xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน งบเวอร์ ร.ฟ.ท.แฉสลัมบุกรุกอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.สั่งตรวจสอบงบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง “บางซื่อ-ตลิ่งชั่น” เพิ่มขึ้นเวอร์เกือบพันล้าน พร้อมปัญหาสลัมบุกรุกในพื้นที่ก่อสร้างกว่า 3 พันหลังคาเรือน อาจทำให้แผนล่าช้า เพราะปัญหารื้อย้ายส่อบานปลาย หลังเกิดกรณีฟ้องร้อง

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยระบุว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวกำลังประสบปัญหาด้านเทคนิคก่อสร้าง เพราะเพิ่งตรวจพบว่า ปริมาณงานที่ต้องทำจริงมีมากกว่าที่ออกแบบไว้

ดังนั้น หากจะให้โครงการเดินหน้าต่อไป ร.ฟ.ท.ต้องหาเงินเพิ่ม คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน จึงสั่งการให้ฝ่ายบริหารไปจัดจ้าง สถาบันการศึกษามาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้เวลา 1 เดือน

ทั้งนี้ ผลการประเมินเบื้องต้นคาดว่าคงเพิ่มเงินอีกไม่ถึง 1,000 ล้านบาท และน่าจะอยู่ในกรอบวงเงิน 13,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ โดยช่วงประกวดราคา ร.ฟ.ท.ตั้งราคากลางไว้ที่ 8,748.40 ล้าบาท และผู้รับงาน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้ายูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ (บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ และบริษัท CHUNWO CONSTRUCTION & ENGINEERING CO.,LTD) เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 1,000 บาท

“สำหรับงานก่อสร้างตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไร ยูนิค-ซุนวู เขายังเดินหน้างานต่อ และเชื่อว่าเขามีศักยภาพ ทำงานได้ตามสั่งทั้งหมด เพียงแต่ว่าเราต้องหาเงินมาเพิ่มเท่านั้น ตอนนี้บอร์ดก็สั่งไปยังฝ่ายบริหารให้รีบตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นมาอย่างไร และหากต้องเพิ่มเงินจริงก็คงอยู่ที่หลักร้อยล้าน และคงไม่เกินกรอบ 13,000 ล้านที่ ครม.เคยอนุมัติไว้”

นอกจากปัญหาเนื้องานมากกว่าแบบก่อสร้างแล้ว ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ยังมีปัญหาเรื่องการรื้อย้ายพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างด้วย เพราะมีสิ่งปลูกสร้างและมีผู้บุกรุกเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ถึง 3,084 หลังคาเรือน จนเกิดกรณีฟ้องร้อง โดยนายสุพจน์กล่าวว่า ล่าสุดกลุ่มยูนิค-ซุนวู เพิ่งดำเนินการรื้อย้ายไปเพียง 10% เท่านั้น แต่ผู้รับงานยังเชื่อว่าจะทำการรื้อย้ายได้เสร็จตามแผนงาน

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตนั้น ล่าสุด ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) และคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดได้ในวันที่29 มิถุนายนนี้ ซึ่งบอร์ดได้กำชับฝ่ายบริหารตรวจสอบให้ดีด้วยว่าปริมาณงานกับแบบก่อ สร้างมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ เพื่อไม่เกิดกรณีเช่น ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันอีก

ทั้งนี้ โครงการลงทุนทำรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-รังสิต ดังกล่าว มีวงเงิน 77,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง เพิ่งลงนามกู้เงินกับ JICA เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ในเงื่อนไขผ่อนปรน ดอกเบี้ย 1.4% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระ 25 ปี แต่ 7 ปีแรกปลอดเงินต้น และงวดแรกได้รับเงิน 23,341 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม หมอชิต-สะพานใหม่, สีเขียวอ่อน แบริ่ง-สมุทรปราการ และส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแค ขณะ นี้มีความพร้อมต่อการเปิดประมูลแล้ว รอเพียงเงินที่จะมาดำเนินโครงการเท่านั้น ซึ่งคาดว่า รฟม.จะได้เปิดประมูลทั้ง 3 สายทางดังกล่าวไม่เกินสิ้นปีนี้

สำหรับสายสีเขียว 2 สายทาง วงเงินลงทุน 64,832 ล้านบาท จะใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศ ส่วนสายสีน้ำเงิน รวม 75,995 ล้านบาท โดยแบ่งดังนี้ ค่าก่อสร้างงานโยธา 48,821 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ 2,174 ล้านบาท และระบบกับตัวรถไฟฟ้า 25,000 ล้านบาท จะกู้จากต่างประเทศ

ขณะนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กำลังพิจารณาหาแหล่งเงินกู้ หลังจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ปฏิเสธที่จะกู้เงินแบบดอกเบี้ยพิเศษสุด (step loan) 0.2% จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (JICA) เพราะมีเงื่อนไขที่ทำให้เสียเปรียบอย่างมาก ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอีก 5,900 ล้านบาท ใช้เงินงบประมาณประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น