xs
xsm
sm
md
lg

หนุนโอนส่วนต่อขยายBTSให้กทม.ระบุต้องปลอดการเมือง-ลดงบ-รวดเร็ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – จัดสรร หนุนแนวคิดโอนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าให้กทม.ดำเนินการ ภายใต้เงื่อนไขลดงบ-ร่นระยะเวลาก่อสร้าง-ไม่ขัดแย้งทางการเมือง หวั่นความขัดแย้งการเมืองไม่เอื้อการถ่ายโอน เหตุพรรคการเมืองกลัวเสียฐานคะแนนเสียง แนะรัฐบาลขยายเวลาก่อสร้างเส้นทางทับซ้อนในเมือง เน้นเพิ่มส่วนต่อขยายเชื่อมต่อเส้นทางรอบนอกขนคนเข้าเมือง

แนวคิดการ แก้ไขมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี 43 กรณีลงทุนโครงการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว และส่วนต่อขยาย จากเดิมที่ให้เอกชนลงทุน 100% เปลี่ยนเป็นให้รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน เนื่องจาก เอกชนมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องหากให้ลงทุน 100% จะไม่มีเอกชนรายใดสนใจรับสัมปทาน โดยขณะนี้ มีเอกชนเพียงรายเดียวที่มีความพร้อมในการดำเนินการคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

นอกจากนี้ กทม. ยังต้องการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารที่ต่ำ แต่หากให้เอกชนดำเนินการเองจะไม่คุ้มทุนทำให้ต้องมีการปรับอัตราค่าโดยสารสูงขึ้น แต่หากเปิดช่องให้รัฐเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้โครงการเกิดง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 สาย ช่วง หมอชิต -สะพานใหม่ และ ช่วง แบริ่ง –สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ที่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ กทม.นำกลับไปดำเนินการเองนั้นเชื่อว่าจะสามารถลงทุนได้ทันที เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลไม่มีงบประมาณ หากลงทุนเองจะต้องมีภาระเกี่ยวกับเงินกู้

สำหรับส่วนต่อขยาย สายสีเขียว ที่กทม. ต้องดำเนินการต่อเนื่องคือ ส่วนต่อขยายบริเวณสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ไปถึงพรานนกใช้งบประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท และส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงวงเวียนใหญ่ -บางหว้า วงเงิน 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งกทม. มั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการโดยไม่ต้องเสียงบประมาณหรือกู้เงิน

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวเห็นด้วยกับแนวคิดการโอนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยายให้กทม.เป็นผู้รับผิดชอบว่า ปัญหาการก่อสร้างล่าช้าของรถไฟฟ้าที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งหากการโอนโครงการดังกล่าวมาให้ กทม.รับผิดชอบแล้วได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจะช่วยให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงานมากขึ้น

“แม้ว่าก่อนหน้านั้นการก่อสร้างส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-วงเวียนใหญ่ ซึ่งกทม.รับผิดชอบอยู่จะมีความล่าช้า แต่ก็มีความเป็นรูปธรรมมากกว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆ ซึ่งหากโอนมาให้กทม.ดูแลแล้วการก่อสร้างมีความรวดเร็วขึ้น สามารถลดงบประมาณการก่อสร้างได้ ก็เห็นด้วยว่าควรให้กทม.เข้ามาดูรับผิดชอบในส่วนของโครงการดังกล่าว”

สำหรับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้านั้น ในส่วนของเส้นทางที่จะลงทุนก่อสร้างในเมืองซึ่งมีเส้นทางทับซ้อนกันรัฐบาลก็ควรมีการทบทวนให้มีการการเลื่อนการก่อสร้างออกไป และเน้นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปชาญเมือง เนื่องจากเส้นทางที่เปิดให้บริการภายในเมืองขณะนี้ใช้งบการลงทุนสูง ส่วนมากรูปแบบการก่อสร้างจะก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงมีค่าเวนคืนที่ดินสูงตามไปด้วย ทำให้หาแหล่งเงินทุนยาก ในขณะที่เส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดใช้แล้วในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อเส้นทางที่รองรับคนจากชาญเมืองให้เดินทางเข้ามาในเมืองได้สะดวกขึ้น และใช้งบประมาณในการก่อสร้างต่ำกว่า

