซึ่งล่าสุดเฉพาะกองทุนฟื้นฟูฯ ได้จ่ายปันผล 1.1 พันล้านบาท ประมาณ 50%ของกำไรสุทธิ หรือให้ผลตอบแทนประมาณ 7%ของเงินทุนที่มีอยู่ 13,675 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น