โดยเส้นทางที่ควรจะมีการยืดระยะเวลาออกไปก่อน เช่น ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ที่ใช้งบประมาณก่อสร้างสูง โดยเปลี่ยนไปก่อสร้างเส้นทางส่วนต่อขยาย วงเวียนใหญ่-บางแค แทน ซึ่งในปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อเส้นทางจากส่วนต่อขยายสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ สามารถขนคนเข้ามาเมืองได้และไม่ทับซ้อนกับส่วนต่อขยายบริเวณสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปถึงพรานนก

ส่วนการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายจตุจักร-สะพานใหม่ เองก็สามารถดำเนินการก่อสร้างได้โดยไม่ต้องรอให้มีการเชื่อมต่อกับสถานีใหญ่บางซื่อ โดยสามารถเชื่อมต่อเส้นทางสายสีเขียวช่วงจตุจักรได้ทันที แต่หากรอให้เกิดการก่อสร้างสถานีใหญ่ในบางซื่อแล้วค่อยก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวเพื่อเชื่อมต่อกันก็จะติดปัญหาการเชื่อมต่อสถานีเนื่องจากมีเจ้าของสัมปทานหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นคนละหน่วยงานกัน

แหล่งข่าวจาก กทม. สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการถ่ายโอนโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสาย สายสีเขียวให้กทม.รับผิดชอบดูแล ว่า ปัจจุบันแผนแม่บทการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของรัฐบาลในระยะเร่งด่วนที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดลำดับความสำคัญการก่อสร้างรถไฟฟ้าออกเป็น 3 ระยะใชเวลา 20 ปี (2553-2572) เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และโครงการรถไฟฟ้าที่บรรจุในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 โดยต้องศึกษารายละเอียดความชัดเจน เรื่องค่าก่อสร้าง การปรับลด แนวเส้นทางโดยเฉพาะส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก ที่อาจต้องปรับแนวเส้นทางใหม่ และจะต้องหารือร่วมกับ กทม. และ รฟม.

สำหรับการจัดลำดับความสำคัญ 10 สายหลัก แบ่งเป็น 3 ระยะ รวมระยะทาง 467 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างเบื้องต้น 8 แสนล้านบาท คือระยะ 5 ปีแรก เริ่มสร้างปี 2553 เปิดบริการปี 2557 มี 5 สาย ปัจจุบันที่พร้อมประมูลก่อสร้างคือ 1.สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ 23 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 56,599 ล้านบาท อยู่ระหว่างประกวดราคา เปิดใช้ปี 2557, 2.สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต 26 กิโลเมตร 77,563 ล้านบาท เตรียมการประกวดราคา เปิดใช้ปี 2556, ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 15 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง เปิดใช้ปี 2555,

3.สายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 12.6 กิโลเมตร 25,248 ล้านบาท, 4.สายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ 11.4 กิโลเมตร 32,052 ล้านบาท รฟม.เตรียมประกวดราคา เปิดบริการปี 2557, 5.สายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค 27 กิโลเมตร 79,904 ล้านบาท กำลังเจรจาเงินกู้ เปิดบริการช้าไปจากกรอบเป็น
ปี 2559 ส่วนระยะที่ 2 อีก 5 ปีต่อมา เริ่มปี 2558 เปิดบริการได้ปี 2562 ระยะที่ 3 ภายในเวลา 10 ปี (2563-2572) เป็นสายใหม่ที่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดและบริษัทที่ปรึกษาเสนอ

ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องใช้งบลงทุนจำนวนมหาศาล แต่หากแบ่งเส้นทางส่วนต่อขยายบางส่วนให้กทม.ดำเนินการจะสามารถลดงบประมาณได้มาก แต่ปัญหาคือข้อขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลอาจจะเห็นว่าผู้ได้ผลประโยชน์จากการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวคือพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีตัวแทนของพรรคนั่งเก้าอี้ผู้ว่ากทม.อยู่ ซึ่งจะทำให้ได้รับคะแนนเสียงจากโครงการดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตามหากนักการเมืองสนับสนุนให้ กทม.เป็นผู้ดูแลก็จะช่วยลดทั้งงบประมาณก่อสร้าง และเพิ่มความรวดเร็วการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น